AAI เมื่อรายได้จากการขายอาหารแมวและสุนัขเติบโตแซงอาหารคน ก็เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์
หนูมาลีเลี้ยงแมวเหมียวไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไปแล้ว
อัตราการเกิดของเด็กที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่อัตราคนเลี้ยงแมวกลับเพิ่มขึ้น
กลายเป็นเป็นโซ่ทองคล้องใจของคู่รักที่ไม่ต้องการมีลูก รวมทั้งกลุ่ม LGBT
“แมวงอก” จากครอบครัวละ 1 ตัว เป็น 2 ตัว จาก 2 ตัว เป็น 3 ตัว ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ช่วงวิกฤตโควิด-19 เกือบ 3 ปี บริษัทขายอาหารแมวยังเติบโตและทำกำไรต่อเนื่อง
และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ วันนี้มี 2 บริษัทรายใหญ่ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
และนั่นคือที่มาที่ทำให้ Marketeer ต้องตามไปคุยกับ เอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI
หนึ่งในบริษัทผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยที่กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปลายปี 2565 นี้
นอกจากตัวเลขรายได้ จาก 2,909.86 ล้านบาท กำไร 16.41 ล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มเป็น 4,985.49 ล้านบาท กำไร 639.01 ล้านบาทในปี 2564
ตัวเลขหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างมากก็คือประโยคที่เอกราชบอกกับ Marketeer ว่า
“เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนโรงงานของเราเคยผลิตอาหารคน 90% อาหารสัตว์เลี้ยง 10% วันนี้อาหารคนผลิตเพียง 20% เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 80% และสัตว์เลี้ยงที่ว่าคือ แมว 80% สุนัข 20%”
อัตราการเติบโตของการเลี้ยงแมวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆเพราะสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะมีที่อยู่อาศัยเล็กลง สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ ไม่กว้างมากนัก เสียงร้องเมี้ยว ๆของน้องแมว ก็ไม่ส่งเสียงดังด้วย
เขายังเล่าว่า
“วันก่อนคณะกรรมการของ ก.ล.ต. มาเยี่ยมชมโรงงานเขาก็ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ธุรกิจอาหารแมว อาหารสุนัขเข้าตลาดฯ หลายคนอาจจะมีภาพโรงงานทำอาหารสัตว์เลี้ยงอีกแบบ แต่พอมาเห็นเขาถึงกับบอกว่านี่คือไลน์ผลิตอาหารสัตว์หรือ พอผมบอกว่าชิมได้เลย หลายคนส่ายหน้า ผมชิมให้ดูเลย (หัวเราะ)”
เชื่อว่าทาสแมวหลายคนคงเคยชิมอาหารแมว ซึ่งเอกราชกล่าวว่าชิมแล้วอาจจะผิดหวังเพราะส่วนใหญ่จะจืด ๆ เหมือนกันหมด จะหวังว่าให้รสชาติเข้มข้น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม คงไม่ใช่ แต่สิ่งที่จะดึงดูดให้เจ้าเหมียวของเราชอบคือกลิ่น ซึ่งจมูกคนกับแมวก็ไม่เหมือนกันอีก
ทำอาหารคนอยู่ดี ๆ อะไรคือจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจทำอาหารสัตว์เลี้ยง
AAI จัดตั้งขึ้นในปี 2548 โดยแยกตัวมาจากบริษัทแม่ คือบริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ASIAN) ที่ผลิตอาหารแช่แข็งเป็นหลัก
ในช่วงแรก AAI ดำเนินธุรกิจแปรรูปปลาทูน่าเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเป็นหลัก และมีการนำส่วนที่เหลือจากการแปรรูปปลาทูน่ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นมาในปี 2554 เมื่อบริษัทเห็นตัวเลขการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เลยปรับกลยุทธ์เข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมียมอย่างจริงจัง
