โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 การแข่งขันยุคที่จีนใหญ่สะเทือนโลก (วิเคราะห์)
หลังจีนยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ “แดนมังกร” ก็โตไม่หยุดในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี การลงทุนในต่างประเทศ และบทบาทในเวทีโลก
แต่จีนก็ยังไม่ละความพยายามในการทำให้โลกยอมรับ จนนำมาสู่แผนผลักดันเป็นการเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง เพื่อทำให้เมืองหลวงของประเทศสร้างประวัติศาสตร์เป็นเมืองแรกในโลกที่เป็นทั้งเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว
ปี 2015 จีนสมหวัง โดยระหว่างการประชุมชาติสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กรุงปักกิ่งเอาชนะเมือง Almaty ของคาซัคสถาน ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว
ทว่าหลังจากนั้นจีนก็ทำให้โลกสะเทือน จนชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ รวมไปถึงกลุ่มพันธมิตรตะวันตกกังวลต่ออิทธิพลของจีนหลายด้านที่เพิ่มขึ้น
นี่จึงนำมาสู่มาตรการมากมายเพื่อจำกัดอิทธิพลพลของจีน เช่นคว่ำบาตรทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนในสมัยของอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งประธานาธิบดี Joe Biden ก็ยังคงไว้แต่ลดความโฉ่งฉ่างลง
ส่วนยุโรปก็พยายามต้านอิทธิพลจีนเช่นกัน ชัดเจนที่สุดคือการตั้งโครงการ Global Gateway ขึ้นมาสู้กับ One Belt One Road ที่พาดเข้ามาในยุโรป
นอกจากนี้ จีนยังเดินหน้าจัดระเบียบทุกวงการในประเทศ จนมีส่วนทำให้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงขึ้น และชาติตะวันตกโดยเฉพาะที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ยกขึ้นมาอ้างเพื่อคว่ำบาตร
สถานการณ์ดังกล่าวถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น หลังชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง ด้วยการไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม “ปักกิ่ง เกมส์ 2022” ครั้งนี้ก็คงยังน่าสนใจในหลาย ๆ ด้าน
Putin นำทีมเพื่อนจีนในพิธีเปิด โอลิมปิกฤดูหนาว
แม้สหรัฐฯ และกลุ่มชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรพิธีเปิด โอลิมปิกฤดูหนาว ครั้งนี้ เพื่อประท้วงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง แต่จีนก็ไม่เหงา เพราะหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ โปแลนด์ เซอร์เบีย เอกวาดอร์ และสิงคโปร์ ยังส่งตัวแทนรัฐบาลมาชมพิธีเปิด
ผู้นำประเทศจากทีมเพื่อนจีนในพิธีเปิดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ ที่ถูกจับมามองที่สุดคือ ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย นี่จะถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในเวลาที่ทั้งสองประเทศต่างถูกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกดดัน และต้องการแรงหนุนจากอีกฝ่าย
สำหรับรัสเซียเกิดขึ้นในช่วงที่มีการตรึงกำลังทหารบริเวณพรมแดนติดกับยูเครน เพราะไม่พอใจที่สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปช่วยเหลือทางการทหารกับยูเครนมากเกินไป
นี่ทำให้ประชาคมโลกต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า รัสเซียจะส่งกำลังทหารเข้าไปยึดยูเครน จนบานปลายเป็นสงครามและวิกฤตพลังงานหรือไม่ เพราะรัสเซียเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่สำคัญของยุโรป
มหกรรมกีฬาฤดูหนาวที่สปอนเซอร์ต้องรอบคอบ
แม้ผู้ชมอาจไม่มากเท่าฟุตบอลโลกและโอลิมปิกฤดูร้อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โอลิมปิกฤดูหนาวก็ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่มีผู้ชมทั่วโลก ทว่าครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองโลกที่ตึงเครียด
และจีนในฐานะเจ้าภาพมีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้กันว่าจะดำเนินมาตรการเด็ดขาดกับใครก็ตามที่วิจารณ์ ดังที่แสดงให้ต่อเนื่องจากมาตรการจัดระเบียบ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ เหมือนโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1936 ในเยอรมนีที่จัดในยุคพรรคนาซีเรืองอำนาจ โอลิมปิกจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
ผสมกับโอลิมปิกฤดูร้อนในอดีตสหภาพโซเวียตปี 1980 ที่สหรัฐฯ ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมเพื่อประท้วงที่เจ้าภาพส่งทหารบุกอัฟกานิสถาน
เมื่อเป็นเช่นนี้แบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เป็นสปอนเซอร์ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ โดยเฉพาะแบรนด์อเมริกัน อย่าง Coca-Coca Airbnb และ Intel ต้องโฆษณาอย่างระมัดระวัง ทั้งเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีน แต่ก็จะเอนเอียงไปสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมากเกินไปจนจีนไม่พอใจก็ไมได้อีก ดังนั้นจึงต้องเป็นกลางเข้าไว้และเงียบที่สุด
