ขณะที่คนทั่วโลกโดยเฉพาะคอบอลหันมาสนใจกาตาร์กันมากขึ้น เพราะปีนี้ได้โปรโมทประเทศครั้งใหญ่ด้วยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด
ซึ่งหลังจบทัวร์นาเมนท์ก็ยังต้องมาพิจารณากันอีกว่า งบ 200,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7 ล้านล้านบาท) ตลอดกว่า 10 ปีที่ลงไปนั้น จะคุ้มหรือขาดทุน
ทว่ารู้หรือไม่ว่าปากีสถานก็เฝ้ารอฟุตบอลโลกครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในเอเชียเช่นกัน เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตลูกฟุตบอลใหญ่สุดในโลก
มีการประเมินกันว่าลูกฟุตบอลที่เตะกันอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าในระดับใด 70% ผลิตมาจากโรงงานกว่า 2,000 แห่งในเมืองซิอัลโกต ของปากีสถาน และยังสร้างงานให้ผู้คนราว 60,000 คนในเมือง คิดเป็น 8% จากประชากรในเมืองทั้งหมด
Forward Sports คือบริษัทลำดับต้นๆ ของธุรกิจนี้ เพราะได้รับอนุญาตจาก FIFA ให้ผลิตลูกฟุตบอลในการแข่งขัน (Match ball) กับ FIFA และถือเป็นบริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ลูกฟุตบอลรายใหญ่ของ Adidas อีก มาตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2014 จนถึงปี 2022 นี้
Forward Sports เผยว่า ได้ผลิตลูกฟุตบอลรุ่น Al Rihla ของ Adidas ป้อนให้ FIFA ใช้ตลอดทัวร์นาเมนท์นี้มากถึง 300,000 ลูก และเพื่อให้ทันสัญญาที่ตกลงกันไว้พร้อมลดความเสี่ยง จึงได้ให้โรงงานที่ปากีสถานกับจีนผนึกกำลังกัน
ขณะที่ผู้บริหาร Forward Sports คาดว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะทำให้วงการฟุตบอลคึกคัก และส่งผลมายังยอดผลิตลูกฟุตบอลทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นอีกหลาย 10 ล้านลูก จากยอดผลิตทั้งตลาดซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 40 ล้านลูกต่อปี
โดยมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยตอบสนองยอดผลิตและความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ได้แบบหมดห่วง จึงตัดปัญหาการผลิตที่ล่าช้าในอดีตเพราะยังเย็บด้วยมือไปได้พอสมควร
ผู้บริหารของ Forward Sports ยังคาดด้วยว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ จะพาเงินหลั่งไหลเข้าบริษัท 27 ล้านดอลลาร์ (ราว 956 ล้านบาท) เลยทีเดียว
ความคึกคักของสายการผลิตลูกฟุตบอลในเมืองซิอัลโกต ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนอินเดีย ยังย้ำถึงการเป็นฐานการผลิตลูกบอลและอุปกรณ์กีฬาอีกหลายประเภท ซึ่งสืบย้อนไปได้ถึงยุคอาณานิคม ที่ปากีสถานเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์กีฬาเพื่อให้กองทัพและชาวอังกฤษที่มาอยู่แถบเอเชียใต้ในยุคนั้น
พร้อมกันนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการสานงานกันของประชากรกลุ่มต่างๆ ของปากีสถาน โดยขณะที่ชาวมุสลิมใช้ความสามารถด้านงานฝีมือ ในการเย็บลูกฟุตบอล ชาวฮินดูกับชาวซิกข์ ก็เป็นฝ่ายเจรจาธุรกิจและจัดหาวัตถุดิบตามที่ถนัด
และการประสานงานในกระบวนการผลิตเหล่านี้ช่วยให้ปากีสถานทำเงินเข้าประเทศจากการผลิตอุปกรณ์กีฬาปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 35,400 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้ 350 ถึง 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 12,400 ถึง 17,700 ล้านบาท) มาจากยอดส่งออกลูกฟุตบอล
ทำให้อุตสาหกรรมผลิตลูกฟุตบอลมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แม้ฟุตบอลเป็นกีฬาที่คนในประเทศแทบไม่ได้ดูเลยก็ตาม ตรงข้ามกับคริกเก็ตที่เป็นกีฬายอดนิยม แบบเดียวกับประเทศอื่นๆแถบเอเชียใต้
ปากีสถานไม่ใช่ประเทศเดียวที่ได้อานิสงส์จากฟุตบอลโลกปีนี้ โดยโรงงานของบริษัท PT Global Way ในเมืองมาดิอุน ของอินโดนีเซีย ก็ได้ดีลใหญ่จาก FIFA และ Adidas ในการผลิตลูกฟุตบอลสำหรับใช้โปรโมตที่กระจายไปทั่วโลก ทั้งที่เปิดโรงงานมาได้ไม่นาน จนช่วยเศรษฐกิจในเมืองขยายตัว 3.32% ในช่วงที่โลกยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ / brecorder
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



