การตลาดแบบเบ็ดเสร็จ บทความการตลาดโดย ดร. ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มีการเกิดและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยให้นักการตลาดมองเห็นแนวทางในการขยายตลาดและเพิ่มการขายสินค้า

สมัยก่อนเรามักจะได้ยินคำว่า B to B และ  B to C เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีรูปแบบการทำการตลาดในรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้นมาใช้ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากธุรกิจต่าง ๆ  โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก (Retail Business) ที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ

โดยนักการตลาดเรียกรูปแบบนี้ว่า D to C  ซึ่งการตลาดรูปแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายเปรียบเทียบความหมายที่แตกต่างกันของวิธีการทั้ง 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบ B to B (Business-to-Business) เป็นการทำธุรกิจระหว่างธุรกิจกับธุรกิจด้วยกัน เป็นการซื้อขายสินค้าระหว่างเจ้าของธุรกิจไปยังเจ้าของธุรกิจด้วยกันนั่นเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบความจำเป็นในการประกอบการของธุรกิจ  เช่น การซื้อวัตถุดิบที่ไม่ได้ซื้อมาเพื่ออุปโภคหรือบริโภคเอง แต่ซื้อมาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า

สำหรับรูปแบบ B to C (Business-to-Consumer) ซึ่งลูกค้าเป้าหมายซื้อสินค้าเพื่อนำไปอุปโภคหรือบริโภคเอง เป็นการซื้อขายระหว่างเจ้าของธุรกิจไปยังผู้บริโภค โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง เอเยนต์ ร้านค้าส่ง หรือร้านค้าปลีก

ส่วนรูปแบบ D to C (Direct-to-Consumer) เป็นการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางเฉพาะที่ธุรกิจหรือแบรนด์นั้น ๆ จัดทำขึ้นมาเอง  โดยมีกระบวนการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น การหาวัตถุดิบ  การผลิตสินค้าใส่บรรจุภัณฑ์  บริการจัดส่งและรับชำระเงินเบ็ดเสร็จในตัว

ทั้งนี้อาจจะมีความสับสนหรือใกล้เคียงกับการขายตรง (Direct Selling)  แต่ก็ไม่เหมือนกันเพราะการขายตรงนั้นยังมีตัวแทนหรือพนักงานขายทำหน้าที่เป็นคนกลางอีกทอดหนึ่ง  และไม่ได้ทำการขายสินค้าผ่านช่องทางเฉพาะที่ธุรกิจหรือแบรนด์จัดทำขึ้นเท่านั้น อาจทำการจัดทำช่องทางการขายของตัวเองขึ้นมาอีกก็ได้  ในขณะที่การทำตลาดในรูปแบบ D to C นั้นจะทำธุรกิจผ่านช่องทางเฉพาะของแบรนด์เท่านั้น

โดยจะจัดการเบ็ดเสร็จในตัวอย่างครบวงจรเลย ซึ่ง การตลาดแบบเบ็ดเสร็จ มีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ

  1. มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปกติแล้วธุรกิจหรือแบรนด์จะไม่มีโอกาสรู้จักหรือใกล้ชิดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของสินค้าเลย เนื่องจากลูกค้านั้นจะทำการซื้อสินค้าจากพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นลูกค้าของธุรกิจอีกทอดหนึ่ง แต่ถ้าธุรกิจทำการตลาดแบบนี้จะทำให้มีโอกาสรู้จักและใกล้ชิดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งเป็นผู้ที่นำสินค้าไปอุปโภคหรือบริโภคเองมากขึ้นกว่าเดิม
  2. เข้าใจความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี เมื่อมีการติดต่อซื้อขายสินค้ากันก็จะเข้าใจความต้องการหรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของลูกค้าในการซื้อหรือใช้สินค้า หากธุรกิจเข้าใจความต้องการของลูกค้าของตัวเองก็จะส่งผลต่อการซื้อขายสินค้าในครั้งต่อไปในอนาคตนั่นเอง
  3. มีข้อมูลเชิงลึก (Customer Insight) ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หากธุรกิจทำการตลาดในรูปแบบธุรกิจไปยังลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคสุดท้ายก็จะมีข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ ความต้องการ  ความคิดเห็นที่มีต่อสินค้าหรือแบรนด์ อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. ธุรกิจสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ เพราะทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ ฝ่ายผลิตสินค้า ฝ่ายบรรจุภัณฑ์ พนักงานขาย พนักงานจัดส่งสินค้า ล้วนเป็นพนักงานของธุรกิจ ซึ่งสามารถควบคุมกระบวนการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง  จึงสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้
  5. เป็นการตัดปัญหายุ่งยากอันเกิดจากพ่อค้าคนกลาง ยิ่งถ้ามีหลายช่วงในการส่งมอบสินค้าจากโรงงานไปยังธุรกิจค้าส่งต่อไปยังธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่  ส่งมอบสินค้าไปยังธุรกิจค้าปลีกรายย่อยก็อาจจะมีปัญหายุ่งยากตามมาในแต่ละช่วงของการส่งมอบสินค้า
  6. ธุรกิจและลูกค้าสามารถติดต่อกันได้โดยตรง เมื่อธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าสามารถติดต่อกับลูกค้าซึ่งเป็นผู้บริโภคได้โดยตรง  ก็จะเกิดความสะดวกไม่ต้องติดต่อหรือสอบถามผ่านพ่อค้าคนกลางในแต่ละช่วงนั่นเอง
  7. ลดขั้นตอนและเวลาในการส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภคสุดท้าย ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าไปยังผู้บริโภคเป้าหมาย  ไม่เกิดปัญหาให้ลูกค้าเสียเวลาในการรอรับสินค้าหลังจากตกลงซื้อขายสินค้ากันแล้ว
  8. ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้าเป้าหมายมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ปกติแล้วธุรกิจจะไม่มีโอกาสมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้าเป้าหมาย  เพราะความสัมพันธ์นี้จะเกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าคนกลางกับลูกค้าเท่านั้น
  9. เป็นการลดต้นทุนทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายซื้อสินค้าได้ในราคาที่ต่ำลง เป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละช่วงของพ่อค้าคนกลางก็จะมีค่าใช้จ่าย  ทำให้เกิดการผลักภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปยังลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคสุดท้าย  ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าราคาสูงขึ้น
  10. ธุรกิจไม่มีข้อจำกัดตามที่พ่อค้าคนกลางกำหนดขึ้น บางทีร้านค้าปลีกก็จะมีข้อจำกัด เช่น ชั้นวางสินค้ามีไม่เพียงพอ  เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการนำสินค้าเข้าร้าน  ยืดเวลาการชำระเงิน ของบประมาณสนับสนุนในการส่งเสริมการตลาดจากธุรกิจ  ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดที่ธุรกิจต้องยอมรับในการดำเนินธุรกิจกับพ่อค้าคนกลาง

ตรุษจีน​ปีนี้ขอให้ธุรกิจ​ของทุกท่านเจริญ​ก้าวหน้า​ ทำมาค้าขึ้น เงินไหลมากอง​ ทองไหลมาอย่างไม่ขาดสาย​ มีสุขภาพ​กายสุขภาพจิตที่ดี​ โชคดีตลอดปีนะครับ​

 

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก ดร. ธีรพันธ์  โล่ห์ทองคำ แล้วพบกับเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจในฉบับหน้านะครับ!

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน