ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จำนวนงานวิ่งที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายกับนักวิ่งที่เข้าร่วมงาน มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยทะลุ 1,000 รายการเป็นครั้งแรกในปี 2561

ในปี 2562 มีจำนวนถึง 1,872 รายการทั่วประเทศไทย ซึ่งจำนวนงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงการให้การตอบรับของผู้บริโภคหรือนักวิ่ง ทั้งกลุ่มนักวิ่งประจำที่มักเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อฝึกซ้อม/พัฒนาระยะการวิ่งของตนในสนามที่แตกต่าง และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง/ครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุด้วย

อีกด้านหนึ่งเมื่อนักวิ่งตอบรับมากขึ้น ฝั่งผู้จัดงานหรือเจ้าภาพก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย จากเดิมที่อาจจำกัดเพียงบางองค์กร ก็ขยายไปครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา

ทิศทางดังกล่าว สนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจรับจัดงานวิ่ง ขณะเดียวกันก็สร้างผลบวกต่อสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการวิ่งเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2563 จำนวนการจัดงานวิ่งอาจใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา หรืออยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 รายการ

ขณะที่มูลค่าธุรกิจรับจัดงานวิ่งในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท โดยนักวิ่งที่จะเข้าร่วมงานทั้งกว่า 1,800 รายการดังกล่าว น่าจะมีจำนวนราว 4-6 ล้านคน

โดยในปีนี้ ปัจจัยเฉพาะอย่างความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในไทยด้วย อาจมีผลกระทบให้ผู้จัดงานส่วนหนึ่งปรับแผนการจัดงานวิ่งในช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่นักวิ่งยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ผู้จัดงานน่าจะยังคงมีการจัดงานวิ่งไม่ต่างจากปีก่อนๆ หรืออาจเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เป็นจังหวะที่มักจะมีงานวิ่งมาก คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 43% ของจำนวนงานวิ่งทั้งหมดในแต่ละปี

โดยรวมทั้งปี กว่า 80% ของจำนวนงานวิ่งน่าจะยังคงกระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ขณะที่งานวิ่งในกรุงเทพฯ น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20%

นอกจากปัจจัยเฉพาะที่มีผลต่อบรรยากาศการจัดงานวิ่งและทำให้นักวิ่งคงจะมีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกเข้าร่วมงาน ทั้งสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และความกังวลต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจรับจัดงานวิ่งยังอาจเผชิญความท้าทายจากการดึงดูดฐานนักวิ่งที่มีกำลังซื้อให้ยังคงสนใจเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ไม่ง่าย ทั้งในกลุ่มนักวิ่งประจำ ที่คาดหวังจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

และกลุ่มนักวิ่งหน้าใหม่ที่มีกำลังซื้อและยินดีที่จะใช้จ่ายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในด้านการเดินทางและที่พักหากงานจัดในต่างจังหวัดด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีทางเลือกของการออกกำลังกายที่หลากหลายในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จำนวนงานและผู้จัดงานในประเทศก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการจัดงานวิ่งแต่ละงานอาจไม่มากเท่าในอดีต เพราะผู้จัดงานต้องพยายามสร้างจุดขายที่แตกต่างและอาจจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทั้งด้านเงินทุนและแรงงานมากขึ้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online