แฟนต้า เปิดประวัติ แฟนต้า น้ำซ่าหลากสีแบรนด์ใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นจากไอเดียกู้วิกฤติ
ต่อให้พยายามเลี่ยงแค่ไหนหรือเตรียมพร้อมไว้ดีอย่างไร ธุรกิจก็อาจพบจุดสะดุดได้ ยิ่งถ้าเกิดจากปัจจัยภายนอก คงไม่ง่ายกว่าจะฝ่าไปได้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อทั้งระบบ แต่หากประคองจนรอดมาได้ อาจเป็นการออกตัวครั้งใหม่ที่สดใสกว่าเก่า เหมือนกับ Fanta ที่เปลี่ยนความขาดแคลนช่วงสงครามให้เป็นโอกาสสร้างธุรกิจ
ความน่าสนใจของแบรนด์อายุเกือบ 8 ทศวรรษยังอยู่ที่ นี่คือน้ำอัดลมหลากสีเบอร์ต้นๆ ในตลาดมาอย่างยาวนาน มีเกือบร้อยรสชาติ และเป็นการตอกย้ำความเป็นคู่ปรับของ Coca-Cola กับ Pepsi อีกด้วย
แฟนต้า เปลี่ยนวิกฤตช่วงสงครามเป็นโอกาสสร้างแบรนด์
ประวัติของ Fanta นั้นผูกติดอยู่กับ Coca-Cola สงครามโลกครั้งที่ 2 และเยอรมนี เริ่มจากการเป็นโรงงานใหญ่ของ Coca-Cola ในเยอรมนี ซึ่งผลิตน้ำอัดลมชื่อเดียวกันป้อนตลาดเยอรมนีรวมถึงหลายประเทศในยุโรป มาตั้งแต่ปี 1929
ตำแหน่งผู้นำตลาดของแบรนด์น้ำดำสัญชาติอเมริกันในชาติมหาอำนาจยุโรปขณะนั้นถือว่ามั่นคงมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของทั้งประชาชนและคนในรัฐบาลพรรคนาซี
ความนิยมของ Cola-Cola ในเยอรมนีถึงขีดสุดในยุค 30 ด้วยการเป็นสปอนเซอร์หลักของโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุง เบอร์ลิน ปี 1936 ซึ่งนักกีฬาชาติเจ้าภาพกวาดเหรียญทองได้อย่างมากมาย
ทว่าแนวโน้มการเข้าสู่สงครามโลกของเยอรมนีในฐานะแกนนำฝ่ายอักษะ ก็ทยอยส่งผลต่อ Coca-Cola เริ่มจากการถูกใส่ร้ายว่าเป็นบริษัทที่หนึ่งในผู้บริหารเป็นชาวยิว ซึ่งถูกชาวเยอรมันต่อต้านอย่างหนักฉุดให้ยอดขายตก
ฝันร้ายของ Coca-Cola มาถึงในปี 1940 เมื่อเยอรมนีกับสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามเต็มตัว และต่างมีฐานะเป็นแกนนำของฝ่ายตน รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนาซีจึงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทั้งหมดจากสหรัฐฯ รวมถึงน้ำเชื่อมจากบริษัทแม่ของ Coca-Cola ด้วย
Max Keith ผู้บริหารของ Coca-Cola ในเยอรมนีซึ่งมีโรงงานอยู่ในความดูแลมากมาย ได้ตัดสินใจผสมน้ำเชื่อมขึ้นมาใหม่ จากหางนม แอปเปิ้ล และน้ำตาลจากหัวบีต (Beet Sugar) ซึ่งนี่เองถือเป็นปีแรกที่ Fanta เริ่มกิจการ
น้ำอัดลมแบรนด์น้องใหม่สมัยสงครามโลก ซึ่งชื่อกร่อนมาจากคำว่า Fantasie ที่หมายถึงจินตนาการในภาษาเยอรมัน หลัง Keith บอกกับหนึ่งในฝ่ายขายว่า “ให้ลองใช้จินตนาการดูว่าจะใช้ชื่ออะไร” ไม่ได้แค่อยู่รอดได้ในช่วงสงคราม แต่ยังทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย
เพราะรสชาติดีกว่าคู่แข่งทั้งหมดถึงขนาดที่ว่าแม่บ้านนำไปใช้ใส่ในซุปเพื่อทดแทนความหวานของน้ำตาลที่เป็นของหายากในเวลานั้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง Coca-Cola เยอรมันก็ต่อติดกับบริษัทแม่ในสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่านอกจากกลับมาผลิต Cola-Cola ตามเดิมแล้ว Fanta ก็ยังเดินเครื่องผลิตต่อไป โดยถัดมาช่วงกลางยุค 50 Cola-Cola ส่ง Fanta รสส้มเป็นทัพหน้าในการรุกตลาดน้ำอัดลมหลากสี
ซึ่งมีต้นแบบและผลิตครั้งแรกจากส้มในเกาะ Sicily ของอิตาลี เพื่อสู้กับ Pepsi ซึ่งภายหลังส่ง Miranda ตามออกมา
ปัจจุบัน Fanta เป็นแบรนด์น้ำอัดลมหลากสีเบอร์ต้นๆ ของโลก ซึ่งแทบไม่เคยหลุดจาก Top 10 เลย โดยเป็นแบรนด์เครื่องดื่มแบบไร้แอลกอฮอล์ อันดับ 9 ของโลก มูลค่าอยู่ที่ 3,548 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 109,000 ล้านบาท) ทิ้งห่าง Miranda ที่ไม่เคยขึ้นถึง Top 10 เลย โดยปีนี้ตกจากอันดับ 18 ลงไป 20
ความดังในญี่ปุ่นและประวัติศาสตร์ร่วมช่วงสงคราม
Fanta มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลก ซึ่งหากนำรสชาติของทุกประเทศมานับรวมกันจะมีมากถึงเกือบ 100 รสชาติ โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ Fanta ประสบความสำเร็จในการทำตลาด ด้วยรสชาติมากมายหลายสิบรส นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดนำรสชาติไปผสมในขนมขบเคี้ยวอีกด้วย
อีกประเด็นน่าสนใจของ Fanta ที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ดังในธุรกิจอื่นด้วยคือ ความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลนาซีเยอรมันช่วงสงคราม โดยขณะที่ Fanta เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตสมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจ Hugo Boss แบรนด์แฟชั่นหรูในปัจจุบัน เคยออกแบบและทำชุดทหารส่งให้กองทัพนาซี
ส่วนแบรนด์รถ Volkswagen ก็ตั้งต้นธุรกิจจากนโยบายของฮิตเลอร์ ที่อยากให้ชาวเยอรมันมีรถสมรรถนะดี ราคาเข้าถึงได้ ตรงตามความหมายของชื่อที่ว่า “รถของมวลชน”/timeline.fanta, brandfinance, wikipedia
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



