“แม้โรคภัยไข้เจ็บจะหายไป

แต่มันกลับทำให้โลกใบใหญ่ของเรา

มีภาระมากขึ้นในทุก ๆ วัน”

ด้วยเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้อง ‘ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง’

หนึ่งในวิธีการทำให้ขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งก็คือการ Recycle แต่ด้วยภาพที่หลาย ๆ คนมักจะเหมารวมว่ามันคือ ขยะติดเชื้อ กระบวน Recycle จึงมักไม่ถูกใช้ไปกับขยะในโรงพยาบาลสักเท่าไหร่

แต่ในความเป็นจริงแล้วขยะในโรงพยาบาลนั้นยังได้ถูกแบ่งแยกย่อยเป็นประเภทลงไปอีก มีทั้งแบบปนเปื้อน และไม่ปนเปื้อน ซึ่งอย่างหลังมีประมาณมากถึง 200,000-250,000 ชิ้นต่อเดือน ต่อโรงพยาบาล (สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่) ที่เกิดจากห่อบรรจุเข็มฉีดยา ผ้าห่ออุปกรณ์ผ่าตัด หรือแม้กระทั่งขวดน้ำเกลือ

เป็นข้อมูล Insight ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

และด้วย Insight ที่เราได้เล่าให้ทุกคนได้ฟังในข้างต้นนี้ จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์Upcycling Hospital Waste หรือ การพลิกฟื้นขยะทางการแพทย์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ ที่เกิดมาจากไอเดียของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ Osisu

เห็นตำแหน่งที่และหน้าที่การงานที่ยืดยาวแบบนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องที่เรากำลังจะเล่าจะเป็นอะไรที่น่าเบื่อ เพราะถ้าได้เลื่อนลงมาอ่านเรื่อย ๆ คุณจะพบกับแนวคิดที่ทั้งสนุกและฉลาด

จนอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากจะทำอะไรเพื่อสังคมอย่างสร้างสรรค์ แถมยังสามารถทำให้มันเป็นธุรกิจที่มีรายได้กลับมาให้กับตัวเอง อย่างที่ดร.สิงห์ทำบ้างก็ได้

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสิ่งที่ใคร ๆ ก็มองว่าเป็นเชื้อโรคให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

Upcycling Hospital Waste ไม่ใช่โปรเจกต์แรกที่ดร.สิงห์นำสิ่งที่หลาย ๆ คนมองข้ามอย่างขยะกลับมาทำให้ใช้งานได้ใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เขาคือผู้ที่นำวัสดุเหลือใช้จากแหล่งต่าง ๆ มาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายใต้แบรนด์ที่ใช้ชื่อว่า Osisu

อาจจะคิดว่า Osisu ก็คงเป็นเหมือนกับแบรนด์ทั่ว ๆ ไปที่ครีเอเตอร์มีไฟมาทำโปรดักท์ในคอนเซปต์รักษ์โลก

แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเพราะ Osisu ออกแบบตั้งแต่ Process ในการผลิต ที่ไม่ได้แค่มิตรกับโลกแค่วัสดุตั้งต้น แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก็ยังต้องประหยัดน้ำ ประหยัดเวลา หรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่ต้องใช้ตามไปด้วย

แพงอย่างเดียวก็คือไอเดียและการวางแผนที่ดร.สิงห์ได้ใส่ลงไป เพื่อให้มันกลายเป็น Role Model ของการผลิตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

และถึง Osisu จะได้รับรางวัลการันตีคุณภาพทางความคิดจากทั้งในไทยและต่างประเทศไปมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ดร.สิงห์หยุดความคิดที่จะนำขยะกลับมาใช้ใหม่ จนนำมาสู่โปรเจกต์ Upcycling Hospital Waste ที่เรากำลังจะเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันต่อไป

ทางออกของขยะในโรงพยาบาล สู่โปรดักท์ที่กลับมาช่วยรักษาใจให้คนไข้อีกที

อย่างที่เราได้เล่าไปแล้วในตอนต้นว่าขยะแบบไม่ปนเปื้อนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีมากถึง 200,000-250,000 ต่อเดือน ต่อโรงพยาบาล ถ้ามองแบบเผิน ๆ ปลายทางของมันก็คงหนีไม่พ้นถังขยะ ที่ผลักภาระให้กับคนที่มีหน้าที่ในการกำจัดต่อไป

แต่ถ้ามองแบบดร.สิงห์ ปลายทางของมันก็คือการนำมันกลับมาช่วยรักษาทางใจให้กับผู้ป่วยอีกที ไม่ว่าจะเป็นชุดเพ้นท์ผ้า เก้าอี้ที่นั่ง ตุ๊กตา หรือแม้แต่นำกลับมาเป็นอุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ในโรงพยาบาลอย่างหมอนรองคอทำฟันและกระเป๋าข้างเตียง

นอกจากนั้นแล้วก็ยังต่อยอดไปยังสินค้าเพื่อจำหน่าย ที่สามารถสร้างรายได้ Turn กลับมา ถือเป็น Social Enterprise ที่สังคมอยู่ได้ ธุรกิจอยู่รอดอย่างแท้จริง

ถ้าไม่บอกก็แทบไม่รู้เลยว่าโปรดักท์เหล่านี้มีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งที่หลายคนมองข้ามอย่าง ‘ขยะ’

แก้ปัญหาความรู้สึกของคนที่รู้สึกว่าโปรดักท์พวกนี้ยังมีเชื้อโรคปนเปื้อนยังไง

ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดใจที่จะกล้านำโปรดักท์ที่ทำมาจากขยะในโรงพยาบาลไปใช้ต่อ ดร.สิงห์เลยเลือกจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการ ‘อธิบาย’ ผ่านเวทีเสวนาต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร ว่าขยะต่าง ๆ ที่ได้นำมา upcycling นี้จะต้องผ่านกระบวนการที่กำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไป และทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นสิ่งของที่ใช้ภายนอก จึงมั่นใจได้ว่าโปรดักท์เหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้

เป้าหมายต่อไปไม่ใช่ขายโปรดักท์แล้วหวังกำไรมาก ๆ แต่คือการลดปริมาณขยะฝังกลบให้ลดน้อยลง

แม้สิ่งที่ดร.สิงห์ทำจะเป็น Social Enterprise ที่สามารถทำเงินในระยะยาว และยังเป็น Business Model ที่นำไปต่อยอดนอกประเทศได้ แต่เป้าหมายต่อไปของเขากลับเป็นอะไรที่มีค่ามากกว่าทำกำไร

นั่นก็คือความหวังที่ จะสร้างเศรษฐกิจแบบวงกลม คือนำขยะจากอุตสาหกรรมนึง มาเป็นวัตถุดิบหลักให้อีกอุตสาหกรรมได้ใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างยั่งยืนและไม่รู้จบ ซึ่งเศรษฐกิจแบบนี้จะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบให้กับโลกของเราได้อีกมาก

ก็อย่างที่ได้บอกไปว่าสิ่งที่ดร.สิงห์ทำเป็นหลักไม่ใช่การขายโปรดักท์ที่ทำมาจากขยะเหลือใช้

แต่ใช้โปรดักท์เหล่านั้นเป็นตัวกลางในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพของ upcycling, เป็น Role Model ให้คนอื่น ๆ นำไปทำต่ออย่างเข้าใจได้ง่ายขึ้น

เพราะเพียงแค่ดร.สิงห์คนเดียว คงจะช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบได้ไม่มากเท่ากับการร่วมมือกันของหลาย ๆ คน หลาย ๆ ภาคธุรกิจ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online