เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติมากมายมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อเกิดการปลดครั้งใหญ่ขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติเหล่านี้จึงได้กระทบเต็ม ๆ และถ้าเป็นวงการเทคโนโลยีชาวอินเดียเจ็บหนักสุด

บรรดาชาวอินเดียที่เป็นวิศวกรระบบด้านสารสนเทศ (IT) และกลุ่มงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของบริษัทในสหรัฐฯ กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการหางานใหม่ หลังบริษัทกลุ่มยักษ์เทคอย่าง Meta Twitter และ Amazon ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่

เพื่อประคับประคองบริษัทให้พ้นวิกฤตจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ขายโฆษณาได้แพลตฟอร์มได้ลดลง ชดเชยความเสียหายจากการลงทุนใน Metaverse ที่ยังไม่ผลิดอกออกผล ปรับโครงบริษัทตามแนวทางของผู้บริหารคนใหม่ และโลกกลับสู่ภาวะปกติจนแพลตฟอร์มออนไลน์ลดความจำเป็น

ชาวอินเดียระดับหัวกะทิที่ดูแลระบบให้เหล่ายักษ์เทคให้ข้อมูลตรงกันว่า นอนไม่หลับเลยหลังมีข่าวการปลดครั้งใหญ่ออกมาและเครียดหนักขึ้นไปอีกทันทีที่ได้อีเมลแจ้งว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องตกงาน

กลุ่มที่เครียดมากสุดคือ ผู้ที่ถือวีซ่าผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (H1-B) เพราะต้องหางานใหม่ให้ได้ก่อนวีซ่าขาด และถ้าหาไม่ได้ก็ต้องกลับอินเดีย

ในกรณีที่ต้องกลับอินเดีย อาจต้องรอเป็นปี ๆ กว่าจะได้กลับมาอีก เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาในการติดต่อขอเอกสารราชการ ขั้นตอนทั้งหมดจึงกินเวลานานกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะแค่การขอวีซ่าที่มาสหรัฐฯ จากสถานทูตอินเดียก็ใช้เวลามากถึง 800 วัน หรือกว่า 2 ปีเลยทีเดียว

จนคนระดับหัวกะทิเหล่านี้ต้องกลับมาติดอยู่ในบ้านเกิดที่เศรษฐกิจยังไม่พัฒนาและฉุดรั้งโอกาสก้าวหน้าด้านอาชีพการงาน 

วิศวกรชาวอินเดียของ Meta รายหนึ่งกล่าวว่าการตกงานครั้งนี้คือฝันร้าย เพราะทั้งตนและครอบครัวทุ่มเททั้งเงิน ทั้งเวลาไปมาก และเพิ่งทำงานมาได้เพียง 7 สัปดาห์เท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายหลายทางที่ต้องชำระ ทั้งค่ากินค่าอยู่ และใช้คืนเงินกู้ก้อนใหญ่ที่หยิบยืมมา

การหางานของหัวกะทิชาวอินเดียเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว นี่คือช่วงปลายปีและยังเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจอีก การว่าจ้างพนักงานใหม่ถึงต้องทำอย่างรอบคอบและเน้นเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือชาวอินเดียกลุ่มนี้จะหางานใหม่ได้ก่อนวีซ่าขาดหรือไม่ โดยถ้าไม่ได้จะส่งผลอย่างเป็นระบบให้ชาวอินเดียในบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ลดลง ไปจนกว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะดีขึ้น

ข้อมูลจากทางการสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเกินครึ่งของผู้ที่ขอวีซ่า H1-B นั้นคือชาวอินเดีย

และก่อนเกิดการปลดใหญ่ ก็ยังมีข้อมูลอีกว่าอินเดียแซงจีนขึ้นเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มากเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐฯ  เพราะต่างก็อึดอัดกับระบบในประเทศ และอยากได้ขึ้นไปเป็นผู้บริหารชาวอินเดียของยักษ์เทคในสหรัฐฯ เหมือนซีอีโอ Google และ Microsoft

แต่ถ้าหัวกะทิเหล่านี้ตัดสินใจอยู่ทำงานในอินเดียอย่างจริงจังแทนที่จะกลับไปสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอินเดีย โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าผลักดัน ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า ถ้าทำอย่างจริงจัง เศรษฐกิจอินเดียอาจโตแซงจีน

Jawaharal Neru นายกฯ อินเดียคนแรก

สำหรับความเก่งกาจของชาวอินเดียในเรื่องเทคโนโลยี สืบย้อนไปได้ไกลถึงช่วงที่อินเดียเพิ่งเป็นเอกราชจากอังกฤษ ที่ Jawaharal Neru นายกรัฐมนตรีคนแรก สั่งให้เน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อเร่งการพัฒนาประเทศ

ซึ่งแม้ประสบความสำเร็จมีคนระดับหัวกะทิด้านเทคโนโลยีมากมาย ท่ามกลางเรื่องราวความทุ่มเทฝ่าฟันอุปสรรคของครอบครัวชาวอินเดียเพื่อส่งบุตรหลานให้ได้เรียนสูง ๆ

แต่กลายเป็นว่าระบบในประเทศยังล้าหลัง จนคนเก่งย้ายไปทำงานต่างประเทศ และสมองไหลกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังต้องแก้ไขกันต่อไป/bbc  



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online