Richard Branson เป็นหนึ่งในชาวสกอตเพียงไม่กี่คนที่คนทั่วโลกรู้จัก เพราะเขาคือมหาเศรษฐีดังจากการคิดนอกกรอบ  จากหนังสือพิมพ์นักเรียน รุกสู่ค่ายเพลง จากนั้นก็ขยายไปสู่ธุรกิจนับไม่ถ้วนใต้ชายคา Virgin

 Richard Branson

ตั้งแต่บริษัทรับจัดงานแต่งงานไปจนถึงค่ายโทรคมนาคม และจากสายการบินไปสู่ธุรกิจพาทัวร์อวกาศ

สำหรับบริษัทในธุรกิจหลังสุดใช้ชื่อว่า Virgin Galactic ก่อตั้งเมื่อปี 2004 ขณะที่การทัวร์อวกาศดูจะเป็นได้แค่เรื่องเพ้อฝันในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซ้ำร้ายยามเกิดวิกฤตหุ้น Virgin Galactic ยังต้องถูกนำออกมาขายเพื่อคลี่คลายสถานการณ์

ดังที่มีให้ได้ลุ้นกันหนักแบบหายใจไม่ทั่วท้อง ในการขายหุ้น Virgin Galactic 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 17,000 ล้านบาท) ออกไป เพื่อพยุงสายการบิน Virgin Atlantic ไม่ให้ล้มละลายจากวิกฤตโควิดเมื่อปี 2020 ทั้งที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้นเพิ่งทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไป

แต่ราวกลางปี 2021 ที่โควิดซาลงไปบางส่วน Virgin Galactic ก็ปลุกโลกใต้ภาวะล็อกดาวน์ให้คึกคัก ด้วยเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ประเดิมทัวร์อวกาศ ตัดหน้าทั้ง SpaceX และ Blue Origin

ประเด็นน่าสนใจที่แตกออกมาคือ Richard Branson ซึ่งเป็นลูกทัวร์อวกาศด้วย คว้าชัยชนะในธุรกิจทัวร์อวกาศ เหนือ Elon Musk และ Jeff Bezos มหาเศรษฐีเบอร์ต้น ๆ ของโลกอีก 2 คน ที่เป็นเจ้าของ SpaceX และ Blue Origin

หลังประเดิมทริปแรกได้ก่อนและสองบริษัทคู่แข่งไล่ตามมา บริษัทในธุรกิจด้านอวกาศใต้ชายตา Virgin ก็เนื้อหอม ซึ่งแน่นอนว่า Richard Branson ก็รู้ดี เขาจึงสั่งให้ Virgin Orbit ที่แตกออกมาจาก Virgin Galactic เร่งเครื่องเพื่อประเดิมเที่ยวบินแรกในการพาดาวเทียมสู่วงโคจร

ถัดจากเที่ยวบินแรกของ Virgin Galactic ไม่นานเที่ยวบินแรกของ Virgin Orbit ก็สามารถเทคออฟได้สำเร็จ  ณ ขณะนั้น Richard Branson คือหนึ่งในคนที่มีความสุขในโลก

เพราะเขาพา Virgin ก้าวมาไกลมากจากจุดเริ่มต้น และทำทัวร์อวกาศ เรื่องที่เขาเคยกล่าวไว้เมื่อตอบคำถามเด็กที่โทรเข้ามาในรายการโทรทัศน์ ในปี 1988 ได้สำเร็จเสียที 

อย่างไรก็ตาม Virgin Orbit เริ่มปี 2023 ได้ไม่สวยนัก ไม่ต่างจากเครื่องบินที่ตกหลุมอากาศ เพราะเที่ยวบินในการพาดาวเทียมขนาดเล็ก 9 ดวงจากศูนย์อวกาศในอังกฤษ ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ด้วยการปล่อยจรวดใต้ปีกเครื่องบินพาดาวเทียมสู่วงโคจรกลับล้มเหลว ต้องยกเลิกกลางคัน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Virgin Orbit ต้องตรวจสอบความผิดพลาดและจุดบกพร่องต่าง ๆ จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของบริษัทอย่างมาก และเที่ยวบินต่อ ๆ มาถูกระงับเอาไว้

ส่วนเที่ยวบินของลูกค้ารายอื่น ๆ ที่เคยให้ความสนใจหรือติดต่อเข้ามาก็ถูกสั่งเบรกเช่นกัน จนเริ่มมีความกังวลว่าบริษัทขนส่งอวกาศอายุ 6 ปีแห่งนี้จะฝ่าวิกฤตไปอย่างไร ในช่วงที่บริษัทไม่ว่าในกิจการไหนต่างต้องเผชิญวิกฤตและต้องรัดเข็มขัดใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

ท่ามกลางการปลดพนักงานล็อตใหญ่ของบริษัทกลุ่มยักษ์เทคในสหรัฐฯ เช่น Amazon Meta และ Twitter

สถานการณ์ของ Virgin Orbit ดูจะน่ากังวลยิ่งขึ้น โดยมีรายงานว่ากำลังประสบวิกฤตสภาพคล่องต้องระดมทุนครั้งใหญ่

ที่สุด 30 มีนาคมที่ผ่านมา Virgin Orbit ก็ประกาศว่าการเจรจาระดมทุนล้มเหลว ทำให้เข้าสู่ช่วงรัดเข็มขัดอย่างแรง และภายใน 3 เมษายนนี้ต้องปลดพนักงาน 675 คน คิดเป็น 85% ของทั้งบริษัท และราคาหุ้นร่วงอย่างหนัก ลงมาเหลือเพียง 34 เซ็นต์ ลดลง 82% จากช่วงเปิดปี 2023 มา 

ตามข้อมูลที่ Virgin Orbit เผยว่าต้องใช้เงินในการช่วยเหลือพนักงานหลายร้อยคนที่ถูกปลดตามกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ มากถึง 15 ล้านดอลลาร์ (ราว 511 ล้านบาท)

สถานการณ์ของ Virgin Orbit แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและมีความซับซ้อน การตรวจสอบก็ยิ่งสำคัญ เพราะถ้าพลาดจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างมาก

ซ้ำร้ายยิ่งมาเกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้าย จนนำมาสู่การตัดใจที่ลำบากสุดในชีวิตของ Dan Hart ซีอีโอ Virgin

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้ แน่นอนว่าคือการกู้สถานการณ์ของ Virgin Orbit โดยผู้ที่ถูกจับตามองมากสุดคือ Richard Branson มหาเศรษฐีชาวสกอตว่าจะช่วยให้ Virgin Orbit ฟื้นจากอาการโคม่าได้หรือไม่

หรือจำใจต้องปล่อยให้ล้มไปเหมือน Virgin Australia/cnn, wikipedia ,cnbc

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน