ตลาดความงาม ในไทยมูลค่า 1.85 แสนล้าน 2567 นี้ โตดับเบิลดิจิตต่ออีกปี

ตลาดความงามในไทย 2566 มูลค่า 1.85 แสน ลบ. ปีนี้ยังโตดับเบิลดิจิต ชนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่คุ้นดิจิทัล ซิลเวอร์เจน กำลังซื้อสำคัญในระยะยาว แบรนด์ต้องตอบโจทย์ความงามที่แตกต่าง หลากหลาย ท่ามกลางสมรภูมิแข่งเดือด สร้างการรับรู้ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ รับผู้บริโภคกลับมาซื้อหน้าร้านกันปกติ

ตลาดบิวตี้ 1.85 แสน ลบ.

ความงามที่แตกต่าง หลากหลาย โจทย์แบรนด์คว้าใจผู้บริโภค

ตลาดความงามในประเทศไทย 2566 1.85 แสน ลบ.

เติบโตกว่า 12%

ลอรีอัล ประเทศไทย คาดปี 2567 ยังเติบโตดับเบิลดิจิต

มาร์เก็ตแชร์ตลาด 2566
ดูแลผิว 1.13 แสน ลบ.

เติบโต 13%

เส้นผม 3.9 หมื่น ลบ.

9%

เครื่องสำอาง 2.27 หมื่น ลบ.

13%

น้ำหอม 1.02 หมื่น ลบ.

10%

ที่มา: ลอรีอัล ประเทศไทย อ้างอิงจากยูโรมอนิเตอร์, เม.ย. 2567

 

คุณแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ปี 2566 ลอรีอัล กรุ๊ป มีอัตราการเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี ที่ 11% ยอดขายรวม 1.5 ล้านล้านบาท คงตำแหน่งบริษัทความงามอันดับ 1 ของโลก

ลอรีอัล ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในตลาดหลักของภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ) ซึ่งปี 2566 ทั้ง SAPMENA เติบโต 23.2%

เฉพาะตลาดประเทศไทย สามารถรักษาอัตราการเติบโตเหนือตลาดความงาม ซึ่งอยู่ที่กว่า 12% ได้

โดยจากผลิตภัณฑ์รวมทั่วโลก 37 แบรนด์ของลอรีอัล กรุ๊ป ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์จำหน่าย 15 แบรนด์ ครอบคลุมตลาดเมียนมา ลาว และกัมพูชา แบ่งเป็น

กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภค ประกอบด้วยแบรนด์ ลอรีอัล ปารีส, การ์นิเย่ และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก

กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ลังโคม, ไบโอเธิร์ม, จิออร์จิโอ อาร์มานี, คีลส์, ชู อูเอมูระ, อีฟส์ แซ็งต์ โลร็องต์ และ อิท คอสเมติกส์

กลุ่มผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และ เคเรสตาส

กลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และ เซราวี

ปี 2566 เป็นอีกหนึ่งปีทองของตลาดความงามในไทยที่คึกคัก และเต็มไปด้วยการแข่งขันสูง โดยบริษัทยังคงขีดความสามารถในการสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เติบโต ท่ามกลางความท้าทายจากคู่แข่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย และเทรนด์ผู้บริโภคที่มีความสนใจในความงามที่แตกต่าง และหลากหลายรูปแบบ

ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตได้ดีที่สุดปีที่ผ่านมา สูงกว่าก่อนโควิด-19 (ปี 2562) และพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดกลับมาใช้บริการในร้านรีเทลกันเป็นปกติตั้งแต่ปี 2565 หลังโมเมนตัมไปเติบโตในส่วนของออนไลน์เป็นหลักในช่วงโควิด

การดำเนินงาน ปี 2567 บริษัทจะมุ่งเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อขยายตัวต่อเนื่อง อัปเดตปี 2565 ประเทศไทยมีผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่ที่ 7 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเติบโตเป็น 50 ล้านคนในปี 2573

และผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกดิจิทัลกับซิลเวอร์เจนจะเป็นอีก 2 กลุ่มทาร์เก็ตสำคัญ เพราะจะเข้ามาเป็นมาร์เก็ตแชร์ใหญ่ในตลาดความงามหลังจากนี้

“One L’Oréal” จะเป็นกลยุทธ์หลักของบริษัท ซึ่งคือการมุ่งเน้นพัฒนาองค์กรทั้งด้านบุคลากร ด้านธุรกิจ และด้านความยั่งยืน ให้ทุกกลุ่มธุรกิจและแผนกส่วนกลางได้พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างการเติบโตในตลาดความงามอย่างยั่งยืน

และคงการผลักดันทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ด้วยการจุดกระแสนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งครอบคลุม 3 จาก 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์

ส่วนเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย น้ำหอม เป็นอีก 3 ตลาดที่บริษัทให้ความสำคัญ เพราะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโปรดักต์ความงามชั้นสูง

ขณะที่กลุ่มเส้นผม ยังคงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้เล่นเยอะ อย่างไรก็ตาม เจาะจงไปที่ผลิตภัณฑ์ย้อมผม ซึ่งนับเป็นต้นกำเนิดของบริษัท ก็ยังมุ่งรักษามาร์เก็ตแชร์ใหญ่ที่มีอยู่ต่อไป

หลังจากนี้ บริษัทจะศึกษาตลาดเพื่อเตรียมเปิดแบรนด์ใหม่ ภายในหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ตั้งใหม่ แต่อาจเป็นการซื้อธุรกิจแบรนด์เข้ามาเติมพอร์ตโฟลิโอ

มีการนำ Beauty Tech มาเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเทคโนโลยีความงามแก่ผู้บริโภค ตลอดปีนี้

ตลาดความงาม ต้องโตแบบยั่งยืน

และรับเทรนด์ความยั่งยืนด้วยการออกแพ็กเกจจิ้งของแบรนด์ต่าง ๆ ของบริษัท ให้สามารถใช้รีฟิลได้ โดยดำเนินการแล้วในผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำหอม และมุ่ง Educate ผู้บริโภค ก่อนขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป

ทั้งบริษัทยังตระหนักดีว่าการจะบรรลุความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง จึงมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรรอบด้าน เสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร

รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน และยกระดับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อส่งเสริมให้ทีมงานได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีความสุขในการทำงาน

อย่าง ลอรีอัล ประเทศไทย ก็เริ่มต้นปี 2567 ด้วยการเปิด “Baan Beauté” (บ้านโบเต้) สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และศูนย์กลางของลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ทำงานร่วมกันของพนักงาน

ตลอดจนจะดำเนินธุรกิจเพื่อสานต่อพันธสัญญาด้านความยั่งยืน “L’Oréal for the Future” ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม อย่างต่อเนื่อง


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online