31 ล้านล้านดอลลาร์ คือตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกาในตอนนี้ ที่ดูยังไงก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะใช้หนี้หมด
เพดานหนี้คือจำนวนเงินที่สภาคองเกรสอนุญาตให้รัฐบาลอเมริกากู้ยืมเพื่อให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การจัดหาประกันสุขภาพ ไปจนถึงการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งตัวเลขเพดานหนี้รวมในปัจจุบันอยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 117% ของจีดีพี)
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา นาง Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า รัฐบาลกำลังจะใช้เงินสดสำรองและกลไกงบประมาณจนหมดภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้เท่านั้น
ณ จุดนี้ แย่ที่สุดคืออเมริกาจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่ก็ต้องตัดงบประมาณของภาครัฐลง ซึ่งผลลัพธ์ของทั้งสองทางอาจจะทำลายล้างเศรษฐกิจโลกได้เลย โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้ที่จะเป็นการบั่นทอนศรัทธาต่อประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นกลจักรสำคัญต่อระบบการเงินของโลก
และถ้าผลลัพธ์ออกมาเป็นการตัดงบประมาณจำนวนมาก อาจทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเกิดภาวะถดถอยที่ร้ายแรงกว่าที่นักการเงินประเมินกันไว้เลยก็เป็นได้ แม้ว่าสภาคองเกรสจะสามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ก่อนที่เรื่องร้ายแรงทั้ง 2 จะเกิดขึ้นก็ตาม แต่การที่เรามักได้ยินข่าวคราวทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ และสุดท้ายลงเอยที่สภาคองเกรสขยายเพดานหนี้ให้ แต่มันก็เป็นการเตือนถึงความย่ำแย่ของสถานะทางการคลังของอเมริกาและความยากลำบากในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาเช่นกัน
เพดานหนี้อเมริกา
เพดานหนี้ เป็นเรื่องทางการเมืองล้วน ๆ ปราศจากความหมายพื้นฐานทางเศรษฐกิจใด ๆ ไม่มีประเทศอื่นใดในโลกที่ทำเหมือนอเมริกาได้โจ่งแจ้งและดูแย่ในสายตาของคนที่รู้เรื่องทางเศรษฐศาสตร์เท่านี้อีกแล้ว นั่นหมายความว่า ถ้าจะแก้เรื่องเพดานหนี้ของอเมริกาก็ต้องแก้ที่การเมือง
ซึ่งดูแล้วก็เป็นการยากที่จะแก้ได้เมื่อพิจารณาปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองพรรคการเมืองในปัจจุบัน นักลงทุนเองก็เริ่มไม่สบายใจท่ามกลางความไม่แน่นอนว่าพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังที่จะครบกำหนดในต้นเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นอีก 1% (ตอนนี้เท่ากับ 5%) หลังจากคำเตือนของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกมาเตือนเรื่องเงินสำรอง ทำให้ในตอนนี้ไม่มีใครอยากเสี่ยงถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะกลัวรัฐบาลอาจผิดนัดชำระหนี้
ร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่เสนอโดยนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน จะผลักดันเพดานหนี้ขยายได้ไปจนถึงปี 2024 ในขณะเดียวกันก็ไปลดค่าใช้จ่ายจำเป็นอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ในอีกสิบปีข้างหน้า รวมไปถึงการพับแผนการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล่าสุดร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาที่มีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา
กลอุบายของพรรคเดโมแครตในสภาอาจทำให้เพดานหนี้เพิ่มขึ้นได้ แต่จะต้องมี ส.ส. จากพรรครีพับลิกัน 5 คนเพื่อแบ่งตำแหน่งกับนายแมคคาร์ธีและอยู่เคียงข้างกับพรรคเดโมแครตซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยทำเพื่อเข้าสู่กระบวนการในการโหวต
อย่างไรก็ดี การเดิมพันก็คือนักการเมืองของอเมริกาจะหาทางผ่าทางตันอย่างที่เคยทำในอดีต ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เชิญผู้นำจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการประชุมในทำเนียบขาวในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งการเจรจามีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นายไบเดนหวังว่าจะหลีกเลี่ยง โดยเลือกใช้ร่างกฎหมายที่ “ขาวสะอาด” เพื่อเพิ่มเพดานหนี้
และถ้าหากสภาอนุมัติให้รัฐบาลของไบเดนก่อหนี้ได้เพิ่มเมื่อไหร่ ทุกอย่างจะกลับไปเป็นภาพเดิม อเมริกาก็จะก่อหนี้ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด และก็จะพิมพ์เงินออกมาได้ไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม นั่นจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะสถานะทางการเงินของอเมริกาตอนนี้อยู่บนพื้นฐานที่มีความสุ่มเสี่ยงมาก และพูดได้ว่าความเปราะบางไม่ได้อยู่ที่ระดับหนี้ของอเมริกา แต่เป็นการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การขาดดุลของรัฐบาลอเมริกามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.5% ของจีดีพี ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ระดับการขาดดุลดังกล่าวอาจดูเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับอัตราการขาดดุลในปัจจุบัน
โดยในการอัปเดตล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 สำนักงบประมาณรัฐสภา หรือ Congressional Budget Office (CBO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง คาดการณ์ว่าการขาดดุลของอเมริกาจะเพิ่มขึ้นจนไปแตะระดับอยู่ที่เฉลี่ย 6.1% ในอีก 10 ปี
ตัวเลขนี้อาจเป็นการประเมินที่ต่ำไปเสียด้วยซ้ำ เพราะ CBO คิดตัวเลขการขาดดุลโดยยังไม่รวมภาวะถดถอยในการคาดการณ์ แม้จะไม่มีขนาดการใช้จ่ายเยอะมากเท่ากับในช่วงที่เกิดโควิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็นำไปสู่การขาดดุลที่สูงขึ้นเนื่องจากรายได้ทางภาษีที่ลดลงและยังต้องจ่ายสวัสดิการความช่วยเหลือประชาชนอย่างเช่น การประกันการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์หลายคน CBO ก็เจอปัญหาในการประเมินรายจ่ายที่ต้องใช้กับนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ของรัฐบาลของนาย โจ ไบเดน ในตอนแรกพวกเขาคิดว่าการใช้จ่ายเพื่ออุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และอื่น ๆ จะต้องมีการก่อหนี้ประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ในอีกสิบปีข้างหน้า แต่เนื่องจากเงินอุดหนุนจำนวนมากมาในรูปเครดิตภาษี (ยกเว้นการเก็บภาษี) ที่ไม่ได้จำกัดจำนวน ทำให้ Goldman Sachs ประเมินว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจก่อหนี้ตีเป็นเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์
ยิ่งไปกว่านั้นการคาดการณ์ต่อสถานะทางการเงินของประเทศสหรัฐฯ ของ CBO นำเสนอบนการคาดการณ์ตามกฎหมายฉบับปัจจุบันเท่านั้น ในขณะที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไป กฎหมายก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก็มีแนวโน้มที่การขาดดุลจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกในอนาคต
ในปี 2017 อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยผ่านมาตรการลดภาษีหลายฉบับที่จะหมดอายุในปี 2025 ในการจัดทำประมาณการ CBO จึงจำเป็นต้องถือเอากฎหมายเหล่านี้เข้ามาคำนวณด้วยเพราะถือว่าภาษีเหล่านั้นจะหมดอายุตามกำหนด ในความเป็นจริงคงมีนักการเมืองเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ต้องการขึ้นภาษี (เพราะจะทำให้คะแนนความนิยมตกต่ำ) ในขณะที่นายไบเดนยังคงพยายามที่จะใช้แผนการปลดหนี้ กยศ. ให้กับนักเรียนซึ่งจะเพิ่มการขาดดุลมากขึ้นไปอีก
เมื่อพิจารณาตัวแปรเหล่านี้เพียงบางส่วนจะพบว่าการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในนโยบายอุตสาหกรรมบวกกับการลดภาษีอย่างต่อเนื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้การขาดดุลเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ในอีก 10 ปีข้างหน้า และแตะเกือบ 8% ในช่วงต้นทศวรรษ 2030 เป็นต้นไป