“ปี 2557 เราเริ่มมีการปรับในเรื่องสัดส่วนรายได้ อาหารของน้องแมว น้องหมา จาก 10% เป็น 20% 30% เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารเองก็ต้องเปลี่ยนเป็นโฟกัสในเรื่องอาหารสัตว์เลี้ยงพรีเมียมมากขึ้นแทนอาหารคน”
พร้อม ๆ กับพัฒนาแบรนด์สำหรับสุนัขและแมวมาตั้งแต่ปี 2562 โดยในปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และแบบเม็ด รวมถึงมีขนมแมวเลีย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม snack หรือขนมขบเคี้ยว
สินค้าจะครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในทุกตลาดย่อย (Market Segment) ประกอบด้วย แบรนด์มองชู (Monchou) แบรนด์มองชู บาลานซ์ ((Monchou balanced) แบรนด์มาเรีย (Maria) และแบรนด์โปร (Pro) ซึ่งเป็นอาหารเม็ดของน้องแมวและน้องหมา
ส่วนแบรนด์ฮาจิโกะ (Hajiko) เป็นอาหารของสุนัขอย่างเดียวสำหรับตลาด Mass ซึ่งเน้นผลิตภัณฑ์แบบเม็ด
AAI มาถูกทางเมื่อกราฟรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถทำยอดขายรวมในปี 2564 เกือบทะลุ 5 พันล้านบาทสูงที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษทมา
ร้อยละ 81.97 ของรายได้มาจากอาหารน้องแมวและสุนัข
77.07% มาจากต่างประเทศ เป็นยอดขายในประเทศ 4.89% โดยรายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากการรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าในประเทศ สหรัฐฯ และยุโรป อังกฤษ เยอรมนี
เป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีสะดุด แม้จะต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19
แล้ว ใบเฟิร์น-พีพี-บิวกิ้น ก็มา
จากข้อมูลของ Euromonitor ที่คาดว่ามูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2021 จะอยู่ที่ 40,638 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,495 ล้านบาท ในปี 2026 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3% ต่อปี
ยิ่งตอกย้ำว่าตลาดในประเทศก็ยังมีโอกาสอีกมาก
นั่นคือที่มาของการสร้างแบรนด์ต่าง ๆ ของบริษัทอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2561 ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
“ผมต้องยอมใช้เงินกับพรีเซนเตอร์ เพื่อให้แบรนด์ของเรามีพลังและเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
งานนี้ พีพี-บิวกิ้น กฤษฏ์ อำนวยเดชกร และพุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล 2 พรีเซนเตอร์ชื่อดังก็มา เพื่อมาทำตลาดให้กับแบรนด์ มองชู
และมี ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษ มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ฮาจิโกะ รุกทำตลาดสร้างแบรนด์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
เอกราชบอกว่าค่าตัวของพรีเซนเตอร์อาหารน้องแมว น้องหมา ราคาแรง ไม่ต่างกับการเป็นพรีเซนเตอร์ของอาหารคนเช่นกัน
อาหารน้อง ต้องขนาดนี้เลยหรือ
ความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ มีไม่สิ้นสุด สำหรับสัตว์เลี้ยงที่พวกเขายอมเป็น “ทาส” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของของใช้ เช่นแชมพูสระขน ขนม ของกินเล่น ของเล่นต่าง ๆ รวมทั้งอาหาร
