ถ้าคนจีนมีประเพณีกินขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อความสุข สมหวัง คนญี่ปุ่นก็มีการกินไดฟูกุ ในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ เช่นกัน
เพราะชื่อของไดฟูกุ แปลว่า “โชคดี”
ไดฟูกุ ขนมที่เเปลว่า “โชคดี” กับชีวิตของ สุทธินี สีตะประดิษฐ์ ผู้หญิงที่มีชีวิตโชคดีเหมือนชื่อขนมของเธอ
หญิงสาวที่โตมาในบ้านที่ทำธุรกิจ เริ่มจากรุ่นพ่อที่ส่งแป้งขายให้ประเทศญี่ปุ่นนำไปทำขนมญี่ปุ่น สู่รุ่นของเธอที่ทำขนมญี่ปุ่นขายเอง สร้างแบรนด์เเละส่งออกไปทั่วโลก
สุทธินี สีตะประดิษฐ (บีม) กรรมการบริษัท ซันฟลาว โทกาจิ ฟู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ริเริ่มธุรกิจผลิตขนมไดฟูกุภายใต้เเบรนด์ “tokachi” ที่มีสินค้าเรือธงเป็นขนมไดฟูกุ ที่ชาวโซเชียลตามหาซื้อหารับประทานจนกลายเป็นไวรัลวันต่อวัน
คุณบีมโตมาในครอบครัวธุรกิจ คุณพ่อของเธอคือผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออกแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า ให้กับญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทำขนมญี่ปุ่นชื่อดังหลายอย่าง เเม้กระทั่งไอศกรีมดัง Häagen-Dazs ก็เคยใช้เเป้งจากโรงงานของคุณพ่อของเธอไปทำด้วยเช่นกัน
แต่เมื่อมาอยู่ในมือของทายาทรุ่นที่หนึ่ง บริษัทเปลี่ยนมาสู่ ซันฟลาว โทกาจิ ฟู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้สี่ปี มาเป็นผู้ผลิตขนมญี่ปุ่นเอง ส่งขายเซเว่น และส่งออกไปทั่วโลก
แต่ใครก็คงคาดไม่ถึงว่า เบื้องหลังสตอรี่ที่น่าสนใจนี้จะเริ่มมาจากหญิงสาวที่เรียนจบด้านผลิตภาพยนตร์
คุณบีม: ไปเรียนสหรัฐอเมริกาตั้งเเต่อายุ 14 ปี เรียนด้านนิเทศศาสตร์ แม้ที่บ้านจะทำธุรกิจ เเต่ก็ปล่อยให้ลูกสาวไปเรียนผลิตภาพยนตร์ตามที่ชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานในปัจจุบันเลย ครอบครัวเปิดโอกาสให้ทำสิ่งที่รัก เลยได้ลองไปเรียนในคณะที่เราชอบในเวลานั้น เเต่ตอนที่เรียนจบมา ก็ตรงมาทำขนมเลย (พูดจบเธอก็หัวเราะ)
“โชคดีที่เราวนเวียนอยู่กับธุรกิจที่บ้านตั้งเเต่เด็ก เดินตามคุณพ่อไปทำงาน แล้วอาศัยครูพักลักจำบ้าง พอเรียนจบเข้ามาทำงานช่วยที่บ้าน เเต่เราไม่เคยทำเต็มตัว จู่ ๆ ก็จับเรามานั่งขายของ จับให้ไปหาลูกค้า อยู่ตำแหน่งเซลส์เลย เเต่ปีแรกที่บีมขายก็ขายไปดูไบ การ์ตาได้เลย”
จากนั้นก็ย้ายไปดูส่วนโรงงาน แผนก R&D ไลน์ผลิต
สมัยที่เป็นโรงงานคุณพ่อ ตั้งอยู่นครปฐม ทำแป้งข้าวเจ้า เเป้งข้าวเหนียว เเป้งมัน คุณพ่อมีความเชี่ยวชาญเรื่องเเป้งมาก จนญี่ปุ่นเชื่อมือ และทำงานร่วมกันมานับยี่สิบปี
โชคดีชั้นที่หนึ่ง
