ย้อนดูวิกฤตโควิดทำให้บริษัทใหญ่ๆ เช่น Virgin Atlantic, Hertz และ JC Penney ล้มละลาย ส่วน Disney และ Shell ก็ขาดทุนหนักสุดในรอบหลายปี

นอกจากส่งผลอย่างรุนแรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพของคนทั่วโลกแล้ว วิกฤตโควิดยังเป็นฝันร้ายของหลายบริษัท จนช่วงที่การระบาดรุนแรงข่าวการล้มละลายและปลดพนักงานของบริษัทมากมายท่วมพื้นที่สื่อไปหมด โดยธุรกิจที่ป่วยหนักสุดจากวิกฤตครั้งนี้คือ สายการบิน บริษัทที่เกี่ยวกับการเดินทางทั้งหมด น้ำมัน อุตสาหกรรมบันเทิง ร้านอาหารและค้าปลีก

มาย้อนดูกันว่ามีบริษัทไหนบ้างที่อาการหนัก หรือทนพิษบาดแผลไม่ไหว จากวิกฤตครั้งนี้

 

Virgin Australia : สายการบินปีกหักในแดนจิงโจ้ ที่มหาเศรษฐีคนดังก็ช่วยไม่ได้

สายการบินทั่วโลกเริ่มร้อนๆ หนาวๆ และรู้สึกว่าต้องเตรียมรับแรงกระแทกจากวิกฤตโควิด ไม่ต่างจากการลงจอดแบบกระแทกพื้น เมื่อต้นมีนาคมที่ผ่านมา หลัง Flybe สายการบินในอังกฤษล้มละลาย ทั้งที่อยู่ไกลจากจีน ประเทศต้นตอการระบาดอย่างมาก

Virgin Australia 2 ล้มละลาย

ปลายมีนาคมพิษโควิดลามมาถึงออสเตรเลีย แม้ส่งผลต่อทั้ง Qantas และ Virgin Australia สองสายการบินใหญ่ของประเทศ แต่ทางรัฐบาลกลับ “อุ้ม” เฉพาะสายการบินแรก และปล่อยให้สายการบินหลังที่ Richard Branson มหาเศรษฐีชาวอังกฤษหนึ่งในผู้ถือหุ้น ต้องล้มละลาย

BransonRichard Branson

การล้มละลายของ Virgin Australia เป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ช่วงโควิดระบาดหนัก ทั้งจากการ ‘อกหัก’ ของ Richard Branson หลังรัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุมัติเงินกู้มูลค่า 888 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 26,500 ล้านบาท)

และกระแสข่าวการขายเกาะส่วนตัวของ Richard Branson เพื่อช่วย Virgin Atlantic สายการบินอีกแห่งในเครือ Virgin ไม่ให้ล้มละลาย 

 

Hertz : เรื่องเศร้าของแบรนด์รถเช่าร้อยปี จาก Lockdown Effect

การเดินทางของคนทั่วโลกที่ทยอยลดลงจนถึงขั้นหยุด จนถนนโล่งแบบเมืองร้างจากมาตรการ Lockdown ของรัฐบาลทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างเป็นระบบต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางทั้งหมด และที่สุดลามมาถึงธุรกิจรถเช่า โดย Hertz กลายเป็นแบรนด์ที่ถูกวิกฤตไวรัสปิดล้อม ไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง

hertz 2 ล้มละลาย

Hertz ใช้ทุกทางในการรับมือกับวิกฤตไวรัสครั้งนี้ ทั้งปลดพนักงานรวม 17,000 คน ขายรถถึง 30,000 คันเพื่อมาใช้หนี้ แต่ธุรกิจก็ยังเดินต่อไม่ได้ แบบเดียวกับทัพรถเช่าจำนวนมากที่จอดนิ่งอยู่ตามสนามบินทั่วโลก

ที่สุดแบรนด์รถเช่าอายุ 102 ปีที่ผ่านทั้งวิกฤตราคาน้ำมันและเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) เมื่อช่วง 1930 มาได้ก็ถึงทางตัน ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย เมื่อปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา

A Hertz Global

การล้มละลายของ Hertz ยังกระทบไปถึงบริษัทยานยนต์ทั่วโลก เพราะหมายความว่าแบรนด์ใหญ่ในธุรกิจรถเช่าต้องระงับโครงการซื้อรถล็อตใหญ่ไปแบบยาวๆ จนกว่าจะฟื้นตัวนั่นเอง

 

JC Penney : ห้างอเมริกันเบอร์ใหญ่ ที่ก็ไม่รอดจากวิกฤตไวรัส

ช่วงไม่กี่ปีมานี้สถานการณ์ของห้างสรรพสินค้าและแบรนด์ค้าปลีกส่วนใหญ่ไม่สู้ดีนัก เพราะลูกค้าหันไปช้อปออนไลน์กันมากขึ้น จนยอดลูกค้าที่เดินเข้าห้างหรือมาซื้อถึงหน้าร้านลดฮวบ

ในส่วนของ JC Penney ห้างฯ เก่าแก่ของสหรัฐ ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Disruption) ดังกล่าว ยอดขายลดลงจนการเปลี่ยน CEO ไป 4 คนตั้งแต่ปี 2012 แทบไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

JC-Penney-

ที่สุดพฤษภาคมปีนี้  JC Penney ก็เป็นแบรนด์ใหญ่อีกแบรนด์ที่ไม่รอดจากวิกฤตโควิด ต้องยื่นฟ้องล้มละลาย ตามแบรนด์ร่วมชาติในธุรกิจเดียวกันอย่าง J.Crew และ Neiman Marcus ไป

 

Sizzler : ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยของเครือร้านอาหารอเมริกัน หลังลูกค้างดอร่อยนอกบ้าน

Sizzler 3

ผู้ป่วยอาการหนักอีกรายจากวิกฤตโควิด คือธุรกิจร้านอาหารทั่วโลก เพราะลูกค้าพร้อมใจงดออกมากินอาหารนอกบ้าน โดยในสหรัฐ มีการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้จะสูงถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งในกลุ่มนี้มี Sizzler รวมอยู่ด้วย

Sizzler logo ล้มละลาย

Sizzler ถือเป็นแบรนด์เครือร้านอาหารแห่งความภาคภูมิใจของสหรัฐ เพราะมีประวัติยาวนานและใช้เวลาเพียงปีเดียวก็ฟื้นจากการล้มลายครั้งแรกเมื่อปี 1996 มาได้ แต่วิกฤตโควิดทำให้ Sizzler ในสหรัฐต้องปิดร้านยาวๆ ถึง 2 ครั้ง และขาดรายได้มาจ่ายค่าเช่าที่เกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 316 ล้านบาท) จนล้มละลายเป็นครั้งที่ 2 ไปเมื่อกันยายนที่ผ่านมา

 

Disney : การทรุดหนักของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบันเทิง

เพราะค่ายหนังและสวนสนุกคือทัพหน้าโกยเงินให้ Disney มาหลายปี เมื่อวิกฤตโควิดพ่นพิษใส่ทั้งสองธุรกิจ Disney จึงทรุดหนักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยจากการที่ Disneyland ทั่วโลกต้องปิดและหนังฟอร์มใหญ่ปีนี้ต้องเลื่อนฉาย ทำให้ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา Disney ขาดทุนถึง 3,500 ล้านบาท (ราว 108,500 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ปิดDisneyland

Disney จำเป็นต้องแก้สถานการณ์ด้วย ‘ยาแรง’ แบบแบรนด์ใหญ่อื่นๆ ปลดพนักงาน Disneyland นับหมื่นคน และส่งหนังฟอร์มใหญ่บางเรื่องเช่น Mulan และ Soul ลง Disney Plus – Streaming Platform ในเครือ เฉพาะในสหรัฐที่โรงหนังส่วนใหญ่ยังปิด ควบคู่ไปกับการฉายโรงในประเทศอื่นๆ ที่สถานการณ์การระบาดทุเลาลงแล้ว

ล่าสุดสถานการณ์ Disney เริ่มดีขึ้น โดยผู้ที่ได้ความดีความชอบไปเต็มๆ คือ Bob Chapek ที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้ CEO ท่ามกลางวิกฤตไวรัสต่อจาก Bob Iger   

 Bob ChapekBob Chapek 

Shell : ขาลงของอุตสาหกรรมน้ำมัน จากปรากฏการณ์ราคาติดลบ

ความรุนแรงของวิกฤตโควิด ทำให้เราได้เห็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นปรากฏการณ์ราคาน้ำมันติดลบ อันเป็นผลสืบเนื่องจากน้ำมันที่ขุดเจาะและกลั่นเรียบร้อยไม่เป็นที่ต้องการ จนบริษัทน้ำมันกลับต้องเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้ผู้ซื้อเสียเอง ให้นำน้ำมันออกไปเพื่อระบายของเดิมไม่ให้ล้นคลังเก็บ 

น้ำมัน ล้มละลาย

ความเลวร้ายของปรากฏการณ์นี้ส่งผลโดยตรงต่อบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมด โดยทำให้ Shell ขาดทุนอย่างหนักและเสียตำแหน่งบริษัทมูลค่าสูงสุดของดัชนี FTSE ในตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ จนจำเป็นต้องลดเงินปันผลลง 2-3 และปลดพนักงานหลายพันคนเพื่อกู้วิกฤต

Shell

มีการคาดการณ์ว่าความเสียหายที่อุตสาหกรรมน้ำมันได้รับจากฝันร้ายครั้งนี้จะสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 32.5 ล้านล้านบาท) 

 

Boeing : Lay-off ครั้งใหญ่ เมื่อไร้เสียง Take-off

Boeing 4 ล้มละลาย

พนักงาน Boeing คงจำปีนี้ไปอีกนาน เพราะวิกฤตโควิดที่ฉุดให้หลายสายการบินดิ่งสู่การล้มละลาย กระทบมาถึงยอดผลิตของ Boeing ด้วย จนต้นสังกัดของพวกเขาจำเป็นต้องปลดพนักงาน 16,000 คน เพื่อกอบกู้สถานการณ์ 

จอด

ด้าน Airbus คู่แข่งของ Boeing และ GE บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยาน ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน จนต้องปลดพนักงาน 6,000 คนและ 13,000 คนตามลำดับ / cnn ,bbc, wikipedia ,cnbc

FYI-4-11

ล้มละลาย info



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน