เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชัวรี เอาต์เล็ต แห่งแรกของไทยที่เกิดจากการจับมือกันของ ซีพีเอ็น และ มิตซูบิชิ เอสเตท
นับเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม ของการเปิดตัวลักชัวรี เอาต์เล็ตแห่งแรกของไทยอย่าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” มูลค่า 5,000 ล้านบาท ภายใต้ชายคาของเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น
ที่เปิดดำเนินการได้เกือบครบ 100% มีทราฟฟิกคนใช้บริการในเอาต์เล็ต 17,000 คนต่อวัน ตามเป้าหมายที่เคยวางไว้ตั้งแต่ตอนแรก
ความคืบหน้าครั้งใหญ่ในวันนี้คือการที่ซีพีเอ็นออกมาประกาศร่วมทุนกับยักษ์อสังหาริมทรัพย์จากญี่ปุ่นอย่าง “มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย” หนึ่งในบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท จำกัด (มหาชน)
โดย “มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย” ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในเซ็นทรัล วิลเลจ สัดส่วน 30%
‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บอกเหตุผลที่ซีพีเอ็นตัดสินใจเลือกจับมือกับ “มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย” แม้จะมีบริษัทรายอื่นติดต่อเข้ามาขอร่วมทุนด้วยอีก 3 รายนั้น เพราะมิตซูบิชิ เอสเตท เอเชียนั้นมีความชำนาญและเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรในประเทศญี่ปุ่น
แล้ว “มิตซูบิชิ เอสเตท” นั้นครบวงจรและใหญ่แค่ไหน
- มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว
- เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว พ.ศ. 2496 ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ market cap ที่ 913 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 26.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มีรายได้รวมกว่า 263 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ดำเนินงานครอบคลุมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโครงการที่อยู่อาศัย ธุรกิจโครงการสำนักงาน ธุรกิจศูนย์การค้า และธุรกิจโรงแรม
- มีการทำธุรกิจในต่างประเทศ 7 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย
- ส่วนธุรกิจเอาต์เล็ตนั้นมีการพัฒนาไปกว่า 9 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น อาทิ โกเทมบะ ริงกุ ชิซุย
แล้วดีลในครั้งนี้ใครได้อะไรบ้าง
แม้กำไรที่ได้มาหลังจากนี้จะลดลง แต่ไม่ได้ลดลงจากยอดขายน้อย ที่ลดลงเพราะต้องแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นใหม่
แต่ปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ซีพีเอ็นยังคงถือหุ้นใหญ่ที่ 70% สิ่งที่จะมาเสริมให้ ’เซ็นทรัล วิลเลจ’ แข็งแกร่งคือ
1. การนำเอา Know-How และประสบการณ์ของมิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย ที่เป็นบริษัทระดับโลกเช่นกัน มาร่วมพัฒนาการบริหารงานและการให้บริการให้ดี
2. ส่งเสริมจุดแข็งในการนำแบรนด์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมมาเสริมให้เซ็นทรัล วิลเลจ มีแบรนด์ครบครัน
3. ช่วยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยมาช้อปปิ้งที่โครงการเพิ่มขึ้น
ส่วนฝั่ง “มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย” นอกจากจะเห็นชัดแล้วว่าจะได้กำไรจากการเข้ามาถือหุ้น ยูทาโร โยซุซูกิ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย ยังระบุว่า นี่เป็นการรุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเปิดพอร์ตโฟลิโอใหม่รุกธุรกิจเอาต์เล็ตครั้งแรกในไทย
ซึ่งมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มีอัตราตัวเลขเติบโตเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมั่นในความเชี่ยวชาญในความเป็นผู้นำการพัฒนาศูนย์การค้าของซีพีเอ็น
ซึ่งสิ่งที่จะทำร่วมกันหลังจากดีลในครั้งนี้ คือการที่มิตซูบิชิฯ จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการวางเลย์เอาต์ในพื้นที่เฟสสองที่ซีพีเอ็นกำลังศึกษาหาความเหมาะสม
โดยจะขยายพื้นที่เฟสสองเพิ่มอีก 30 ไร่ จากที่ดินผืนเดิมที่มี 100 ไร่ และใช้ไปในเฟสแรก 70 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมทัพอีก 50-60 แบรนด์
ปัจจุบัน เซ็นทรัล วิลเลจ เปิดไปแล้ว 95% และจะเปิดครบ 100% ในเดือน ธ.ค. นี้
และคงต้องจับตาดูต่อไปว่าหลังจากดีลนี้เริ่มขึ้นแล้ว จะมีดีลใหม่เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่ เพราะยูทาโร แย้มว่าไม่ได้สนใจเฉพาะโครงการเอาต์เล็ตเท่านั้น แต่ยังสนใจร่วมทุนกับซีพีเอ็นต่อในเรื่องของศูนย์การค้าและออฟฟิศบิลดิ้ง
- เอาต์เล็ตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของมิตซูบิชิ เอสเตท นั้นคือที่โกเทมบะ มีคนใช้บริการ 10 ล้านคนต่อปี
- ปัจจุบัน CPN บริหารจัดการศูนย์การค้า 34 แห่ง (อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 โครงการ, ต่างจังหวัด 18 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ) ศูนย์อาหาร 30 แห่ง อาคารสำนักงาน 7 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง และโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 9 โครงการ
- จำนวนคนเข้ามาใช้บริการเซ็นทรัล วิลเลจ ปัจจุบันอยู่ที่ 17,000 คนต่อวัน มีค่าใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยที่ 10,000-12,000 บาท ขณะที่สัดส่วนเป็นลูกค้าชาวไทย 65% และชาวต่างชาติ 35%
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



