ทุกประเทศย่อมมีอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนประเทศ และจะดีขึ้นไปอีกถ้าอุตสาหกรรมหลักนั้นขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ ในตลาดโลกได้

สำหรับมาเลเซียแม้ไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมแต่ก็ทำเงินได้มหาศาลในแต่ละปีจากถุงมือยาง เพราะถุงมือยาง Made in Malaysia ครองสัดส่วนมากถึง 67% ในตลาดโลก

อุตสาหกรรมต่อยอดที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงต้นยางต้นแรกจากบราซิลที่อังกฤษครั้งยังเป็นเจ้าอาณานิคมนำเข้ามาปลูกในมาเลเซียเมื่อปี 1870 นี้มักพุ่งสู่ขาขึ้นทุกครั้งเมื่อโลกเกิดโรคระบาด นับจากเอดส์เมื่อยุค 80 ตามด้วยโรค SARS และ MERS ในระยะ 20 ปีก่อนหน้านี้

ช่วง 3 ปีมานี้สายการผลิตถุงมือยางในมาเลเซียกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังโควิดกลายเป็นโรคระบาดระดับโลก โดยแค่เพียงปี 2020 ปีเดียวมาเลเซียทำยอดส่งออกถุงมือยางได้มากถึง 5,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 157,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2019

บริษัทที่ได้อานิสงส์จากสถานการณ์เข้าทางครั้งนี้มากสุดคือ Top Glove บริษัทถุงมือยางรายใหญ่สุดของมาเลเซีย ส่วนบริษัทอันดับรอง ๆ ร่วมชาติ อย่าง Supermax Hertaleta และ Kossan ก็ทำเงินได้เป็นกอบกำเช่นกัน

สถานการณ์นี้ทำให้ ณ เวลานั้นมาเลเซียขยับบทบาทสำคัญในเวทีโลกอยู่พอสมควร แบบเดียวกับที่โลกหันมาสนใจไต้หวัน จากการเป็นยักษ์เล็กในอุตสาหกรรมชิปที่ขาดแคลนในเวลาเดียวกันพอดี

แม้ไต้หวันถูกจับตามองมากกว่ามาเลเซีย จากความมหึมาของตลาดสินค้าเทคโนโลยีที่ชิปไต้หวันเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กแต่ก็สำคัญ และไต้หวันเองก็ได้รับผลกระทบเสมอจากการชิงอำนาจกันของสหรัฐฯ กับจีนอยู่เสมอก็ตาม    

อย่างไรก็ตาม ปีนี้อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางมาเลเซียถึงคราวร่วงสู่ขาลง ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากสถานการณ์โควิดที่ทุเลาลงอย่างมากนั่นเอง

Top Glove เผยว่า ปีงบประมาณนี้ (สิ้นสุดเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา) ขาดทุนหนัก ทำกำไรได้เพียง 54 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,018 ล้านบาท) เท่านั้น ลดลงจากปีงบประมาณก่อนถึง 97%

และในกรอบเวลาเดียวกันยอดขายก็ลดลงไปถึง 25% โดยหนักสุดในตลาดเอเชียเพราะเป็นตลาดใหญ่สุดที่ยอดขายลดลงถึง 43%

การระบาดที่ลดลงไปมากจนความต้องการในตลาดโลกลดลงตามไปด้วยไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ยอดขายถุงมือยางของ Top Glove ลดลงจนต้องสั่งลดกำลังการผลิตยาวไปปี 2023 เป็นอย่างน้อย เพราะต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มหลังราคาน้ำมันแพง และค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นเหตุให้ Top Glove เจอกับขาลงเช่นกัน

สถานการณ์ทั้งหมดทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางมาเลเซียหดตัว โดยฝ่ายวิเคราะห์ของธนาคาร CIMB คาดการณ์ว่า อาจต้องรออีกเกือบ 2 ปีกว่าความต้องการถุงมือยางจะกลับมาและดันให้ตลาดฟื้นตัว

นี่ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ Top Glove และบรรดาบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย ทำให้จากนี้นอกจากต้องประคองตัว และเดินหมากธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยเน้นไปที่การลดต้นทุนแล้ว

ยังต้องดูแลแรงงานต่างชาติ จากประเทศแถบเอเชียที่เป็นกำลังหลักในโรงงานให้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ไม่ให้เกิดปัญหาทำให้ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งแบนจนกระทบต่อยอดส่งออกอีกด้วย

ทว่าก็มีบางบริษัทในมาเลเซียเริ่มรอให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ไหว โดย Aspen Group กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ ประกาศลดการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง และถ้าภาพรวมยังไม่ดีขึ้นก็อาจถอนตัวไปเลย/nikkei, eic, cnn, bloomberg



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online