ยกกำแพงเมืองจีนสกัดโควิดในโอลิมปิก
สถานการณ์โควิดปี 2020 ทำให้ญี่ปุ่นเจองานยากในการจัดโอลิมปิก จนต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 และพลาดโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และฟื้นฟูภาพลักษณ์ความเป็นชาติชั้นนำในเวทีโลก ตามที่หมายมั่นปั้นมือ ทั้งที่เตรียมการมาเป็นอย่างดี ถึงขนาดสั่งย้ายตลาดปลาสึกิจิที่มีประวัติยาวนาน
ตลอดราว 2 สัปดาห์ของการแข่งขันญี่ปุ่นเผชิญความลำบากมากมาย จนข่าวการระบาดในหมู่นักกีฬามีออกมาอยู่บ่อย ๆ ควบคู่ไปกับการคว้าเหรียญรางวัลของนักกีฬาชาติต่าง ๆ และเรื่องประทับใจ รวมถึงสีสันอีกพอสมควร
มาถึงโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้แม้จำนวนนักกีฬาที่มาร่วมแข่งขันจะน้อยกว่าโอลิมปิกฤดูร้อน แต่จีนก็เผชิญงานยากไม่แพ้กันในการสกัดโควิดที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน
รัฐบาลจีนและฝ่ายดูแลจัดการการแข่งขันได้ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อสกัดการระบาดในพื้นที่ปิด ตั้งแต่ที่นักกีฬาต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ จัดรถไฟวิ่งตรงเข้าสู่หมู่บ้านนักกีฬา และห้ามนักกีฬาออกนอกหมู่บ้านนักกีฬาเด็ดขาด
โลกจับตาดูการสกัดโควิดระบาดในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยสาเหตุหนึ่งมาจากจีนเป็นต้นตอการระบาดตั้งแต่ปลายปี 2019 ส่วนถ้าจีนจัดการทุกอย่างให้ลุล่วงไปด้วยดี ก็จะถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของยุคที่ขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่อีกด้วย
สปอร์ตแบรนด์จีนเฮรับขาขึ้นการเป็นเจ้าภาพ
หลังจีนพัฒนาจากประเทศโรงงานรับจ้างผลิตสู่โรงงานโลกเต็มตัว แบรนด์จีนก็มีอยู่ในทุกตลาดและผลิตภัณฑ์ โดยในส่วนของวงการกีฬา จีนมี ANTA และ Li Ning ให้ภาคภูมิใจ แม้ไม่ดังและครองส่วนแบ่งตลาดมหาศาลเหมือน Nike และ Adidas แต่ทั้งสองแบรนด์ก็มีวางจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศ
มาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ที่จัดในจีน ANTA และ Li Ning ต่างก็ได้รับประโยชน์ไปเต็ม ๆ เพราะกระแสนิยมแบรนด์จีนพุ่งสูงขึ้น จนเป็นที่ต้องการของชาวจีนมากขึ้น และแน่นอนส่งผลสืบเนื่องให้หุ้นทั้งสองแบรนด์ปรับขึ้น
4 กุมภาพันธ์ หุ้นของ ANTA ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ขึ้นมา 5.2% มากสุดนับตั้งแต่ 20 มกราคม ส่วนหุ้นของ Li Ning ที่ซื้อขายอยู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งเดียวกันขึ้นมา 6.6% มากสุดนับตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน
ขาขึ้นครั้งนี้อาจเป็นการโหมโรงเท่านั้น เพราะ โอลิมปิกฤดูหนาว ครั้งนี้ยังดำเนินไปจนถึง 20 กุมภาพันธ์ และถ้าทัพนักกีฬาจีนทำได้ดี หุ้นของทั้งสองแบรนด์ก็จะทะยานขึ้นได้อีก
จับตาสกีสาวจีนลูกครึ่งและสีสันจากแดนเร็กเก้
ในโอลิมปิกทุกครั้งย่อมมีนักกีฬาหรือทีมชาติที่ต้องจับตามอง สำหรับครั้งนี้คนแรกที่น่าจะถูกจับตามองพอสมควรโดยเฉพาะในหมู่แฟน ๆ กีฬาฤดูหนาวชาวจีน คือ Eileen Gu นักสกีสาวลูกครึ่งอเมริกัน-จีนวัย 18 ปี ที่เคยคว้าเหรียญในนามทีมชาติสหรัฐฯ มาแล้ว
แต่เธอย้ายมาเล่นให้ทีมชาติจีน ตั้งแต่ปี 2019 และทำได้ดีเสียด้วย ดังนั้นในโอลิมปิกครั้งนี้ เธอจึงเป็นความหวังของทีมชาติจีน
ความน่าสนใจในตัว Eileen Gu ไม่หยุดแค่ที่ลานสกี เพราะเธอยังเป็นนางแบบของ IMG บริษัท Modelling ระดับโลก และเธอก็พยายามวางตัวเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่กลายเป็นว่าต้องมาแข่งในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศตึงเครียด
อีกสีสันหนึ่งที่น่าจะถูกจับตามอง โดยเฉพาะกับแฟน ๆ หนังยุค 90 คือการที่จาไมกา ประเทศเขตร้อน ยังคงพยายามส่งทีมรถเลื่อนหิมะลงแข่งในกีฬาฤดูหนาวมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น Cool Runnings หนังกีฬาเรื่องดังยุค 90
ปีนี้ทีมรถเลื่อนหิมะจาไมกาหวังสานต่อตำนาน Cool Runnings หลังผ่านเข้ามาแข่งในโอลิมปิกฤดูหนาวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1998
Matthew Wekpe 1 ใน 4 สมาชิก รถเลื่อนหิมะจาไมกา กล่าวว่า “คนทั่วโลกรู้จักและชื่นชมทีม Cool Runnings เราเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่อยากแสดงให้โลกได้รู้ว่านักกีฬาทุกคนสามารถคว้าเหรียญได้ ไม่ว่ามาจากประเทศไหนก็ตาม”
ส่วน Nimroy Turgott สมาชิกอีกคนในทีมกล่าวทิ้งท้ายได้อย่างน่าประทับใจว่า “เราไม่ได้แค่ไปเข้าร่วม แต่เราไปลงแข่ง และอยากแสดงให้โลกได้รู้ว่าประเทศเขตร้อนอย่างจาไมกาก็สามารถคว้าเหรียญในกีฬาฤดูหนาวได้”/cnn, bbc, wikipedia, theguardain, cna
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



