ถ้าเรารับประทานอาหาร Ready to Eat หรืออาหารพร้อมรับประทาน ใน 7-11 บ่อย ๆ เชื่อได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วอาหารที่เรารับประทานจะเป็นของซีพีแรม
เพราะรายได้ของซีพีแรมเกือบทั้งหมดมาจาก 7-11 จากการที่ซีพีแรมเป็นบริษัทในเครือของซีพีออลล์
โดยซีพีออลล์ถือหุ้นทั้งหมดในซีพีแรม 99%
ในปี 2563 รายได้ซีพีแรม 19,373 ล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจาก 7-11 ถึง 95% ผ่านสินค้าแบรนด์ซีพีแรมเอง และโคแบรนด์กับ 7-11 ที่ให้ 7-11 เป็นผู้คิดสูตรอาหาร
ถึงรายได้เกือบทั้งหมดของซีพีแรมจะมาจาก 7-11 แต่ความท้าทายที่สำคัญของซีพีแรมคือ ในปีที่ผ่านมารายได้ของซีพีแรมกลับลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือ เติบโต 10%
ในปีที่ผ่านมา ซีพีแรมมีการปรับเกมการตลาดสร้างรายได้ร่วมกับ 7-11 จากการทำแคมเปญ เมนู อิ่มคุ้ม ซึ่งเป็นเมนูอาหารพร้อมรับประทานในราคาปกติทั่วไป แต่มีปริมาณที่มากขึ้น
แคมเปญ เมนู อิ่มคุ้ม สามารถสร้างยอดจำหน่ายได้มากถึง 37 ล้านกล่อง (ชิ้น)
ซึ่งเหตุผลการลดลงของรายได้ วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคอยู่บ้านมากขึ้น ลดการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ และทำอาหารรับประทานที่บ้านแทนการซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือสั่งอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่มารับประทานที่บ้านแทนไปร้านอาหารมากขึ้น
แต่ Marketeer มองว่านอกจากการทำอาหารรับประทานเอง และการสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มารับประทานที่บ้าน โครงการคนละครึ่งของภาครัฐอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารจากร้านที่ร่วมโครงการคนละครึ่งแทนอาหารจาก 7-11 เพราะสามารถรับประทานอาหารในราคาเพียงครึ่งเดียวของราคาอาหารที่ขายอีกด้วย
แม้ในปีที่ผ่านมารายได้ของซีพีแรมจะไม่ค่อยดีนัก ในปีนี้ วิเศษเชื่อมั่นว่า จะสามารถพาซีพีแรมกลับมาเติบโต 10% ได้อย่างแน่นอน
สิ่งที่ทำให้วิเศษมั่นใจเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากในไตรมาสแรกของปี 2564 ซีพีแรมขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ลูกค้าในกลุ่ม Plant Based ด้วยการเปิดแบรนด์สินค้าใหม่ ที่ชื่อว่า VG for Love ซึ่ง VG มาจากคำว่า Veggie หรือ Vegetarian
โดย VG for Love ถือเป็นอาหาร Plant Based โดยเฉพาะแบรนด์แรกที่วางขายใน 7-11
เพราะก่อนหน้านั้นอาหาร Plant Based ที่มีวางขายจะอยู่ในภายใต้แบรนด์หลักที่มีอยู่เดิมของซีพีแรมและแบรนด์ที่ทำร่วมกับ 7-11
ภายใต้ VG for Love วางกลุ่มเซกเมนต์อาหาร Plant Based ออกเป็น 5 กลุ่ม เผื่อเจาะกลุ่มลูกค้า 5 เซกเมนต์ และสื่อสารถึงอาหารแต่ละประเภท โดยใช้กล่องสีฟ้า เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างจากอาหารพร้อมรับประทานทั่วไป และสัญลักษณ์เหมือนฉลากประหยัดไฟ 1-5 เป็นการสื่อสารของเซกเมนต์ของอาหารตามความเคร่งของผู้รับประทาน
โดย 5 เซกเมนต์แบ่งตามความเคร่งของการรับประทานอาหารจากพืช ได้แก่
1. อาหารเจ
2. อาหารวีแกน
3. อาหารมังสวิรัติกับนม
4. อาหารมังสวิรัติกับไข่
5. อาหารมังสวิรัติกับนมและไข่
เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคพืชเป็นหลักและผู้บริโภคพืชในบางมื้อ