คุณบีมเล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญว่า “โชคดีที่เราได้ไป training กับบริษัทพาร์ตเนอร์ที่ญี่ปุ่น เลยเจอกับบริษัททำขนมญี่ปุ่น เเละเเพลนจะมาเปิดลงทุนในเมืองไทยพอดี เพื่อขยายตลาดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากเครดิตของคุณพ่อที่ทำไว้ดี ทำให้ได้จับมือร่วมลงทุนกับ โทกาจิ ไดฟูกุฮอนโป ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทเเม่ผู้เชี่ยวชาญในการทำขนมเเละเป็นเบอร์ต้น ๆ ในตลาดขนมญี่ปุ่น ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ซันฟลาว โทกาจิ ฟู๊ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขึ้นมา เพื่อเป็นฐานการผลิตส่งออกขายในอาเซียนด้วย
เนื่องจากบริษัทเเม่มองว่าตลาดขนมหวานในเเถบภูมิภาคนี้ ยังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก อีกทั้งบริษัทไทยก็เป็นแหล่งวัตถุดิบอยู่เเล้ว
“เราส่งออกแป้งไปให้ญี่ปุ่น ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ญี่ปุ่นเอาไปทำ ทำไมเราไม่ทำเองในประเทศบ้าง วัตถุดิบทุกอย่างก็อยู่ในมือ เพราะของญี่ปุ่นต้นทุนวัตถุดิบเขาสูงมาก เลยขายราคาแพง เเต่เราสามารถทำสินค้าในแบบที่ถูกลงได้เเต่ไม่สูญเสียความเป็นญี่ปุ่น” เธอเล่าพร้อมกับยื่นสินค้าให้ดู
“เรามี นิฮอนโปเป็นบริษัทเเม่ พอได้รับโนว์ฮาวจากญี่ปุ่น ก็เอามาปรับให้เข้ากับไทย เพราะคนไทยมีรสนิยมต่างจากคนญี่ปุ่น สินค้าจึงถูกจริตผู้บริโภคไทยมาก รวมถึงได้เซเว่นซึ่งเป็นคู่ค้าคอยช่วยเหลือทำให้เเบรนด์เติบโตได้ไว”
โชคดีชั้นที่สอง
คุณบีม: เราเป็นคู่ค้าที่ดีกับเซเว่นมาโดยตลอดอยู่เเล้ว ก่อนจะมามีตัวไดฟูกุด้วยซ้ำ บริษัทเคยทำโมจิส่งขายในเซเว่นก่อนเเล้ว สมัยที่ยังทำกับบริษัทเดิม แบรนด์ตัวเก่ามีชื่อว่า ‘ซันไดฟูกุ’ พอเรามาจับมือกับโทกาจิ ไดฟูกุ ฮอนโป ก็เลยรีเเบรนด์ใหม่ ออกผลิตภัณฑ์อาศัยการต่อยอดมาจากสินค้าเดิม กลายมาเป็นเเบรนด์ tokachi
ด้วยความชำนาญในเรื่องเเป้ง ประกอบกับได้โนว์ฮาวจากบริษัทญี่ปุ่น ทำให้ขนมไดฟูกุออกมาในรูปแบบฟิวชั่น รสสัมผัสให้ความรู้สึกญี่ปุ่น เเต่รสชาติถูกปากคนไทย
พอนำไปเสนอทางเซเว่น ประมาณครึ่งปี ช่วงเดือนตุลาคมก่อนโควิด โชคดีที่เซเว่นตอบรับ เเละได้วางขายบนชั้น 2 รสชาติ ได้แก่ มัทฉะไส้ถั่วแดงและไส้สตรอว์เบอร์รี
คุณบีมอธิบายให้ฟังต่อว่า “โมจิ คือ สินค้าจากบริษัทตัวแรกที่ได้เข้าไปในเซเว่น แต่ตอนนั้นบีมยังไม่กลับจากอเมริกา ขณะนั้นโมจิก็ขายเเค่ในคัดสรร ประมาณ 400 สาขา พอบีมกลับมาอีกที ตัวขนมได้อยู่ในเซเว่นเเล้ว เเล้วก็ขายอยู่ประมาณ 6 รสชาติ แต่เป็นคนละเวอร์ชันกับที่ขายอยู่ตอนนี้ เพราะเวอร์ชันปัจจุบันต่อยอดมาจากตัวเดิม แต่ใช้โนว์ฮาวจากญี่ปุ่นมาเสริม จึงมีความเป็นญี่ปุ่นแท้มากกว่า”
โชคดีชั้นที่สาม
หลังลอนช์รสชาติ มัทฉะถั่วเเดงกับสตรอว์เบอร์รี ทดลองขายในภาคกลางประมาณ 5,000 สาขาก่อน ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด จึงได้ขยายส่งขายทั่วประเทศเพิ่มเป็น 12,000 สาขา
