ก้าวข้ามทุกสถานการณ์และความท้าทายมาได้เสมอสำหรับ ‘ธุรกิจโรงหนัง’ ที่ในตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังคงเป็น First Window สถานที่มอบความบันเทิงและประสบการณ์การดูหนังที่ผู้บริโภค ‘ต้องการ’
แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมโรงหนังจะยังไม่เทียบเท่าปี 2019 แต่แนวโน้มจำนวนคอนเทนต์หรือจำนวนหนังที่ป้อนสู่ตลาดกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่หนังฮอลลีวูดเองก็กลับมาสร้างรายได้เฉลี่ยที่ 300 ล้านบาท/เรื่อง รวมถึงรูปแบบการฉายหนังแบบ Hybrid ที่ทุกค่ายต่างเห็นชอบที่จะให้โรงหนังเป็น First Window ก่อนอย่างน้อย 90 วันแล้วค่อยฉายใน Streaming เป็นลำดับถัดไป
ฝั่งธุรกิจโรงหนัง ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ในปีนี้มี Traffic ลูกค้าที่มาใช้บริการประมาณ 80% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งถือว่าทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมระดับโลก บวกกับรายได้จาก New Business อย่างการขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนังที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และการเป็น Content Provider ดันหนังไทยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้แบบ V-shape อย่างต่อเนื่อง
“ในมุมการสร้างแบรนด์ก็ไม่น้อยหน้า เพราะในปีนี้ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ยังคงครองตำแหน่งแบรนด์โรงภาพยนตร์ที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับ 1 จนคว้ารางวัล Marketeer No.1 Brand Thailand 2023 หมวดโรงภาพยนตร์ไปอีกปี”
ด้วย DNA การไม่หยุดเรียนรู้ (Never Stop Learning) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ปรับตัวได้เร็วและผ่านแต่ละสถานการณ์มาได้ด้วยดีทุกครั้ง แต่การได้รับรางวัล No.1 Brand Thailand แบรนด์อันดับหนึ่งในใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องในยุคที่พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ทำได้อย่างไร
Marketeer เดินทางมาค้นหาคำตอบพร้อมอัปเดตธุรกิจกับ นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่โรงภาพยนตร์ ไอคอน ซีเนคอนิค (ไอคอนสยาม)
เติมเต็มส่วนที่ขาดหาย
หนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ ใช้ในการดำเนินธุรกิจคือ Customer Happiness การสร้างความสุขให้กับลูกค้ามากที่สุด คนที่มาโรงภาพยนตร์สำคัญสุดจะต้องเลือกหนังก่อน ดังนั้น สิ่งที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทำคือการเสิร์ฟคอนเทนต์ที่หลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการ
“ช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ปริมาณหนังเยอะที่สุดของปี แม้ตลอดทั้งปีจะยังไม่เท่าปี 2019 แต่มั่นใจว่าในปีหน้า (2024) ปริมาณหนังฮอลลีวูดจะกลับมาเท่าเดิม หน้าที่ของเราคือ ‘เติมเต็มส่วนที่ขาด’ อย่างแรก คือการเพิ่มจำนวนหนังทางเลือก เช่น หนังไทยที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง หนังอนิเมะญี่ปุ่น หนังอินเดีย หนังจีน และหนังเกาหลี เป็นต้น ถัดมาคือการนำ Alternative Content เช่น LIVE Content, DCP Concert กระทั่งโปรแกรมถ่ายทอดสดกีฬาเราก็มี ตลอดจนการเหมารอบเพื่อจัดกิจกรรมภายในขององค์กรต่าง ๆ หรือจัดปาร์ตี้วันเกิด ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมที่เราเพิ่มเข้ามาเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป”