ถ้าเราเอาชีวิตคนเป็นตัวตั้งในการต้องการอาหาร อาหารน้องแมว น้องหมาก็เช่นเดียวกัน เอกราชบอกว่าทุกวันนี้ความท้าทายของหน่วยงาน R&D คือต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบหลักหลากหลายมากขึ้น
“ปกติในอาหารหลัก ๆ เราใส่ผักต่าง ๆ เช่น ผักกาดขาว แคร์รอต ผสมเนื้อไก่ เนื้อปลา แซลมอน ทูน่า กุ้ง หรือหอยเชลล์ อยู่แล้ว ตอนนี้มีลูกค้าบางรายต้องการให้ลองส่วนผสมแปลก ๆ เช่น ทุเรียน หรือผลไม้อื่น ๆ ด้วย”
นอกจากนั้น ทีมงาน R&D ต้องให้ความสำคัญในการทำวิจัย ในเรื่องสารอาหารต่าง ๆ ที่ต้องผสมเข้าไปเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาในเรื่องสุขภาพต่าง ๆ เช่น ระบบขับถ่าย ขนร่วง หรืออาหารแบบไหนทำให้ขนฟู ขนสวย
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่กำลังเติบโต
รวมทั้งการพัฒนารูปลักษณ์ของอาหารให้น่ารับประทานและบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ซึ่งแมว สุนัขไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้แน่นอน แต่เจ้าของแมวต้องการ
“เดี๋ยวนี้มีดริงก์ของแมวแล้วนะครับ บรรจุกระป๋องเหมือนโค้กเลย มีใส่เนื้อบดลงไปบดละเอียดมาก น้ำใสเป็นเครื่องดื่ม ไม่ใช่ซุป ไม่ใช่ Smoothie for Dogs & Cats ที่วางขายในเมืองไทย เราทำโออีเอ็มให้ประเทศอเมริกาและยุโรป คาดว่าเทรนด์นี้อีกไม่นานบ้านเราต้องมี”
เป็นเหมือนเครื่องดื่มกินเล่น แต่จะตอบโจทย์เรื่องแมวหรือสุนัขกินน้ำน้อยซึ่งเป็นที่มาของโรคไต
พอมาถึงจุดนี้ Marketeer นึกภาพต่อไปว่า ต่อไปร้านสะดวกซื้อในไทยอาจจะมีตู้แช่เครื่องดื่มสำหรับน้อง ๆ (หมา แมว) ก็เป็นได้ คราวนี้ได้หยิบผิดกันบ้างล่ะ
แผนการหลัง AAI เข้าตลาดหลักทรัพย์
เงินที่ได้จากการระดมทุน จะเพิ่มความแข็งแกร่งในการขยายกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาด และเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่าง ๆ รวมทั้งสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่เขามั่นใจว่าเทรนด์ยังไปต่ออีกนานแน่นอน
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิต 2 แห่ง ได้แก่ (1) โรงงานสมุทรสาคร ฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก ที่มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกจาก 25,000 ตันต่อปีในปี 2560 เป็น 42,000 ตันต่อปีในปัจจุบัน
และโรงงานในมณฑลซานตง ประเทศจีน ซึ่งใช้เป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดในประเทศจีน มีกำลังการผลิตรวมสูงสุด 31 มีนาคม 2565 เท่ากับ 20,000 ตันต่อปี
คาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าใน 4-5 ปีข้างหน้า และรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกันคือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
โดยตอนนี้มั่นใจว่าอาหารของน้องเหมียวคือตัวทำรายได้สูงสุด
เอกราชยังอ้างถึงตัวเลขงานวิจัยจาก dh shopper thoght เมษายน 2022 ที่ระบุว่า
ปัจจุบันทั้งโรคระบาด เงินเฟ้อ น้ำมันแพง สงครามคุกรุ่น ทำให้ผู้บริโภคกำลังใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น สินค้าประเภทขนมหวานของรับประทานเล่นกระทบมากสูงถึง 32% สินค้าเด็กประมาณ 4% แต่สัตว์เลี้ยงน้อยสุด แค่ 2% เท่านั้น
เป็นตัวเลขที่ยิ่งสร้างความมั่นใจ
“สนุกกว่าทำอาหารคน และตลาดโตแน่นอน เพราะคนไม่มีทางรักน้องแมวน้องหมาน้อยลง มีแต่จะผูกพันมากขึ้นครับ”
เอกราชกล่าวย้ำ
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