การเข้ามาทำในธุรกิจ Plant Based มาจากการมองเทรนด์ผู้บริโภคโลกที่หันมารับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น ส่วนประเทศไทย วิเศษคาดการณ์ว่ามีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
การทำตลาดของ VG for Love เริ่มต้นจากอาหารแช่แข็ง 10 เมนู ทั้งข้าว บะหมี่ และสปาเกตตี เพื่อทดลองตลาดและค่อย ๆ หมุนเวียนเมนูใหม่ ๆ เข้ามาเป็นทางเลือกในอนาคต
วิเศษให้ความเห็นว่าการที่เริ่มต้น 10 เมนูมาจากการเปิดตลาดเพื่อเป็นทางเลือกในอาหาร Plant Based ต้องมีความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เหมือนกับร้านข้าวแกง ที่มีอาหารเมนูหลากหลายจะดึงดูดผู้บริโภคได้มากกว่า
และตั้งราคาอาหาร VG for Love ในราคา 39-45 บาท ซึ่งราคาไม่ต่างจากอาหารพร้อมรับประทานทั่วไปของซีพีแรมใน 7-11 ที่มีราคาเฉลี่ย 30-60 บาท
ส่วนช่องทางการจำหน่าย VG for Love ยังคงให้ความสำคัญกับช่องทาง 7-11 เป็นหลัก โดยในปัจจุบันมีวางขายผ่านช่องทาง 7-11 Online และแม็คโคร 5 สาขา
ก่อนที่นำมาขายในร้าน 7-11 ในเดือนมีนาคม 2564
การที่นำมาขายในร้าน 7-11 ช้ากว่า 7-11 Online และแม็คโคร มาจากรอบนำสินค้าใหม่เข้าเซลฟ์ 7-11 อยู่ในเดือนมีนาคม
การเปิดตัว VG for Love ในร้าน 7-11 ในแต่ละสาขาอาจจะมีเมนูอาหารที่ไม่เหมือนกัน โดยซีพีแรมจะวางขายอยู่ในตู้แช่แข็ง 2 ชั้นในระดับสายตา เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นและสะดุดตาง่ายขึ้น โดยหน้าตู้แช่แต่ละชั้นจะวางอาหารได้เฉลี่ย 3 เมนู
การที่ซีพีแรมเลือกเปิดตัว VG for Love จากอาหารแช่แข็ง แทนอาหารแช่เย็น ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่ซื้ออาหารพร้อมรับประทานใน 7-11 ที่มากกว่าเพราะมองว่าเป็นอาหารที่ปรุงสดใหม่กว่า Marketeer มองว่าเนื่องจาก VG for Love เป็นแบรนด์และประเภทสินค้าที่ใหม่ ในช่วงเริ่มต้นของการจำหน่ายอาจจะมียอดขายที่ไม่มากนัก และถ้าเปิดตัวด้วยอาหารแช่เย็น ซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ย 3-5 วันอาจจะทำให้อาหารที่นำมาจำหน่ายหมดอายุจำนวนมากจากอัตราการซื้อที่ยังน้อยอยู่
ส่วนอาหารแช่แข็งเป็นอาหารที่สามารถมีอายุอยู่ได้เฉลี่ย 1 ปี โอกาสที่อาหารจะหมดอายุคาเชลฟ์จึงมีน้อยลงตามมา
การเข้าสู่ธุรกิจ Plant Based ซีพีแรมวางเป้าหมายรายได้เริ่มต้นในปีแรก 120 ล้านบาท และภายใน 5 ปีจะสามารถสร้างรายได้ 20% ของรายได้ทั้งหมดของซีพีแรม
ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายไม่น้อยในวันที่ตลาดยังไม่รู้จักอาหารพร้อมรับประทานที่เป็น Plant Based
ทั้งนี้นอกเหนือจากอาหาร Plant Based ซีพีแรมยังวางทิศทางสร้างรายได้ในปีนี้ผ่านแคมเปญ เมนู อิ่มคุ้ม ที่จะสามารถสร้างยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 50% จากปีที่ผ่านมา
แต่ก็ถือว่าเป็นความท้าทายเนื่องจากเมนู อิ่มคุ้ม มีทั้งคู่แข่งที่เป็นร้านอาหารนอก 7-11 และคู่แข่งอย่างซีพีเอฟ และเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่อยู่ในธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานใน 7-11 ที่เข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินจากผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