นรุตม์ย้ำว่า ในช่วง Q3 หนังไทยจะเป็นพระเอกของตลาด เนื่องจากจะมีหนังใหม่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีหนังไทยในเครือเมเจอร์ฯ ออกมาทั้งหมดราว 20 เรื่อง
“ปัจจุบัน Market share ทั้งตลาดของหนังไทยอยู่ที่ 25% อีก 75% คือหนังฮอลลีวูด ขณะที่เฉพาะตลาดต่างจังหวัดตัวเลขจะกลับกัน หนังไทย Market Share อยู่ประมาณ 70% หนังฮอลลีวูดอยู่ที่ 30% นั่นหมายความว่าหนังไทยยังมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูงมาก
เมเจอร์ฯ เรามีเป้าหมายที่จะทำให้ Market Share หนังไทยน่าจะอยู่สัก 50% มีหนังไทยเข้าฉายสัปดาห์เว้นสัปดาห์ อย่าลืมว่าข้อดีของหนังไทยคือ สามารถขายสิทธิ์ Streaming ไปฉายทั่วโลกได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยเดินหน้าต่อไปได้ เกิด Healthy Industry เช่นเดียวกับต่างประเทศ”
สร้างประสบการณ์แตกต่างที่น่าประทับใจ
Magnet สำคัญที่ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะดูหนังในโรงภาพยนตร์คือ ประสบการณ์ที่แตกต่าง ความรู้สึกที่เหนือกว่าการดูหนังที่บ้าน เป็นเหตุผลว่าทำไม เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ถึงลงทุนในเทคโนโลยีระบบการฉายภาพยนตร์ ตลอดจนการออกแบบโรงหนัง เก้าอี้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
“เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการชมภาพยนตร์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ใส่ใจทุกรายละเอียด เราเป็น Best of Design ออกแบบโรงหนังให้สวยเหมือนโรงแรม เราลงทุนอัปเกรดเทคโนโลยีการฉายหนังให้ใหม่และดีที่สุดอยู่เสมอ ตั้งแต่ IMAX with LASER เทคโนโลยีการฉายภาพยนตร์ที่ผสมผสานการฉายภาพที่ให้รายละเอียดภาพที่ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพขนาดใหญ่และฟังเสียงได้ชัดเจนเหมือนกันทุกที่นั่งไม่ว่าคุณจะนั่งอยู่ตรงไหนในโรงภาพยนตร์ ส่งมอบประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ระดับพรีเมียมแบบ Most Advance Cinema Experience ที่ปัจจุบันมี 3 สาขาคือ โรงภาพยนตร์ไอคอน ซีเนคอนิค, พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ เมกา ซีนีเพล็กซ์ และมีแผนขยายเพิ่มอีก 3 แห่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และขยายให้ครบทุกสาขาภายในปีหน้า
“ถัดมาคือ ScreenX PLF รูปแบบโรงภาพยนตร์แบบแรกของโลกที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทางด้วยเครื่องฉายหลายตัว (Multi-Projection System) ด้วยการฉายภาพที่หน้าจอด้านหน้า และฉายลงบนจอเต็มกำแพงด้านข้างซ้ายและขวา เพื่อให้มุมมองภาพ 270 องศา เพื่อดึงผู้ชมให้ดื่มด่ำไปกับฉากเสมือนจริงด้วยคุณภาพความละเอียดระดับ 4K ทำให้ผู้ชมเห็นภาพที่ใหญ่และกว้างขึ้น สมจริงยิ่งขึ้น ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ ScreenX สาขาใหม่ล่าสุด เปิดให้บริการแล้ววันนี้ที่ ไอคอน ซีเนคอนิค
“ที่สำคัญ คือการอัปเกรดระบบการฉายจากดิจิทัลที่ใช้หลอดไฟ เปลี่ยนมาเป็นระบบเลเซอร์ครบทั้งหมด หรือระบบ LASERPLEX เพื่อลดขยะอย่างหลอดไฟที่มีอายุการใช้งาน 3,000 ชั่วโมง ตอกย้ำการมุ่งหน้าสู่ Green Cinema ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์”
ที่ขาดไม่ได้คือ โรงภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มตั้งแต่ Kids Cinema ที่เจาะกลุ่มครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 13 สาขา และมีแนวโน้มขยายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น หรือล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาอย่าง Pet Cinema โรงภาพยนตร์สำหรับคนรักสุนัขและแมวแห่งแรกของไทย ที่ตอนนี้เปิดให้บริการทั้งหมด 3 สาขา คือ เมกา ซีนีเพล็กซ์, อีสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์ และ เมเจอร์ ซีนีมา โรบินสัน ราชพฤกษ์
สร้างความสะดวกสบาย (Convenience) ในทุกมิติ
ต้องยอมรับว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผลักดันวิธีการซื้อตั๋วหนังและการจ่ายเงินให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์อย่างจริงจังมาโดยตลอด เพื่อลดขั้นตอน ย่นระยะเวลา และมอบความสะดวกให้ลูกค้าได้มากที่สุด โดยสัดส่วนของคนที่ซื้อตัวหนังออนไลน์ผ่าน Major Cineplex Application ตอนนี้อยู่ที่ 40% เพิ่มจากปีที่แล้วมา 5%
ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชันให้ดียิ่งขึ้น เช่น ระบบการชำระเงินที่หลากหลาย ลูกค้าสามารถใช้บัตร Credit, Debit, PromptPay, QR Payment, Wallet ต่าง ๆ ได้ หรือฟีเจอร์ M Coupon ที่ต่อยอดมาจากการทำการตลาดแบบ Personalized โดยนำ AI/ML (Artificial Intelligence / Machine Learning) มาช่วยศึกษาพฤติกรรมการซื้อตั๋วหรือการเลือกหนังของลูกค้าแต่ละคน เพื่อนำเสนอคูปอง-สิทธิประโยชน์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนคนนั้น รวมไปถึงสมาชิก M PASS บัตรดูหนังแบบรายปี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 230,000 คน
“เราตั้งเป้าว่าภายในเดือนธันวาคมปีนี้จำนวนลูกค้าที่ซื้อตั๋วหนังผ่านช่องทางออนไลน์จะอยู่ 70% และภายในปีหน้าจะอยู่ที่ 100% หรือใกล้เคียง”
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่จะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ นั่นคือ Smart Ticket ตั๋วออนไลน์ที่จะมีเครื่องอ่าน QR Code ให้ลูกค้าสแกนตั๋วเอง (Self service) เป็น Tap & Go หากจัดการบริการตรงนี้ได้ลงตัวแล้ว ในอนาคต เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สามารถย้ายพนักงานที่ดูแลไปทำหน้าที่อื่น
“พอเป็น Mobile First เราตั้งเป้าเลยคือ ลดจำนวนพนักงานหน้าตู้ขายตั๋วและพนักงานฉีกตั๋วลง ย้ายเขาไปทำหน้าที่อื่น เช่น โฟกัสที่ Popcorn Business อย่างการขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนังที่ในตอนนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ”
โดยรายได้เฉลี่ยจากการขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนังของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปัจจุบันอยู่ที่ 30-50 ล้านบาทต่อเดือน มีช่องทางการขายครอบคลุมทุกช่องทาง ทั้งเดลิเวอรี, อีคอมเมิร์ซ หรือโมเดิร์นเทรด และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“อีกหนึ่งช่องทางสำคัญคือการขายผ่าน Kiosk เคาน์เตอร์จำหน่ายป๊อปคอร์นที่ในตอนนี้มีจุดขายที่ชั้น G ของทุกห้างสรรพสินค้าที่มีโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และมีการขยายไปยัง Non Cinema Location หรือสาขาที่ไม่มีโรงหนังของเมเจอร์ โดยนำร่องสาขาแรกคือ สายไหมอเวนิว และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต”
มาถึงตรงนี้ ทุกอย่างได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โรงหนังยังคงเป็นไลฟ์สไตล์เอนเตอร์เทนเมนต์ที่ผู้คนยังต้องการ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เองก็ไม่หยุดที่จะเติมเต็ม Fulfillment ให้ลูกค้าในทุก ๆ ความต้องการ
เป็นเหตุผลว่าทำไม เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ถึงเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดทั้งในแง่ของรายได้และการเป็นแบรนด์ในใจผู้บริโภค
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