ความเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ 3 ประการที่ทำให้โลกการทำงานยุคนี้ต่างจากอดีตอย่างมาก คือ การพึ่งเทคโนโลยีในระดับที่แทบจะขาดไม่ได้ ซึ่งกระตุ้นให้ชาวออฟฟิศต้องใช้มันได้อย่างคล่องแคล่ว

ลักษณะการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid work space) ที่เข้าออฟฟิศสลับกับอยู่บ้านหรือสถานที่อื่น ๆ ซึ่งคลี่คลายมาจากช่วงสถานการณ์โควิดที่คนทั้งโลกทำงานกันอยู่บ้าน (Work from Home) กันเต็มรูปแบบ

ส่วนความเปลี่ยนแปลงประการสุดท้ายคือ มีคนมากถึง 4 รุ่น ไล่ตั้งแต่ Gen Z ไปจนถึง Babyboom ซึ่งอายุระหว่าง 18 ไปจนเกือบ ๆ 60 ปีที่ทำงานอยู่ออฟฟิศหรือร่วมบริษัทเดียวกัน

นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องจากทั้งวิกฤตโควิด สถานการณ์เศรษฐกิจ และผู้คนอายุยืนขึ้น โดยสิ่งที่ตามมาคือพนักงานในแต่ละบริษัทต้องบริหารความสัมพันธ์ของพนักงานรุ่นต่าง ๆ ให้ดี

ขณะที่ตัวพนักงานแต่ละคนก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อนร่วมงานต่างรุ่นที่ต้องร่วมงานกันเพื่อให้เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

แต่ไม่ว่าพยายามเลี่ยงอย่างไร ความขัดแย้งหรือการกระทบกระทั่งกันจนทำให้บรรยากาศในออฟฟิศเป็นพิษ (Toxic) พานให้ไม่อยากทำงานร่วมกันจากความไม่เข้าใจ และมองโลกต่างกันของคนต่างรุ่นก็เกิดขึ้นอยู่ดี

บรรยากาศเป็นพิษดังกล่าวถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะอาจลามไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การเมือง ความเชื่อและการแสดงออกในประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม

หลาย ๆ บริษัทรับรู้ถึงปัญหานี้ โดยหนึ่งในวิธีแก้ไขคือ การให้คำปรึกษาแบบสลับขั้ว (Reverse Mentorship) ให้พนักงานรุ่นใหม่จับคู่สอนคนรุ่นใหญ่ ซึ่งอายุมากกว่า

Jack Welch กูรูด้านการบริหารชาวอเมริกัน เป็นคนริเริ่ม Reverse Mentorship เมื่อช่วงปลายยุค 90 ขณะที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอ GE โดยขณะนั้นเขาให้พนักงานรุ่นใหม่สอนพนักงานรุ่นใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็น

Jack Welch

เพราะฝ่ายแรกเข้าใจเทคโนโลยีดังกล่าวได้ดีกว่า ส่วนฝ่ายหลังก็ต้องทำความเข้าใจเพื่อใช้ในการทำงาน

มาปัจจุบันแนวคิด Reverse Mentorship ถูกนำมาใช้อีกครั้งในเวอร์ชันอัปเดต โดยคราวนี้ฝ่ายที่เป็นโค้ชคือ Gen Z และ Gen Y อันเป็นพนักงานรุ่นใหม่แต่เป็นกลุ่มใหญ่ของทุกบริษัท ส่วนฝ่ายที่ลงไปเป็นนักเรียนคือ Gen X และ Babyboom  

เรื่องที่เหล่าโค้ชรุ่นใหม่สอนรุ่นใหญ่มีมากมาย ไล่ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ แพลตฟอร์มสื่อสาร ประเด็นความหลากหลายทางเพศของยุคนี้ ประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และความมีส่วนร่วมต่าง ๆ

รวมไปถึงชี้แจงที่มาที่ไปในการมองโลก ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดเสรีนิยมอย่างมากแบบที่ไม่มีมาก่อน

Reverse Mentorship ยังช่วยให้คนต่างรุ่นในบริษัทเดียวกันเข้าใจกันมากขึ้น ลดการมองแบบเหมารวม และเหยียดคนต่างรุ่น จากทั้งคนรุ่นใหม่ที่มองว่ารุ่นใหญ่ล้าสมัย

และรุ่นใหญ่ที่มองว่าพวกตนอยู่มาก่อนเลย (เหมือนจะ)  เข้าใจโลกได้ดีกว่ารุ่นใหม่ ตามสำนวนไทยที่ว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน

ขณะเดียวกัน Reverse Mentorship ยังเปิดโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่ ๆ ได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจและมีตัวตน เพื่อลดปัญหาการลาออกได้อีกด้วย โดยตามข้อมูลของ Deloitte บริษัทจัดหางานและให้คำปรึกษาเรื่องหน้าที่การงาน ระบุว่า Gen Z และ Gen Y (หรือ Millennials) ครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะลาออกภายใน 5 ปี

หากประเด็นที่เรียกร้องตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ได้การตอบรับ

ด้านบริษัทที่นำ Reverse Mentorship เวอร์ชันอัปเดตมาใช้เผยว่า นี่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก เช่น BNY Mellon Purshing บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในอังกฤษที่ระบุว่า พนักงานกลุ่ม Gen Y เกือบทั้งหมดที่เป็นโค้ชใน Reverse Mentorship ตัดสินใจทำงานกับบริษัทต่อ

ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจออกไป ได้รับการยอมรับ และมีโอกาสได้สานสัมพันธ์กับคนต่างรุ่นอย่างจริงจัง

ส่วนประโยชน์ที่พนักงานรุ่นใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารแล้วจะได้รับจาก Reverse Mentorship คือการเปิดใจ ไม่ตัดสิน ไม่ดูถูกคนรุ่นใหม่จากอคติต่าง ๆ และได้เข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น จนที่สุดสามารถจับมือกันทำงานแบบพึ่งพาอาศัย

และในทางกลับกันก็ยินดีให้คำปรึกษาแก่คนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่อายที่จะเอ่ยปากขอให้คนรุ่นใหม่สอนเรื่องใหม่ ๆ ที่ตนไม่เข้าใจ

ทั้งหมดจะทำให้บรรยากาศในออฟฟิศดีขึ้น และปัญหา Toxic ลดหรือหมดไปได้ในที่สุด/bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online