ส่วนแบ่งตลาดสายการบินโลว์คอสต์ ใครคือเบอร์ 1 ? พร้อมบทวิเคราะห์ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ ณ เวลานี้แข่งกันที่อะไร
ธุรกิจการบินสัญชาติไทยปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท

มีอัตราเติบโตชะลอตัวเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจโลกและไทย ซึ่งทำให้ความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยชะลอตามไปด้วย

และหากถามถึงชื่อสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์” ที่คุ้นหู บินอยู่บนน่านฟ้าคงต้องมีชื่อ แอร์เอเชีย”นกแอร์”ไทยไลอ้อนแอร์”ไทยสมายล์” เป็นแน่

และลองทายกันดูว่าชื่อสายการบินที่กล่าวไปข้างต้นนี้สายการบินไหนครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่ากัน

ข้อมูลจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT พบว่า

ปี 2561 มีผู้โดยสารใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์สัญชาติไทย 72 ล้านคน โดยสายการบินที่ครองมาร์เก็ตแชร์การเดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์ทั้งหมดสูงสุดคือ

ไทยแอร์เอเชีย” 45%

อันดับ 2 คือ ไทยไลอ้อนแอร์” 24%

อันดับ 3 คือ นกแอร์” 21%

และหากเทียบฟอร์มและกลยุทธ์ทั้ง 3 สายการบินนี้ “ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์-นกแอร์”

Marketeer มองว่า

1. ทุกสายการบินแข่งขันกันดึงลูกค้าด้วยโปรโมชั่น และราคา จะเห็นว่าแต่ละสายการบินที่เป็นเจ้าตลาดทั้งสามรายนี้ต่างขยันทำโปรโมชั่นออกมากันจนทำให้เงินในกระเป๋าผู้บริโภคสั่นอยู่ไม่น้อย เพราะแทบจะออกโปรฯ กันเดือนเว้นเดือน ทุกเทศกาล หรือจะทำโปรฯ แบบแฟลชเซลที่ทำให้คนที่จองตั๋วก่อนเสียใจกับราคาค่าตั๋วก็มีมาแล้ว

จากทั้ง 3 สายการบินนี้มองว่า “ไทยแอร์เอเชีย” กินขาดในเรื่องการทำโปรโมชั่นราคา ยกตัวอย่างโปร 0 บาท ที่เสียแค่เพียงค่าภาษีสนามบิน และค่าธรรมเนียมเท่านั้น ลองคำนวณแล้วดวงดีกดไวได้ตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่าการรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้ามื้อหนึ่งเสียอีก

2. ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกใช้บริการสายการบินที่มีตารางเที่ยวบินในเวลาที่ต้องการ ยิ่งมีเที่ยวบินเยอะก็เป็นยิ่งช้อยส์แรกๆ ของผู้บริโภคเสมอ เพราะแม้ว่าราคาของตั๋วเครื่องบินจะตอบโจทย์ แต่หากไม่มีไฟลท์ในเวลาที่ต้องการ สายการบินนั้นๆ ก็อาจถูกมองข้ามได้

จากการสำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ทั้ง 3 สายการบินพบว่า

สายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้บริการเส้นทางในประเทศจำนวน 35 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 62 เส้นทาง

สายการบินนกแอร์ ให้บริการเส้นทางในประเทศจำนวน 25 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 4 เส้นทาง

สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ให้บริการเส้นทางในประเทศจำนวน 14 เส้นทาง และเส้นทางต่างประเทศอีก 30 เส้นทาง

จำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์ของสายการบินที่ให้บริการเส้นทางในประเทศในไตรมาส 1 ปี’62

Thai AirAsia 3,332 เที่ยวบิน
Nok Air 2,172 เที่ยวบิน
Bangkok Airways 1,568 เที่ยวบิน
Thai Lion Air 1,308 เที่ยวบิน
Thai Smile 1,050 เที่ยวบิน

ที่มา: สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อ้างอิงจาก CAPA – Center for Aviation

3. การบริการ และ “ความตรงเวลา” ที่ไม่ดีเลย์ และไม่เทลูกค้า คือ หนึ่งในปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินเลือกเดินทางกับสายการบินหนึ่งๆ เพราะหากโดนเท ยกเลิกไฟลท์แบบกะทันหัน สิ่งที่วางแผนไว้หลังจากที่คิดว่าจะได้เดินทางตามแพลนคงพังไม่เป็นท่าแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจะเลือกใช้สายการบินไหน ด้วยเหตุผลอะไร คงต้องให้เจ้าตัวเป็นคนตัดสินเอาเอง

สถิติปริมาณจราจรทางอากาศ ช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-พ.ค. 2562)

– ปริมาณผู้โดยสารโลว์คอสต์แอร์ไลน์ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 48,742,380 คน เติบโต 5.37% แบ่งออกเป็น

ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20,047,772 คน เติบโต 14.55%

และผู้โดยสารในประเทศ 28,694,608 คน เติบโต -0.22%

– เที่ยวบินโลว์คอสต์ มีจำนวนรวม 312,835 เที่ยวบิน เติบโต 7.21% แบ่งออกเป็น

เที่ยวบินระหว่างประเทศ 121,736 เที่ยวบิน เติบโต 17.76%%

และเที่ยวบินในประเทศ 191,099 เที่ยวบิน เติบโต 1.43%

 

ที่มา: บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online