การไม่มองว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ ขนาดประเทศ ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมไปถึงปัจจัยลบต่าง ๆ เป็นอุปสรรคในการพัฒนา จะเป็นทั้งกุญแจปลดล็อก และแรงผลักดันให้หลายประเทศขึ้นมาโดดเด่นในเวทีโลกได้
เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ดังไปทั่วโลกจากนาฬิกาหรู และความโดดเด่นของภาคธนาคาร ทั้งที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา ขณะที่เนเธอร์แลนด์ก็ถือเป็นชาติชั้นนำด้านชลประทาน ทั้งที่เคยตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและในอดีตน้ำท่วมบ่อย
ส่วนประเทศพื้นที่แห้งแล้งอย่างอิสราเอลก็พัฒนาเทคโนโลยีทางเกษตรจนสามารถปลูกพืชต้องการน้ำมากอย่างมะเขือเทศได้
ด้านสิงคโปร์ก็พัฒนาจนเป็นประเทศพัฒนาแล้วหนึ่งเดียวของ ASEAN ทั้งที่มีขนาดเล็กเท่าเมืองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
มาปีนี้สิงคโปร์ก็ยังคงทิ้งห่างประเทศเพื่อนบ้านทุกด้านอีกครั้ง รวมไปถึงนวัตกรรม
องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้จัดอันดับสุดยอดประเทศด้านนวัตกรรม ต่อเนื่องมาหลายปี ปรากฏว่าปีนี้อันดับที่ 1 ยังเป็นสวิตเซอร์แลนด์ เหมือน 13 ปีที่ผ่าน โดยมีสวีเดน สหรัฐฯ อังกฤษพร้อมประเทศในสหราชอาณาจักรและสิงคโปร์ตามมาในอันดับ 2 ถึง 5
ความน่าสนใจของอันดับในปีนี้จากมุมมองชาวเอเชีย คือ สิงคโปร์ เพราะการขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ทำให้เป็นประเทศอันดับ 1 ด้านนวัตกรรรมในเอเชียด้วย แซง เกาหลีใต้ ประเทศร่วมทวีปที่ดังด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน
สิงคโปร์ทยอยขยับอันดับขึ้นมา โดยจากที่ไม่ติดทอป 10 เมื่อปี 2018 พอปีต่อมาก็ติด 9 และอยู่ในอันดับนี้ในอีก 2 ปีถัดมา จากนั้นปี 2022 ก็เลื่อนมาอันดับ 7 จนคว้าอันดับ 5 ได้ในปีนี้
อันดับประเทศสุดยอดด้านนวัตกรรมของ WIPO พิจารณาจาก 80 เกณฑ์วัด สถาบันที่สนับสนุน โครงสร้างที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและการเข้าถึงเงินสนับสนุน โดยสิงคโปร์มีจุดเด่นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม และการเข้าถึงเงินทุนได้สะดวก
การเข้าถึงเงินทุนได้สะดวกของสิงคโปร์ ยังยืนยันได้จากเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital – VC) 1,060 ดอลลาร์ (ราว 37,100 บาท) ต่อสัดส่วนประชากรซึ่งสูงสุดในโลก
การเลื่อนอันดับด้านนวัตกรรมของสิงคโปร์ในปีนี้เหตุผลหลักมาจากการพัฒนาประเทศของรัฐบาลและออกมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม
และเทคโนโลยีชั้นสูงต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จไปแล้ว จากการที่ Dyson แบรนด์เทคโนโลยีอังกฤษดีไซน์สะดุดตาและราคาแพง เลือกเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
และ 3 ปีมานี้มีบริษัทชิปถึง 4 แห่งทุ่มเงินลงทุนรวมเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 350,000 ล้านบาท) สร้างโรงงานในสิงคโปร์/visualcapitalist, wipo, straitstimes
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