ถ้าเอ่ยถึงชื่อ แอป “ถุงเงิน” เป็นชื่อที่รู้จักกันดีในมุมของแอปร้านค้าที่ใช้รับเงินจากลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง
ซึ่งการใช้งานที่ผ่านมาส่วนใหญ่กระจุกอยู่กับภาครัฐ ผ่านโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง โครงการที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี
แต่ในวันนี้ กรุงไทย เจ้าของแอปถุงเงิน จับมือร่วมกับเอไอเอส ให้แอปถุงเงินของร้านค้า สามารถรับชำระเงินด้วยเอไอเอสพอยต์แทนเงินสดได้ ผ่านโครงการที่มีชื่อว่า พอยต์เพย์
โดยลูกค้าที่มีเอไอเอสพอยต์ สามารถนำพอยต์มาจ่ายค่าสินค้ากับร้านที่ใช้แอปถุงเงินที่ร่วมรายการ
เรตชำระเงินด้วยเอไอเอสพอยต์ 2 พอยต์ เท่ากับ 1 บาท
ลูกค้าเอไอเอสจะชำระเงินผ่านแอป myAIS
ส่วนร้านค้าจะรับชำระเงินผ่านแอปถุงเงิน
ผู้ใช้สามารถสังเกตร้านค้าที่ร่วมโครงการ จากป้ายที่ติดอยู่หน้าร้าน
ความร่วมมือนี้กรุงไทยและเอไอเอสจับมือทดลองทำพรีลอนซ์มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เพื่อทดลองระบบ และแก้ไขข้อบกพร่องในการให้บริการ ไปพร้อม ๆ กับรับสมัครร้านค้าที่มีแอปถุงเงินให้เข้าร่วมโครงการพอยต์เพย์ รับการชำระด้วยเอไอเอสพอยต์แทนเงินสด
ก่อนที่จะแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 มิถุนายน 2565
ร้านค้าถุงเงินที่กรุงไทยและเอไอเอสเลือกร่วมโครงการในระยะแรกจะเป็นร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด
ในปัจจุบัน
ร้านค้าที่มีแอปถุงเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 1,600,000 ร้านค้า
เป็นร้านค้าที่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 800,000 ร้านค้า
และเป็นร้านค้าที่เข้าโครงการพอยต์เพย์ 400,000 ร้านค้า
แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 30% ต่างจังหวัด 70%
และเอไอเอสตั้งเป้าหมายว่าจะมีร้านค้าที่ใช้แอปถุงเงินเข้าร่วมโครงการถึง 1,000,000 ร้านค้า พร้อมกับสร้างการเติบโตด้านผู้ใช้ ที่ใช้เอไอเอสพอยต์ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดกับร้านถุงเงินที่ร่วมโครงการให้เติบโตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
จากปัจจุบันช่วงพรีลอนซ์มีลูกค้าเอไอเอสนำพอยต์มาแลกแทนเงินสดมากถึง 100 ล้านพอยต์
สำหรับเป้าหมาย 1,000,000 ร้านค้า เป็นการขยายในสองส่วนคือ
-ผลักดันให้ร้านค้าในกลุ่มอาหารเข้าร่วมโครงการมากขึ้น
-ขยายไปร้านค้าถุงเงินในกลุ่มอื่น ๆ เช่น ร้านโชห่วย ที่พัก โรงแรม การขนส่ง
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เรามองว่า มีเหตุผลมาจาก
ในมุมกรุงไทย ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้เป็นหนึ่งในการเพิ่มความถี่ให้ร้านค้าเปิดแอปถุงเงินเพื่อรับชำระเงินจากลูกค้ามากขึ้น เพราะที่ผ่านมา แอปถุงเงินจะมีความถี่ในการใช้ที่มากในช่วงที่มีโครงการจากภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง
และเมื่อสิ้นสุดโครงการ โอกาสที่จะเปิดแอปมาใช้จึงมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
เรามองว่าเมื่อแอปถุงเงินมีความถี่ในการใช้อยู่เสมอ เท่ากับว่าธนาคารกรุงไทยจะมีเงินไหลเวียนอยู่ในระบบตามการใช้งานของแอปถุงเงินด้วยเช่นกัน
และยังเป็นหนึ่งในกุศโลบายที่ดีที่จะเชิญชวนให้ร้านค้าแอปถุงเงินใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารหลัก เช่น ใช้เป็นธนาคารหลักเพื่อรับเงินลูกค้าที่ต้องการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์, ชำระเงินด้วยการโอนผ่านแอปโมบายแบงกิ้ง
