ประเทศใหญ่ ๆ หรือที่มีบทบาทบนเวทีโลกมาพอสมควร มักมีภาพจำประทับอยู่ในความคิดของผู้คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ญี่ปุ่น ที่ภาพจำคือ ความมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา ประเทศแห่งนวัตกรรม การฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการจ้างงานตลอดชีพ
ทว่า ญี่ปุ่นก็ไม่อาจฝืนความเปลี่ยนแปลงได้ หลักฐานคือ ความสามารถด้านนวัตกรรมที่ลดลง บริษัทชั้นนำของประเทศ เช่น Toyota ล้าหลังบนเวทีโลก และล่าสุดคือการจ้างงานตลอดชีวิตที่ถึงคราวหมดยุค
บริษัทญี่ปุ่นเริ่มนำการจ้างงานตลอดชีวิต หรือ Shushin Koyo มาใช้ในทศวรรษ 1920 หรือรัชสมัยไทโช ซึ่งญี่ปุ่นพัฒนาประเทศจนทัดเทียมกับชาติตะวันตกได้สำเร็จ ต่อเนื่องจากยุคปฏิรูปหรือเมจิ
และมีการนำมาใช้อย่างจริงจังอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อฟื้นฟูประเทศจากการแพ้สงคราม ต่อเนื่องไปจนถึงปีสิ้นสุดสงครามเย็นต้นยุค 90
Shushin Koyo ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ จะไปจองตัวนักศึกษาหัวกะทิก่อนเรียนจบ และจ้างงานยาวไปจนเกษียณ ไม่ได้แค่ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากสงครามเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวจนขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ อดีตศัตรูและชาติที่เคยเข้ามายืดครองเท่านั้นอีกด้วย
Shushin Koyo ทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น ซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นว่า “ซาลารี่มัง” (Salaryman) มีความมั่นคงทางอาชีพ โดยพวกเขาก็ตอบแทนด้วยการทุ่มเททำงานแบบถวายชีวิตเพื่อพาบริษัทเจริญเติบโตได้ตามเป้า ยกบริษัทสำคัญกว่าครอบครัว และหากมีสังสรรค์หลังเลิกงานก็จัดเต็มเช่นกัน
แต่ Shushin Koyo เริ่มลดลงช่วงต้นยุค 90 ถึงต้นยุค 2000 หรือทศวรรษสูญหาย (Lost Decade) ซึ่งญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ จนมีการปลดพนักงานและการว่างงานเพิ่มขึ้นมากถึง 5.5% ในปี 2002
ถัดจากนั้นญี่ปุ่นก็วิกฤตอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2008 จากภัยธรรมชาติในประเทศอย่างสึนามิและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สืบเนื่องจากปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำ (Subprime) ในสหรัฐฯ
ข้ามมาปี 2022 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิด และการที่ ซาลารี่มัง รุ่นใหม่ทั้งชาย-หญิง หันมาเห็นครอบครัวและสมดุลชีวิต (Work-Life Balance) สำคัญกว่าการทุ่มให้กับการทำงานถวายหัว แบบเดียวกับกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ทั่วโลก
ประกอบกับการเห็นว่าหากงานที่ทำอยู่อึดอัด ไม่ว่าด้วยสภาพแวดล้อมการทำงาน ธรรมเนียมปฏิบัติล้าสมัย หัวหน้าใช้งานหนัก และการถูกเหยียดเพศ
รวมไปถึงเงินเดือนของบริษัทอื่นที่ดีกว่า ซาลารี่มัง จึงเปลี่ยนงานบ่อย ๆ หรือกลายเป็น Job Hopper กันมากขึ้น
ปี 2022 คนวัยทำงานญี่ปุ่นราว 3.03 ล้านคนเป็น Job Hopper และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะข้อติดขัดในการลาออกจากงานมีผู้ประกอบการไอเดียสุโก้ยมาจัดการให้
Taishoku Daiko คือกลุ่มบริษัททำธุรกิจเคลียร์เรื่องลาออกให้ โดยส่วนใหญ่ติดต่อได้ผ่านทางออนไลน์ และสามารถจัดการให้สามารถโบกมือลาบริษัทที่ไม่อยากทำงานด้วยอีกต่อไปได้เสร็จเร็วสุดในเวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น
บริษัทในธุรกิจ Taishoku Daiko รับประกันว่า ผู้ที่มาใช้บริการไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรั้งตัวไว้หรือถูกตราหน้าว่าเป็นคนทรยศ เหมือนซาลารี่มังรุ่นก่อน ๆ และรับประกันว่าจะไม่ถูกฟ้องร้องอีกด้วย
สนนราคาในการใช้บริการ Taishoku Daiko อยู่ที่ 12,000-29,800 เยน (ราว 2,900 ถึง 7,200 บาท) และลูกค้าก็มีตั้งแต่พนักงานร้านสะดวกซื้อไปจนถึงหมอฟัน เจ้าหน้าที่ในศาลเจ้าชินโต ไปจนถึงฝ่ายไอทีรุ่นใหม่ฝีมือดีที่ลาออกเพื่อไปทำงานกับบริษัทใหม่เพื่อเงินเดือนที่มากขึ้น
Taishoku Daiko ยังเป็นการย้ำว่าญี่ปุ่นหมดยุคจ้างงานตลอดชีพ และมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจ้างงานตามทักษะ-ความสามารถมากขึ้น เพราะปัญหาวิกฤตประชากรจากการมีประชากรอายุยืน อัตราการเกิดต่ำ และแต่งงานช้า ยังแก้ไม่ตก
และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเมื่อถึงปี 2040 คนวัยทำงานญี่ปุ่นจะหายไปอีกมหาศาล โดยนอกจากทำให้การจ้างงานตลอดชีพเป็นอดีตแล้ว ยังจะทำให้การใช้หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ รวมไปถึงการเปิดรับชาวต่างชาติก็จะมีมากขึ้นด้วย/japantoday, wikipedia, nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