ตลาดมันฝรั่งทอดหมื่นล้าน เลย์ยังเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดที่ครองส่วนแบ่งเกินกว่าครึ่งและทิ้งห่างจากคู่แข่ง ในปี 2566 ตลาดมันฝรั่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท

 

ท่ามกลางสภาวะโลกร้อน มีผลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญ  ลานีญาที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้นทุกวัน ส่งผลต่อการเพาะปลูก สภาพดินและสภาพอากาศในการปลูกมันฝรั่ง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตใช้มันฝรั่งที่ปลูกในไทยมากกว่า 70% แต่ปัญหาปุ๋ยที่ปรับราคาเพิ่มเท่าตัว ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนสูง ต้องลดการบำรุง จึงทำให้ผลผลิตน้อยลง

 

คุณสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจอาหารอินโดจีน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตเลย์ มันฝรั่งทอดกรอบ เผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยสามารถป้อนมันฝรั่งเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้ปีละกว่า 100,000 ตัน ภายใต้การส่งเสริมการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน และการทำงานร่วมกันของเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เกษตรกรและภาครัฐ

 

โดยใช้แนวปฏิบัติของโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Farming Program หรือ SFP) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของเป๊ปซี่โค มาปรับใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกจากต่างประเทศ อาทิ การอนุรักษ์น้ำ การดูแลสุขภาพดิน การจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ บรรเทาภาระต้นทุนไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกรไทย

 

โครงการส่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เป๊ปซี่โคเรียกว่า “PepsiCo Positive หรือ pep+ (เป๊ป โพสิทีฟ)” องค์กรมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับโลกในทุกมิติ

 

บริษัทให้ความสำคัญต่อเกษตรกร เพราะเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2538

 

เป็นเวลากว่าสามทศวรรษ ที่บริษัทมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาสายพันธุ์คุณภาพเหมาะกับสภาพอากาศของไทย และเนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชล้มลุกที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24 – 26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนอยู่ระหว่าง 14-18 องศาเซลเซียส จึงสามารถปลูกมันฝรั่งได้มากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย

 

ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งใน 10 จังหวัดของไทย รวมแล้วกว่า 38,000 ไร่ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สร้างรายได้โดยรวมในปัจจุบันได้ถึง ปีละ 1,500 ล้านบาทให้แก่เกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญา 5,800 ราย ตั้งเป้าช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 15% ภายในปี 2573

 

อย่างไรก็ดี สภาวะภูมิอากาศที่มีความผันผวนรุนแรง บริษัทต้องวางแผนจัดการวัตถุดิบไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อลดความเสี่ยงวัตถุดิบ ให้เพียงพอกับปริมาณผลิตและความต้องการภายในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตซึ่งอยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน

 

ขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์เชิงบวก “PepsiCo Positive หรือ pep+” ประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่

  1. Positive Agriculture :​ การเกษตรเชิงบวก

คือ แนวทางในการฟื้นฟูผืนดินในพื้นที่ 7 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณเกือบ 18 ล้านไร่ โดยการจัดหาพืชผลกลุ่มตระกูลถั่วงา ธัญพืช ผักผลไม้ ที่สามารถนำมาปลูกเพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินได้อย่างสมดุลย์ 100% เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรและคนในชุมชนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ อันจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่างถาวร นําไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) อย่างน้อย 3 ล้านตันภายในปี 2573 จะช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของกว่า 250,000 คน และเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับสตรีในภาคการเกษตรด้วย

  1. Positive Choices :​​ ทางเลือกเชิงบวก

คือ แนวทางส่งเสริมคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่โค ได้แก่ การลดความหวานจากน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ลดปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวในอาหารสำเร็จรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค

 

ซึ่ง 70% ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปเป๊ปซี่โค  สามารถบรรลุระดับปริมาณโซเดียมเป้าหมายสำหรับปี 2573 ที่แนะนำโดยองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้แล้ว

 

  1. Positive Value Chain : ​ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก

คือ แนวทางสร้างห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียนวัตถุดิบ ส่งเสริมการรีไซเคิล นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emissions) ภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 เพียงปีเดียว โรงงานทั้งสองแห่งที่ลำพูนและโรจนะได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% แล้ว และยังลดการใช้ทรัพยากรน้ำรวม 15% จากอัตราปกติ และในส่วนบรรจุภัณฑ์นั้น ก็สามารถดึงกลับมาได้กว่า10% ในปี 2566 บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการดึงกลับให้ได้ 30% ในปี 2568 ด้วย

 

นอกจากความร่วมมือกับเกษตรกรและภาครัฐ เป๊ปซี่โค ยังได้ขยายความร่วมมือและการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการ “Greenhouse Accelerator” เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาต่อยอดกลยุทธ์เชิงบวก หรือ pep+ อย่างเป็นรูปธรรม

 

คุสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการ Greenhouse Accelerator เป็นโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของเป๊ปซี่โค ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

โดยในปี 2567 ได้ขยายหัวข้อใหม่ครอบคลุมเรื่อง“เกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และในปีนี้มีสตาร์ทอัพหลายประเทศรวมถึงสตาร์ทอัพจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ

สำหรับโครงการ Greenhouse Accelerator ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและยั่งยืน โดยโครงการเริ่มต้นขึ้นที่ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกาเหนือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และมาถึงเอเชียแปซิฟิกในปี 2566

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเกิดใหม่จากโครงการนี้ 86 แบรนด์ มียอดขายเติบโตรวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 700 ล้านบาท

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online