จากนั้นจึงได้ออกรสชาติใหม่อย่างต่อเนื่อง เเต่ที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ คือ ไส้ทุเรียน ที่ดังเปรี้ยงมาพร้อมฤดูกาลทุเรียน เเละกระเเสเเคมเปญ ‘เซเว่น x Jackson Wang’
หลังลอนช์รสชาติทุเรียนออกไป ประจวบเหมาะกับช่วงที่เซเว่นมีเเคมเปญแจ็คสันเเนะนำเมนูเด็ดในร้านพอดี ไดฟูกุจึงติดเข้าไปเป็นสินค้าที่ recommend โดยเเจ็คสัน เนื่องจากเป็นผลไม้ที่เขาชื่นชอบ ทำให้เป็นที่พูดถึง เกิดกระเเสตามหาสินค้าไปในวงกว้าง ทำให้ไดฟูกุ tokachi เกลี้ยงเชลฟ์ทุกวัน
ปัจจุบัน ไดฟูกุสร้างยอดขายเป็นชิ้นต่อวันสูงเกือบหกหลัก สินค้าฮีโร่ประจำซีซั่นคือ รสทุเรียน ตามด้วยเคียวโฮ (ก่อนจะมามีทุเรียน ช็อกโกแลตคือตัวชูโรง)
โดยที่มีสินค้าทั้งหมด7 รสชาติ ประกอบด้วย ทุเรียน องุ่นเคียวโฮ สตรอว์เบอร์รี มัทฉะถั่วเเดง ช็อกโกแลต แรร์ชีส แยมสตรอว์เบอร์รีครีมสด เเละดังโงะ นอกจากนี้ สินค้ายังมีไลน์เบเกอรี่ร่วมด้วย เช่น เค้ก ชีสเค้ก ครัมเบิล มีผลิตส่งขาย เช่น ชูครีม ส่งขายสิงคโปร์ เเละชีสเค้ก ส่งขายไปเกาหลี
ช่องทางการตลาดหลักจะอยู่ในโซเชียลมีเดีย เเละเเบรนด์มักจะได้ engagement จากกระเเสไวรัลของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เเต่ถึงอย่างนั้นไดฟูกุก็เป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัย
ทั้งนี้ บริษัทส่งสินค้าขายให้เซเว่นประมาณ 40% เเต่หลัก ๆ คือ การส่งออก ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี เเละล่าสุดคือประเทศจีน ที่ซันฟลาวต้องไปตั้งโรงงานที่จีน รวมถึงฟากฝั่งของยุโรป ฝรั่งเศส ที่อยู่ในกระบวนการพูดคุย ถือเป็นก้าวเติบโตที่สำคัญต่อไปของบริษัท
โชคดีที่บริษัทเติบโตเร็ว เป้าหมายในอนาคตเป็นไปได้ไม่ยาก
คุณบีม: ปีแรกบริษัทอยู่ในช่วง test run เครื่องจักร ตัวเลขรายได้จึงยังไม่ค่อยสวย เเต่เราเริ่มมา pick up ตัวเองตอนช่วงโควิดที่ได้เข้าเซเว่น เพราะพอเจอโควิด คนเข้าร้านสะดวกซื้อเยอะ ขนมก็พลอยขายดี ดึงยอดขายขึ้นมา
เเละปี 2564-2565 เราเติบโตแบบก้าวกระโดด 5,000% ทำให้ได้รางวัล SME ดาวรุ่งจากเซเว่นมาครองด้วย
“Key success ของเรา มันคือหุ้นส่วนที่ดี ที่ให้โอกาสมากมายแก่เรา กับขนมที่ได้คุณภาพ เเละองค์กรที่เเข็งแกร่ง ทุกคนคือคนสำคัญที่ขับเคลื่อนความสำเร็จ”
เป้าหมายต่อไปของขนมโชคดี ที่โชคดีมาตลอด
คุณบีม: ด้วยความที่เราไม่ใช่ขนมธรรมดา เเต่เป็น Frozen Food จึงอยากสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาหารเเช่เเข็ง เพราะหลายคนมีความเข้าใจว่าอาหารเเช่เเข็งเป็นสิ่งไม่ดี เเต่จริง ๆ ดีกว่าในเรื่องของการปกป้องเชื้อโรค เราอยากจะเติบโตไปเป็นเจ้าเเห่ง The best Frozen Food
รวมถึงอีกหนึ่งเป้าหมาย คือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นความฝันของคุณพ่อ ดูจากตัวเลขถ้าอยู่ในระดับดีเช่นนี้ไปตลอดอาจอยู่ในระยะ 3-5 ปีนี้
บทเรียนอะไรที่ได้จากการทำธุรกิจ
คำถามนี้คุณบีมหยุดคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า “สำหรับบีม เราเริ่มต้นทำอะไรตามแพชชั่น ตามด้วยต้องมีความมั่นใจ เเละพยายาม ถ้าเราครบทุกข้อนี้ ไม่ว่าไปที่ไหน มันก็จะมีวันของเรา อย่าไปท้อ หรือหยุดกลางคัน เพราะวันนั้นมันกำลังเดินทางมาหาเรา สิ่งที่บีมเรียนรู้มาหลังลุยบริษัทเอง คือ ความอดทน เเละเรียนรู้จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น”
และถ้าถามถึง Role Model คำตอบก็คงไม่ใช่ใครอื่น หากเเต่เป็นคุณพ่อคุณเเม่ที่หล่อหลอมตัวตนให้เธอกลายเป็นคนที่มีความอดทน เเละความพยายามเป็นเลิศ
“เราเดินตามคุณพ่อไปทำงานตั้งเเต่เรียนจบ เเต่คุณพ่อจะไม่ใช่เเนวสอน เขาจะทำให้ดู เรามีหน้าที่จำไปทำตาม เเต่ก็ไม่ได้ตีกรอบว่า ต้องทำตามเขาทุกอย่าง เปิดช่องว่างให้เราได้เป็นตัวเราเสมอ
ส่วนคุณเเม่ จะพูดกับเราตลอดว่า ต้องอดทน เพราะคุณเเม่ก็เป็นผู้หญิงที่เคยเป็นซับรับเหมา ปกครองคนงานทั้งหมด ทำงานให้กับญี่ปุ่น เป็นหญิงเเกร่งในความทรงจำลูกเหมือนกัน บีมเลยซึมซับคุณเเม่มาในเรื่องของความพยายาม ความอดทน”
ในคำว่า “โชคดี” ที่ทุกอย่างดูเหมือนง่ายนั้น เพียงเเค่การสวิตช์จากโรงงานขาย Raw Materials มาบริหารโรงงานขาย Finish Good ซึ่งยากกว่ามาก ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเเล้ว เเต่ผู้หญิงคนนี้สามารถทำผลงานออกมาได้อย่างดี
เเละเป็นผู้นำหญิงท่ามกลางบอร์ดบริหารผู้ชาย ทำให้ต้องพัฒนาตัวเอง ทำมากกว่า พยายามให้มากกว่าคนอื่น เพื่อสร้างการยอมรับ เพราะโดยปกติคนญี่ปุ่นชอบทำงานกับผู้ชาย จึงต้องพิสูจน์ตัวเองว่าองค์กรก็สามารถขับเคลื่อนด้วยผู้หญิงได้
“ช่วงอยู่ต่างประเทศ บีมก็เอาขนมไปทดลองขายด้วย เจอเพื่อนก็ถามว่ามีช่องทางการขายอะไรน่าสนใจบ้าง เราก็เก็บข้อมูลมา ทำทุกวิถีทาง เข้าไปในเว็บไซต์อาลีบาบา กดส่งอีเมลเจ็ดสิบแปดสิบฉบับ เเล้วได้ลูกค้ามาคนหนึ่งด้วย ดีใจมาก เเละภายในหนึ่งเดือนเขาบินมาเซ็นสัญญาเลย
ผลออกมาดีเพราะเป็นความโชคดีทางหนึ่ง เเล้วก็ขยันส่งอีเมลล่ะมั้งคะ” เธอหัวเราะชอบใจกับคำตอบของตัวเอง ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ในวันนั้นไว้อย่างสดใส
น้อยครั้งในชีวิตของคนเราที่ช่วงจังหวะโชคดีจะเป็นเพราะโชคจริง ๆ
ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้เพียงเพราะความ “โชคดี”
ความอดทน ไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอต่างหาก ที่ทำให้ “ซันฟลาว โทกาจิ” โดยผู้บริหารหญิงคนนี้ เติบโตเเบบก้าวกระโดด และกลายเป็นบริษัทส่งออกขนมจากไทยไปทั่วโลก ที่น่าจับตามองที่สุดในขณะนี้
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