ข่าวใหญ่ของโลกเมื่อปี 2019 คงไม่มีข่าวไหนเกินความกังวลกับแนวโน้มการระบาดของโควิดในจีนที่อาจกระทบต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิตและธุรกิจต่าง ๆ ของคนทั่วโลก

แต่ก่อนหน้านั้นไม่นานและต่อเนื่องมาถึงปี 2019 ก็มีอีกเรื่องที่คนในแวดวงธุรกิจกำลังจับตามอง นั่นคือขาลงแบรนด์ค้าปลีก หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หันไปช้อปออนไลน์ผ่าน E-commerce กันมากขึ้น ซึ่งทำให้ห้างค้าปลีกบางแห่งที่อยู่มานาน เช่น Toy R Us ต้องล้มละลาย

ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะเทือนมาถึงอังกฤษ ทำให้กันยายนปี 2019 Marks & Spencer ห้างค้าปลีกดังของอังกฤษขาดทุนหนัก จนถูกถอดจากดัชนีหุ้น 100 บริษัทมูลค่าสูงสุด (FTSE 100)

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่เพราะ Marks & Spencer ถือเป็นแบรนด์ดังของอังกฤษที่ติด FSTE 100 มาตั้งแต่มีดัชนีดังกล่าวเมื่อยุค 80 และที่สำคัญนี่ยังเป็นแบรนด์เก่าแก่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานเกือบ 140 ปี

Marks & Spencer หรือเรียกย่อ ๆ ว่า M&S ก่อตั้งเมื่อปี 1884 หลัง Michael Marks ผู้อพยพชาวโปแลนด์ที่ย้ายมาอังกฤษ และสามารถตั้งตัวได้ด้วยการขายของในตลาด โดยเขากำลังอยากก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปิดบริษัทค้าปลีก

คนที่เขาอยากได้มาเป็นหุ้นส่วนคือ Thomas Spencer แคชเชียร์ชาวอังกฤษในตลาดที่เคยสอนภาษาและชี้ช่องทางทำธุรกิจให้

Marks & Spencer พัฒนาจากร้านขายของเบ็ดเตล็ดไปเป็นห้างค้าปลีก ที่มีสินค้าหลากหลายทั้งเสื้อผ้า อาหาร และของใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ครองใจชาวอังกฤษผ่านสินค้าราคาเข้าถึงได้และผลิตในอังกฤษ ซึ่งในจำนวนนี้มีแบรนด์เสื้อผ้า St Michael ที่เปิดตัวในปี 1928 รวมอยู่ด้วย

จากนั้น Marks & Spencer ก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ในปี 1973 ขยายไปต่างประเทศ ประเดิมด้วยสาขาแรกที่แคนาดา และ ณ จุดสูงสุดในปี 1998 Marks & Spencer ถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกแบรนด์แรกของอังกฤษที่ทำกำไรก่อนหักภาษีได้มากถึง 1,000 ล้านปอนด์ (ราว 44,400 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน)

แต่ปลายทศวรรษต่อมาก็เจอกับขาลง โดยปี 2009 Marks & Spencer หลายสาขาและแบรนด์ในเครือทำกำไรได้น้อย จนต้องปิดสาขาและปรับโครงสร้าง

ปี 2019 Marks & Spencer เผชิญวิกฤตอีกครั้ง หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ฉุดยอดร่วงอย่างมาก ตัวเลขกำไรลดลง 1 ใน 4 ต้องปิดสาขาเพื่อประคองตัว และถูกถอดออกจากดัชนี FSTE 100

Archie Norman

แม้ถือเป็นวิกฤตใหญ่แต่ Archie Norman หัวเรือใหญ่ฝ่ายบริหารของ Marks & Spencer ยังเชื่อมั่นว่าที่สุดสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น และการหลุดจาก FSTE 100 คงไม่ถึงฟ้าถล่มดินทลาย

จากนั้นในวิกฤตโควิดแม้ต้องปิดสาขาไปอีกพอสมควรแต่ Marks & Spencer ก็ประคองตัวจนผ่านมาได้ และต่อมาได้ยกเครื่องครั้งใหญ่ ผ่านการปรับปรุงสินค้ากลุ่มแฟชั่นให้ดูทันสมัยแต่ราคายังเข้าถึงได้

ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารก็แบ่งเป็นแบบราคาย่อมเยาและราคาสูง เพื่อครอบคลุมลูกค้าทั้งกลุ่มที่มีรายได้น้อยและที่มีกำลังซื้อสูง ขณะเดียวกันก็ได้ซื้อกิจการ Gist บริษัทผู้ผลิตอาหารที่เป็นคู่ค้า เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ

Sienna Miller

ด้านช่องทางออนไลน์ก็ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น และได้มีการทำโฆษณาแฟชั่นชุดใหม่ที่แสดงโดย Sienna Miller นักแสดงหญิงชาวอังกฤษสายแฟชั่นคนดังด้วย

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดทำให้ยอดขายก่อนหักภาษีที่ในการแถลงครั้งล่าสุดเมื่อเมษายนที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 12,000 ล้านปอนด์ (ราว 533,000 ล้านบาท) และกำไรโต 21% ขณะที่ราคาหุ้นก็โตถึง 72% และกำลังจะกลับเข้าดัชนี FSTE 100

แผนฟื้นฟูดังกล่าวผู้ที่ได้รับคำชมมากสุดคือ Archie Norman เพราะสามารถพลิกสถานการณ์ให้ Marks & Spencer ได้สำเร็จเหมือนที่เคยกู้วิกฤตให้ค้าปลีก Asda และสถานีโทรทัศน์ Itv (ของอังกฤษ) มาแล้วในอดีต/theguardian, wikipedia, bbc



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online