เพราะในวันนี้มีร้านค้าอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ใช้ธนาคารอื่นเป็นธนาคารหลักในการรับโอนเงินของลูกค้าที่จ่ายผ่านโมบายแบงกิ้ง
เพราะเอไอเอสมีลูกค้าในระบบมากถึง 44.6 ล้านราย และมีลูกค้าที่อยู่ในโปรแกรมเอไอเอสพอยต์ 2 ล้านราย มียอดเอไอเอสพอยต์รวมสะสมในระบบ 2,600 ล้านพอยต์
และลูกค้าเอไอเอสสามารถสะสมพอยต์ได้จากการใช้บริการเอไอเอสทุก 25 บาท ได้ 1 พอยต์
รวมถึงสามารถนำพอยต์ของพาร์ตเนอร์เอไอเอสมาแลกเป็นเอไอเอสพอยต์ได้
สำหรับในมุมของเอไอเอส
การจับมือกับกรุงไทยเพื่อให้ลูกค้าเอไอเอสนำเอไอเอสพอยต์ใช้แทนเงินสด ชำระเงินกับร้านค้าที่ใช้แอปถุงเงินได้
เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ CRM รักษาฐานลูกค้าผ่านสิทธิพิเศษต่าง ๆ
เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่เข้ามาเป็นลูกค้าเอไอเอส จากการได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากแคมเปญโปรโมชั่นที่มาในแพ็กเกจต่าง ๆ
และการที่ลูกค้าเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ที่เอไอเอสมอบให้มากขึ้นเท่าไร นั่นหมายถึงลูกค้ามี Engagement กับเอไอเอสมากขึ้นเท่านั้น
และ Engagement เป็นหนึ่งในตัวแปรที่เป็นกาวใจให้ลูกค้าไม่ย้ายไปใช้บริการค่ายคู่แข่ง
การที่เอไอเอสหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้าเอไอเอสพอยต์สามารถนำพอยต์มาใช้ให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง จะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าที่มากขึ้น
เพราะเราเชื่อว่ายังมีลูกค้าอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จะเอาเอไอเอสพอยต์ไปรีดีมเป็นสินค้าและบริการอะไร เพราะที่มีอยู่อาจจะไม่ตรงกับความชอบเท่าไรนัก
โดยเฉพาะลูกค้าต่างจังหวัด ที่อาจจะมีร้านค้าที่ให้ลูกค้านำเอไอเอสพอยต์ไปรีดีม เป็นสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่
แต่ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ยังคงมีความท้าทายในแง่การสร้างการรับรู้ให้กับร้านค้าและลูกค้า
ซึ่งกรุงไทยยอมรับว่ามีร้านค้าที่มีถุงเงินอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ร่วมโครงการพอยต์เพย์ รับชำระเงินค่าสินค้าด้วยเอไอเอสพอยต์
เนื่องจากไม่ทราบว่ามีโครงการนี้
นอกเหนือจากแรงโปรโมตจากฝั่งเอไอเอส กรุงไทยบอกกับเราว่าจะก้าวข้ามความท้าทายนี้ด้วยการเดินเท้าเข้าไปยังร้านค้าที่ใช้แอปถุงเงิน เพื่อแนะนำโครงการพอยต์เพย์ให้รู้จัก ไปพร้อม ๆ กับทำแผ่นป้ายมาติดที่ร้านค้าสร้างการรับรู้กับผู้บริโภค และทำคอนเทนต์แนะนำการใช้งานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
แต่สำหรับเรามองว่าโจทย์ที่ท้าทายที่สุดคือการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับร้านค้า เพื่อดึงร้านค้าให้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมโครงการพอยต์เพย์ให้มากที่สุด
เพราะถ้าร้านค้ามาร่วมโครงการมากขึ้นจะทำให้เกิดอีโคซิสเต็มที่สามารถใช้งานได้ในวงที่กว้างขึ้น และร้านค้าเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะแนะนำกับลูกค้าเอไอเอสพอยต์อีกต่อหนึ่ง จากป้ายที่ติดหน้าร้าน และการพูดคุยระหว่างคนขายกับลูกค้าถึงการใช้เอไอเอสพอยต์จ่ายแทนเงินสด
เรามองว่ามีคนขายไม่น้อยที่ต้องการเพิ่มยอดขายด้วยการแนะนำให้ลูกค้าที่ซื้อของจากร้านรู้สึกคุ้มค่าที่สุดเมื่อมาซื้อสินค้าจากร้าน เพราะถ้าลูกค้ามองว่าคุ้มค่า โอกาสที่จะเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าของตัวเองแทนคู่แข่ง หรือซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นก็จะมีมากขึ้นตามมาเช่นกัน
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



