ปี 2018 ที่ผ่านมา CPF มีรายได้จากการขายเกือบๆ 5.42 แสนล้านบาท

83% มาจากธุรกิจเลี้ยงสัตว์และขายอาหารสัตว์

ธุรกิจอาหารมีรายได้น้อยสุดคือ 8.99 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 17% เท่านั้น

ธุรกิจอาหารของ CPF นอกจาก 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ อาหารพร้อมรับประทานและอาหารปรุงสุกที่เราคุ้นเคยอย่างดีผ่านร้าน 7-Eleven ที่มีมากถึง 11,000 สาขา และ CP Fresh Mart 600 สาขา เป็นต้น

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ยังมีร้านอาหารในมือตัวเองถึง 7 ร้าน

แนวคิดการทำร้านอาหารของเจ้าสัวธนินท์ เกือบทั้งหมดจะเป็น Mass Food (ยกเว้นร้าน HARBOUR คือ Premium Buffet)

และร้านอาหาร Mass ของเจ้าสัวธนินท์ส่วนใหญ่จะมีเมนูราคาเริ่มต้น 40-50 บาท/จาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง

อีกทั้งใน 7 ร้านอาหารในมือนั้นมีถึง 4 ร้านที่เน้นขับเคลื่อนด้วยระบบแฟรนไชส์

แถมส่วนใหญ่เกือบทุกร้านจะเน้นเมนูอาหาร ไก่, เป็ด, หมู, กุ้ง ซึ่ง CPF มีฟาร์มเพาะเลี้ยงเป็นของตัวเอง

กลายเป็นข้อได้เปรียบของ CPF ทันทีเมื่อตัวเองเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ ก็ย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งในธุรกิจร้านอาหาร

เรียกว่า CPF มีครบทุกสายน้ำในการทำธุรกิจอาหาร

ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์-กลางน้ำ คือ การควบคุมมาตรฐานสัตว์เพื่อมาใช้แปรรูป-ปลายน้ำ คือ ช่องทางการขายทั้งร้านสะดวกซื้อจนถึงร้านอาหาร

ทีนี้เรามาสรุป 7 ร้านอาหารของเจ้าสัวธนินท์ ว่าแต่ละร้านมีแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างไร

5 ดาว: เปิดบริการปีแรกด้วยชื่อ “ไก่ย่าง 5 ดาว” ในปี พ.ศ. 2528 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “5 ดาว”

เหตุผลคือเริ่มที่จะไม่ขายแค่เมนูไก่ย่างอย่างเดียว แต่เริ่มขยับไปขาย ข้าวมันไก่ทั้งแบบต้มและทอด, ไส้กรอก, เบอร์เกอร์ปลา เป็นต้น

วิธีการเพิ่มเมนูอาหาร นอกจากจะทำให้รายได้แต่ละสาขาเพิ่มขึ้นแล้วนั้น ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการขายสาขาแฟรนไชส์ได้อย่างมหาศาล

โดยปัจจุบันมี 6,000 สาขา โดยแบ่งร้านเป็น 2 แบบ คือ คีออส พื้นที่ 10-20 ตารางเมตร และแบบ Restaurants พื้นที่ 21-50 ตารางเมตร

Chester’s: จากสาขาแรกที่มาบุญครองในปี 2531 มาวันนี้ Chester’s ร้านอาหาร QSR ภายใต้สังกัด CPF มีสาขาเกือบ 200 สาขา

แต่ด้วยการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงและเกิดร้านอาหาร QSR ประเภทไก่ มากมายอีกทั้งรายใหญ่อย่าง KFC เองก็แข็งแกร่งและมีมากถึงกว่า 600 สาขา

ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา Chester’s ต้องพบกับคำว่าขาดทุนต่อเนื่อง

เป็ดย่าง เจ้าสัว: เมนู “เป็ดย่าง” หลายคนมองว่าเป็นเมนูอาหารที่ราคาแพง CPF ของเจ้าสัวธนินท์เลยอาศัยช่องว่างนี้ทำให้ “เป็ดย่าง” กลายเป็น Mass Food พร้อมกับนำสูตรลับจากฮ่องกงมาปรุงแต่งรสชาติเป็ดย่าง

นอกจากเมนูที่เกี่ยวกับเป็ดย่างแล้วนั้นยังมีการเสิร์ฟ ซาลาเปาลาวา, ขนมจีบ พร้อมกับมีขนาดร้านให้เลือก 3 ขนาดตั้งแต่ 9-50 ตารางเมตร

โดยร้านนี้จะเน้นธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วยแนวคิด “ลงทุนน้อย เป็นนายตัวเอง กำไรจับต้องได้”

CP Food World: เป็นโมเดลศูนย์อาหารที่ไม่ได้จำกัดแค่ร้านและเมนูของ CPF อย่างเดียวแต่ยังเปิดกว้างให้ร้านอาหาร SME เข้ามาร่วมในพื้นที่ได้ โดยโลเคชั่นสาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ CP Food World ไม่ได้จำกัดตัวเองขายแค่หน้าร้านอย่างเดียว แต่ยังรับจัดเลี้ยงตามงานต่างๆ และยังมีบริการอาหารให้แก่ผู้ป่วยในหลายๆ โรงพยาบาล

CP Kitchen: เน้นรูปแบบอาหารจานด่วนเมนูง่ายๆ อย่าง ปอเปี๊ยะทอด, เกี๊ยวต้มยำ, กะเพราหมูคุโรบุตะ เป็นต้น และหากสังเกตเมนูร้านนี้จะเป็นการนำอาหาร RTE และ อาหารปรุงสุกของ CPF มาดัดแปลงเติมแต่งรสชาติพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้า

ซึ่งเป็นวิธีคิดการเพิ่มมูลค่าอาหารของ CPF นั้นเอง

ก.ไก่ อร่อย: หลายคนอาจไม่รู้จักร้านนี้ และก็ยังไม่มีประวัติแน่ชัดว่าร้านนี้เริ่มต้นสาขาแรกตอนไหน จะมีแต่ข้อมูลล่าสุดจากเพจของร้านเอง ที่เพิ่งจะเปิดสาขาที่ 6 ในปั๊ม ปตท. ศรีวารีสแควร์ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน

ที่น่าสนใจคือโมเดลแฟรนไชส์ร้านนี้จะแตกต่างจากร้าน “5 ดาว” และ “ร้านเป็ดย่าง เจ้าสัว” เพราะร้านจะไม่มีขนาดเล็กๆ หรือที่เรียกว่า คีออส แต่จะเป็นร้านที่มีขนาดพื้นที่เริ่มต้น 30-40 ตารางเมตร มีพื้นที่รองรับให้ลูกค้านั่งรับประทาน

เมนูอาหารจะเน้นที่มีวัตถุดิบไก่เป็นหลักทั้งแบบทอด และย่าง อีกทั้งแต่ละเมนูมีความใกล้เคียงกับร้านอาหาร QSR

HARBOUR: เป็นร้านอาหาร Premium Buffet เพียงร้านเดียวที่อยู่ในมือเจ้าสัวธนินท์

โดยร้านนี้เกิดจากการที่ CPF ร่วมทุนกับบริษัท ไห่หลายกรุ๊ป จัดตั้งบริษัทในเครือนาม บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท

เริ่มต้นสาขาแรกที่ไอคอน สยาม ด้วยราคาขายเริ่มต้นคนละ 799 บาท พร้อมกับในช่วงเริ่มต้นเปิดร้านใช้โปรโมชั่นมา 4 จ่าย 3 เพื่อกระตุ้นให้คนรู้จักแบรนด์และให้ลูกค้ามาทดลองความอร่อย

ขณะที่แผนการขยายสาขานั้นภายใน 5 ปีต้องมี 5 สาขาพร้อมกับมียอดขาย 1,000 ล้านบาท



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online