ขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียเผชิญการระบาดของโควิดรอบใหม่ รัฐบาลแต่ละประเทศก็มีปัญหาและความท้าทายที่ต้องเผชิญระหว่างสกัดการระบาดต่างกันไป โดยสำหรับญี่ปุ่นคือการจัดโอลิมปิกกลางปีนี้ให้ได้ หลังต้องเลื่อนมา 1 ปีเต็ม และฝ่ากระแสต่อต้านของคนในประเทศที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ
มหกรรมกีฬาที่ต้องฝ่าทั้งแรงต้านและวิกฤตโรคระบาด
พิษโควิดที่ฉุดโลกทั้งใบให้ต้องเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงและตรึงผู้คนให้ต้องอยู่แต่บ้านเมื่อปี 2020 ส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมที่เป็นการรวมตัวของหมู่มากทั้งหมด ตั้งแต่คอนเสิร์ต ประชุม การจัดอีเวนต์ รวมไปถึงงานแสดงสินค้า
และแน่นอนการจัดโอลิมปิกญี่ปุ่นที่เรียกเสียงฮือช่วง ‘รับไม้’ ต่อจากบราซิล ด้วยการ์ตูนและ Pop Culture พร้อมช็อตเด็ดอดีตนายกฯ Shinzo Abe แปลงร่างเป็น Mario ตัวละครจากเกมดัง ก็ต้องงดไปโดยปริยาย
นี่คือฝันร้ายของญี่ปุ่นทั้งประเทศ เพราะทุกภาคส่วนเตรียมการและเฝ้าโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้มานาน โดยมีการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 747,000 ล้านบาท) พร้อมทำให้โอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและ PR ประเทศครั้งใหญ่ในเวลาอันสั้นต้องหลุดลอยไป
ราวไตรมาส 3 ปี 2020 สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและเป็นเวลาเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้ Yoshihide Suga มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้กำหนดกรอบเวลาจัดโอลิมปิกใหม่เป็น 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2021
ทว่าหมอกร้ายจากโรคระบาดกลับปกคลุมญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยเข้าปี 2021 ได้ไม่ทันไรโควิดก็ระบาดรอบใหม่ จนรัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินใกล้เคียงกับล็อกดาวน์เมื่อปี 2020
แต่กลับประกาศเดินหน้าจัดโอลิมปิกแบบ New Normal พร้อมมาตรการคุมเข้ม เช่น ให้นักกีฬาต่างชาติกักตัวเมื่อเดินทางมาถึง ไม่ให้มีผู้ชมต่างชาติ แข่งในสนามปิด และนักกีฬาต้องตรวจหาโควิดทุกวัน พร้อมปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด
พอเข้าพฤษภาคม รัฐบาลญี่ปุ่นและ IOC ต้องเจอกระแสต่อต้านจากชาวญี่ปุ่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง จากทั้งผลสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ ๆ ที่ออกมา การรวมตัวประท้วงของแพทย์-พยาบาล
และการวิจารณ์แบบไม่ไว้หน้าของ Hiroshi Mikitani – CEO ของ Rakuten ที่ว่าการฝืนจัดต่อก็เหมือนการพากันไปตาย
ด้านนายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga พยายามลดกระแสต่อต้านด้วยการย้ำว่า รับมือได้และจะไม่พาประเทศไปเสี่ยง แต่ดูเหมือนว่าจะไร้ผล ยืนยันได้จากหลายเมืองในญี่ปุ่นขอถอนตัวจากการเป็นเมืองเจ้าบ้านให้นักกีฬาต่างชาติมาซ้อมและปรับตัว ขณะที่นักกีฬาบางประเทศก็กลัวติดโควิดจนขอไม่แข่งช่วงโอลิมปิกเลยก็มี
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นและ IOC ยังเดินหน้าจัดต่อแบบฝืนแรงต้านเช่นนี้ เริ่มจากต่างเชื่อว่าเมื่อถึงปลายกรกฎาคมสถานการณ์การระบาดคงทุเลา ตามด้วยความมั่นใจว่ามาตรการคุมเข้มจะสกัดการระบาดช่วงโอลิมปิกได้
และการที่โอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาอันดับ 1 ของ IOC อันมาพร้อมกับรายได้มหาศาล ดังนั้นฝ่ายที่มีอำนาจ ‘ฟันธง’ ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ คือ IOC ไม่ใช่รัฐบาลญี่ปุ่น แม้สามารถมาปรึกษาได้หากไม่ไหวจริง ๆ ก็ตาม
ด้านฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามผลักดันโอลิมปิกสุดตัว แม้ฝืนแรงต้านของคนในประเทศ เพราะยังหวังใช้เป็นโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจและแสดงศักยภาพของประเทศ ประกอบกับไม่อยากเสียหน้าจีน เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องตามกันต่อไปว่าที่สุดจะได้จัดหรือต้องเลิก โดยถ้าโชคดีจัดตามแผนก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของนายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga และเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น ถัดจากครั้งแรกเมื่อปี 1964
แต่ถ้าโชคร้ายต้องยกเลิกจะเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 4 ที่ต้องยกเลิก ถัดจากเมื่อปี 1916, 1940 และ 1944 / cnn, japantoday, bbc, reuters
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



