หลังต้องทยอยลดจำนวนผู้ชมจนถึงขั้นพักไป หรือทำได้แค่จัดภายใต้การควบคุมเข้มงวด เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการสกัดการระบาดตลอดสถานการณ์โควิด เหมือนที่เห็นกันไปในโตเกียวโอลิมปิก

มาปีนี้ลีกและทัวร์นาเมนต์กีฬาทั่วโลกก็กลับมาจัดกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ใหญ่คือฟุตบอลโลกหญิงที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยนอกจากครั้งแรกที่สองประเทศจับมือกันจัดฟุตบอลหญิงแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่จำนวนทีมเข้าแข่งเพิ่มเป็น 32 ทีมอีกด้วย

ความน่าสนใจของฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ยังอยู่ที่จำนวนเงินรางวัลรวมที่เพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,700 ล้านบาท) แฟชั่นของชุดแข่งแต่ละทีมที่รับกับความรักสวยรักงามของผู้หญิง เช่น ชุดสีชมพูของทีมชาติญี่ปุ่น

และการเป็นอีเวนต์กีฬาใหญ่สุดในโลกที่ผู้หญิงเข้าร่วม

ตรงข้ามกับการเป็นเพียงอีเวนท์สาธิต ที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เคยยังไม่แน่ใจว่าจะไปได้แค่ไหน ในช่วงตั้งไข่เมื่อหลายทศวรรษก่อน

ฟุตบอลโลกหญิงครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1991 โดยมีจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการผลักดันของกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาใต้ช่วงยุค 70 จน FIFA ลองจัดทัวร์นาเมนต์สาธิตที่จีนขึ้นก่อนในปี 1988 ซึ่งทีมฟุตบอลหญิงไทยได้เข้าร่วมด้วย

สำหรับฟุตบอลโลกหญิงครั้งแรก แม้ถือได้ว่าเป็นทางการแต่ก็ยังสมบูรณ์นักและดูเหมือนทัวร์นาเมนท์สาธิตอยู่ เพราะยังไม่มีเงินรางวัลให้ทีมแชมป์ สปอนเซอร์มีอยู่เพียงแบรนด์เดียวคือ M&M ส่วนเวลาแข่งขันในแต่ละนัดก็อยู่ที่เพียง 80 นาที ต่างจาก 90 นาทีตามมาตรฐานของฟุตบอลปกติ

ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงครั้งแรก 

ซ้ำร้ายยังไม่มีการถ่ายทอดสดไปยังสหรัฐฯ ชาวอเมริกันจึงไม่รู้ว่าทัพฟุตบอลหญิงของพวกเขาคว้าแชมป์มาได้หลังชนะนอร์เวย์ 2-1

นี่ทำให้ฟุตบอลโลกหญิงในช่วงแรก ๆ นักฟุตบอลหญิงต้องฝืนใส่ชุดแข่งที่หลวมกว่าของนักฟุตบอลชาย และงบประมาณจำเป็นต่าง ๆ ก็ยังมีจำกัด

สถานการณ์มาดีขึ้นในปี 2007 ที่จีนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง เพราะเริ่มมีการให้เงินรางวัลให้กับทีมที่ผ่านเข้ามาแข่งรวม 5.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 197 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) 

และยังเป็นทัวร์นาเมนต์แจ้งเกิดของ Marta Vieira da Silva ศูนย์หน้าชาวบราซิล ที่ยิงไป 7 ลูก คว้ารางวัลทำประตูสูงสุดด้วยวัยเพียง 21 ปี แต่น่าเสียดายทีมชาติบราซิลไปไม่ถึงฝัน หลังแพ้เยอรมนีในนัดชิง

ฟุตบอลโลกหญิงครั้งต่อ ๆ มาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนสปอนเซอร์ และผู้ชมการถ่ายทอดสด โดยในครั้งต่อมามีผู้ชมถ่ายทอดสดนัดชิงระหว่างสหรัฐฯ  แชมป์ 2 สมัย ณ ขณะนั้น กับญี่ปุ่น ทั่วโลกถึง 62.8 ล้านคน ซึ่งจบลงด้วยการคว้าแชมป์สมัยแรกของญี่ปุ่น   

ปี 2015 ฟุตบอลโลกหญิงจัดขึ้นที่แคนาดา แต่เป็นเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐฯ ที่คว้าแชมป์ไปเป็นสมัยที่ 3 โดยแม้จำนวนเงินรางวัลรวมเพิ่มเป็น 13.6 ล้านดอลลาร์ (ราว 462 ล้านบาท)

แต่ก็เทียบไม่ได้กับเงินรางวัลรวมของฟุตบอลโลกปี 2014  ในบราซิล ซึ่งเงินรางวัลรวมมากถึง 406 ล้านดอลลาร์ (ราว 13,800 ล้านบาท) จนนำมาสู่การเรียกร้องความเท่าเทียม ท่ามกลางการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

มาปีนี้ฟุตบอลโลกหญิงย้ายมาจัดกันที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยหลายเรื่องดีขึ้นและเพิ่มขึ้นกว่าครั้งแรกอย่างมาก ไล่ตั้งจำนวนทีมที่ผ่านมาเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายจำนวน 32 ทีม เพิ่มจาก 24 ทีมเมื่อปี 2019 และเพียง 12 ทีมเมื่อปี 1991

เงินรางวัลรวม 110 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,700 ล้านบาท) เพิ่มจาก 30  ล้านดอลลาร์ (ราว 1,020 ล้านบาท) เมื่อปี 2019 และไม่มีเลยในปี 1991 ส่วนจำนวนสปอนเซอร์ก็เพิ่มเป็น 32 แบรนด์ จากเพียงแบรนด์เดียวเมื่อปี 1991

Marta Vieira da Silva

นี่จึงกล่าวได้ว่าฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ที่เป็นฟุตบอลโลกหญิงครั้งที่ 5 ของ Marta Vieira da Silva คือทัวร์นาเมนต์ของนักกีฬาหญิงที่ใหญ่สุดในโลก

แม้ประเด็นความเท่าเทียมยังต้องเรียกร้องกันต่อไป โดยหนึ่งในเรื่องที่บรรดานักฟุตบอลหญิงอยากให้แก้ไขคือ เงินรางวัลรวม เพราะฟุตบอลโลกชายครั้งล่าสุดเมื่อปี 2022 เงินรางวัลรวมมากถึง 440 ล้านดอลลาร์ (ราว 15,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 4 เท่าของฟุตบอลโลกหญิงครั้งนี้ /bbc, aljazeera, wikipedia, theguardain, time, sportspromedia, sportinteligence, fifa, businessplus



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online