ท่ามกลางความสำเร็จมากมายของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะ Soft power และเทคโนโลยี ที่สร้างชื่อจนประเทศกำลังพัฒนายกให้เป็นต้นแบบ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องทึ่ง ทว่าเกาหลีใต้ก็มีปัญหาใหญ่จนเป็นข่าวไปทั่วโลกนั่นคือวิกฤตประชากร

ปัญหาประชากรของเกาหลีใต้เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายชุดยังคงแก้ไม่ตก มีทุกช่วงวัย และยังกระทบต่อเนื่องจนเกิดปัญหาใหม่ ๆ ผุดขึ้นตามมามากมาย

วัยแรกเกิด: อัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 705,000 คน ระหว่างปี 1990-1994 พอถึงปี 1995-1999 ลดลงมาอยู่ที่ 669,000 คน และลดลงอีกลงมาเป็น 500,000 คนในช่วงยุค 2000

พอถึงปี 2022 เด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้ลดฮวบลงอีกอย่างน่าใจหาย ลงมาเหลือ 249,000 คน ถือว่าต่ำสุดในโลก โดยตลาดที่ได้ผลกระทบมากสุดคือ นมผงและอาหารเด็ก

Paldo ได้เลิกผลิตและจำหน่ายสปาเกตตีแพ็กเกจการ์ตูน Pororo ส่วนบริษัท Namyang ก็ลดกำลังผลิตลงมา 60% ขณะที่ LG H&H ปีกธุรกิจของใช้ในบ้านและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพใต้ชายคา LG สั่งยุติผลิตนมผง

 

วัยเด็ก: ในเมื่อเกาหลีใต้มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง เด็ก ๆ เหล่านี้จึงได้รับการเลี้ยงดูและเอาใจมาก โดยส่งผลให้ตลาดเสื้อผ้าเด็กโต เพราะทั้งพ่อแม่ และลุงป้าน้าอาต่างก็อยาก เอาใจลูกหลานด้วยเสื้อผ้าดี ๆ และแม้ราคาสูงก็พร้อมจ่าย

สมาคมสิ่งทอเกาหลีใต้เผยว่า เมื่อปี 2022 ยอดขายเสื้อผ้าเด็กเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 32% จนดันให้ตลาดสินค้าแฟชั่นในประเทศของปีเดียวกันโตขึ้นมา 13.2% จากปี 2020

ทว่าการเอาใจและประคบประหงมลูกหลานมากเกินไป ก็ทำให้เกิด Gold kid ขึ้น และเมื่อไปตามร้านอาหารพ่อแม่ก็ยังคงเอาใจ ไม่ดุเมื่อซุกซน

จนที่สุดร้านอาหาร ร้านกาแฟ ขึ้นป้ายห้ามเด็กเข้า No kids zone เพื่อตัดปัญหาเด็กก่อความวุ่นวาย และไปรบกวนลูกค้ารายอื่น

ผลกระทบจาก Gold kid และ No kids zone ทำให้ครอบครัวที่มีลูกเล็กลำบากไปด้วย เพราะแทบจะไม่สามารถพาลูกออกไปกินอาหารนอกบ้านกันได้เลย

วัยเรียน: อิทธิพลของลัทธิขงจื๊อทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก โดยในยุคราชวงศ์มีการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เลื่อนขั้นทางสังคมผ่านการสอบเข้าเป็นขุนนางหรือกวาเกียว

ต่อมาในยุค 90 กวาเกียวพัฒนาสู่ซูนึงหรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยให้มีหน้าที่การงานและชีวิตที่ดีขึ้น

จากจุดนี้เองทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทุ่มเรื่องการศึกษาเพื่อการสอบซูนึงเป็นอย่างมาก จนการไปเรียนกวดวิชาถึง 3 หรือ 4 ทุ่ม ตั้งแต่ประถมระดับต้น ๆ เป็นเรื่องปกติ

การทุ่มเรื่องการศึกษาอย่างมาก ซึ่งเมื่อปี 2022 เม็ดเงินสะพัดในส่วนนี้สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 700,000 ล้านบาท) เกิดผลสองอย่างตามมา หนึ่ง คือทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในเกาหลีใต้เฟื่องฟู

และอีกหนึ่ง คือ พ่อแม่มองครูทุกคนเป็นลูกจ้าง เมื่อผลการเรียนออกมาไม่ดีจึงมีการคุกคาม ก็ไปสร้างความเครียดให้กับครู จนครูนับร้อยคนที่ทนไม่ไหวถึงกับฆ่าตัวตาย และเพื่อนร่วมอาชีพที่เผชิญปัญหาเดียวกันรวมตัวประท้วง นำมาสู่การแก้กฎหมายการดูแลและคุ้มครองสิทธิครู

วัยทำงาน: คนทั่วโลกได้เห็นได้เข้าใจโลกการทำงานของเกาหลีใต้ผ่านหนังและซีรีส์ โดยมีบางเรื่องที่กล่าวถึงพนักงานบริษัทที่เลือกครองตัวเป็นโสด โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่อยากต้องไปเครียดกับการทำหน้าที่ภรรยา แม่ และลูกสะใภ้

กลุ่มที่ไม่แต่งงานหรือเลือกครองตัวเป็นโสดในเกาหลีใต้เรียกว่า บิฮอน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยจากการที่มีตำแหน่งระดับกลางหรือค่อนข้างสูง และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก บริษัทที่ต้องพยายามรั้งตัว บิฮอน ไว้ผ่านสวัสดิการลักษณะใกล้เคียงคนที่แต่งงานมีครอบครัว

ผลที่ตามมาคือ การเลื่อนขั้นของทั้งบริษัท โดยเฉพาะบรรดาพนักงานรุ่นน้องช้าลง ขณะเดียวกันยังทำให้โอกาสการได้เข้ามาทำงานในบริษัทของพนักงานใหม่ที่เพิ่งเริ่มวัยทำงาน (First Jobber) ลดน้อยลงไปด้วย

วัยชรา: ปัญหาด้านประชากรของเกาหลีใต้ในทุกช่วงวัยจนถึงวัยชรา โดยเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศสัดส่วนคนวัยชราต่อจำนวนประชากรสูงมาก (Super aging) ปี 2023 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 18% และพอถึง ปี 2035 กับ 2050 จะเพิ่มเป็น 30% และ 40% ตามลำดับ

สัดส่วนที่มากดังกล่าวทำให้เมื่อปี 2022 รถไฟใต้ดินกรุงโซลขาดทุนไป 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,600 ล้านบาท) เพราะนโยบายอายุกว่า 40 ปีที่อดีตประธานาธิบดี ชุน ดู-ฮวาน หวังให้เป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ กลายเป็นช่องทางให้ผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ใช้ประโยชน์

ปัญหาดังกล่าวรวมไปถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานเกาหลีใต้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะตึงตัวมากขึ้น เพราะข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งออกมาชี้ว่า จำนวนประชากรอายุ 70 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 6.32 ล้านคน แซงหน้าประชากรวัย 20 ปี ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 6.2 ล้านคนแล้ว

นอกจากนี้ ประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปที่ยังทำงานอยู่เมื่อปี 2023 เฉพาะในการผลิตก็มีถึง 599,000 คน เพิ่มขึ้นมา 51,000 คนจากปี 2022 นั้นแซงหน้าประชากรกลุ่ม 15-20 ปี หรือกลุ่ม First jobber ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ซึ่งอยู่ที่ 555,000 คน

การที่ประชากรสูงวัยมีมากกว่าประเทศอื่น แม้บางส่วนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ด้วยการทำงาน แต่กำลังวังชาที่ลดลงและโรคภัยไข้เจ็บจากความชรา ก็ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้คงต้องเผื่องบไว้ก้อนใหญ่เพื่อดูแลผู้สูงอายุ

จากปัญหาประชากรทุกช่วงวัยเหล่านี้จึงกล่าวได้ว่าวิกฤตประชากรคือปัญหาใหญ่ลำดับต้น ๆ ของเกาหลีใต้ การไม่แก้ไขหรือบริหารจัดการให้ดี ก็จะฉุดรั้งให้ประเทศไม่ก้าวหน้าต่อไปได้เร็วเท่าที่ควร/koreaherald , koreantimes



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online