ปีแล้วปีเล่าที่การกู้ยืมมากมายนำไปสู่หนี้อันมหาศาลของอเมริกา ตามแนวโน้มที่ CBO คาดการณ์ไว้ บอกว่า หนี้ของรัฐบาลอเมริกาจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็นเกือบ 250% ของจีดีพีภายในช่วง ค.ศ. 2050 และอาจได้เห็นหนี้สาธารณะของอเมริกาข้ามเส้น 100 ล้านล้านดอลลาร์ก็เป็นได้
เหตุผลหลักที่ CBO เพิ่งปรับประมาณการการขาดดุลสำหรับปี 2020 คือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นสำหรับรัฐบาล เมื่อต้นปี 2022 มีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังระยะเวลา 3 เดือนจะอยู่ที่เฉลี่ย 2% และในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าตัวเลขจะไปอยู่ที่ 3.3% ในขณะที่ CBO คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยมีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านการทหาร แต่ในอนาคตคาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะสูงถึง 3 เท่าภายในปี 2033
อัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้ในอนาคต แต่สำหรับอเมริกาที่กำลังเผชิญกับดอกเบี้ยในระดับสูง การขาดดุลจำนวนมากสามารถนำพาประเทศไปสู่หายนะได้ รัฐบาลจำเป็นต้องดึงดูดส่วนแบ่งเงินออมจากภาคเอกชนให้มากขึ้น ทำให้เงินทุนน้อยลงสำหรับการใช้จ่ายขององค์กร และลดความสามารถในการลงทุนและการเติบโตของบริษัท
ในขณะเดียวกัน ความต้องการของรัฐบาลในการดูดเงินออมจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็อาจสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยบีบตัวสูงขึ้นกว่านี้ เรื่องนี้ฝ่ายที่ดูแลนโยบายด้านการคลังของสหรัฐฯ ต้องเล่นเกมนี้ให้ดีเพราะความเสี่ยงที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจตัดสินใจโยกย้ายเงินไปที่อื่นได้เลย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังของอเมริกา และทางกลับกันจะจำกัดความสามารถของรัฐในการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อต้องเผชิญกับการชะลอตัวของวัฏจักรทางเศรษฐกิจ
แล้วอเมริกาจะหนีวังวนปัญหานี้ได้อย่างไร
เป็นเรื่องง่ายที่จะคาดการณ์ว่าการขาดดุลจะเพิ่มขึ้นเมื่อค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลอเมริกาคือค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อย่าง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ซึ่งถูกกำหนดโดยกฎหมาย และไม่อยู่ภายใต้กระบวนการตั้งงบประมาณประจำปี อีกทั้งค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุประชากร ค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับการสนับสนุนรายได้สำหรับผู้สูงอายุจะมากเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม การป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์ และการขนส่งภายในปี 2033
รัฐบาลคาดการณ์ว่าเงินในกองทรัสต์ซึ่งถูกใช้ไปกับโครงการประกันสังคมและสุขภาพจะหมดลงภายในช่วงปี 2030 ในช่วงเวลานั้นอเมริกาจะต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการลดผลประโยชน์และการขึ้นภาษี
การคำนวณที่คล้ายกันนี้จะนำไปใช้กับด้านอื่น ๆ ทั้งหมดของงบประมาณของรัฐบาลกลาง: การรวมกันของการลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้เป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้การขาดดุลของอเมริกาเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การเปิดประตูที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้จึงเป็นความคิดที่น่ากลัว ภัยคุกคามเพียงอย่างเดียวของการทำเช่นนั้นยังเสี่ยงที่จะบั่นทอนการเงินของรัฐบาลด้วยการทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นและทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง อเมริกาต้องทำให้ฝ่ายการเมืองสมานฉันท์กันให้ได้เพื่อให้งบประมาณมีฐานะที่มั่นคง แต่น่าเสียดายที่บรรดาผู้นำไม่จริงจังที่จะทำเช่นนั้นเลย
อ้างอิง
https://www.economist.com/finance-and-economics/2023/05/03/america-faces-a-debt-nightmare
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



