สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 51 ตลอด 11 วันจัดงาน ยอดขาย 350 ล้านบาท ฟื้นเท่าก่อนโควิด คนเข้างานรวม 1.1 ล้านคน เปิดยาวยันเที่ยงคืนใน 3 วันแรก ตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศ ฐานแฟนการ์ตูน-ซีรีส์วาย ส่ง การ์ตูน/วรรณกรรม-นิยาย-นิยายวาย หมวดหนังสือแชร์ยอดขายเยอะสุด ถึง 44%
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เผยตัวเลขภาพรวม งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ที่ได้กลับมาจัดยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG อีกครั้ง นับตั้งแต่ ปี 2562
สัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 51
ยอดขาย 350 ลบ. การ์ตูน/วรรณกรรม-นิยาย-นิยายวาย แชร์ 44% |
||
ยอดขายตลอด 11 วัน (30 มี.ค – 9 เม.ย.2566) | 350 ล้านบาท | ฐานหนังสือ 8,000 ปกใหม่ 905 บูธ 333 สำนักพิมพ์ |
ผู้เข้าร่วมงาน
|
1,148,674 คน | เฉลี่ยต่อวัน 104,425 คน |
เฉพาะ 3 วันแรก ที่เปิดถึง 24:00 น. ใน 30 มี.ค. (เปิด 17:00 น.) – 1 เม.ย.2566 |
369,489 คน |
|
2 หมวดหนังสือขายดีสุด | การ์ตูน-วัยรุ่น/วรรณกรรม-นิยาย-นิยายวาย | 44% ของยอดขายหนังสือทั้งหมดในงาน |
ที่มา: PUBAT/เผยแพร่ เมษายน 2566 |
พบว่าแม้ยอดขายจะไปไม่ถึงเป้าที่ PUBAT ตั้งไว้ที่ 400 ล้านบาท (อ่าน: PUBAT ตั้งเป้ายอดขายงานสัปดาห์หนังสือฯ 400 ลบ.) โดยอยู่ที่ 350 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 11 วัน (30 มี.ค – 9 เม.ย.2566) ของการจัดงาน
แต่ก็เป็นยอดที่กลับมาใกล้เคียงกับงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 47 ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่จัด ณ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ และก่อนเกิดโควิด-19 โดยปีดังกล่าวมียอดขายอยู่ที่ 352 ล้านบาท
สะท้อนว่าวงการหนังสือในไทย กลับมาฟื้นตัวเต็มสูบอีกครั้ง และผลตอบรับของการเปิดงานถึงเที่ยงคืนใน 3 วันแรก หรือ 30 มี.ค. (เปิด 17:00 น.) – 1 เม.ย. 2566 ก็ตอบโจทย์กลุ่มพนักงานออฟฟิศ และคนทำงานประจำ ซึ่งสามารถเข้าร่วมได้หลังเลิกงาน
ขณะที่เทรนด์ผู้บริโภคในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 51 พบว่า หนังสือการ์ตูน-วัยรุ่น และวรรณกรรม-นิยาย-นิยายวาย กลายเป็น 2 หมวด ที่ครองส่วนแบ่งยอดขายหนังสือทั้งหมดในงานไปถึง 44%
เหตุจากเหล่าแฟนคลับของการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาต่อแถวรอซื้อหนังสือการ์ตูนในงานกันหนาแน่น
เช่นเดียวกับหมวดหนังสือวรรณกรรม-นิยาย-นิยายวาย ที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้หลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยเรียน, ทำงาน และผู้สูงวัย โดยเฉพาะนิยายวาย หลังถูกนำมาผลิตเป็นซีรีส์ขึ้นจอแก้วหลายต่อหลายเรื่อง
ทั้งสรุปภาพรวม แสดงให้เห็นว่าการอ่านหนังสือแบบรูปเล่มยังคงได้รับความนิยมจากผู้อ่าน แม้ว่าเทรนด์ของสื่อกลุ่ม E-Book จะเติบโตมากขึ้นก็ตาม
ส่วนอีเวนต์ใหญ่ของงานหนังสือครั้งต่อไป อย่างงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 ในเดือนตุลาคม 2566 ทาง PUBAT ยืนยันว่าจะได้จัดที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ต่อเนื่องจากปีที่แล้วแน่นอน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



