จะให้งานสำเร็จลุล่วงแค่ขยัน ทำงานเป็น และทำงานเก่ง นั้นยังไม่พอ เพราะเราต้องพึ่งพาความช่วยเหลือของเพื่อนร่วมงานต่างรุ่นและแผนกอื่น ๆ ด้วย นี่จึงทำให้ออฟฟิศที่ความสัมพันธ์ราบรื่นงานจะเดินหน้าไปได้ดีกว่าออฟฟิศที่พนักงานไม่สนิทสนมกัน

ซึ่งจะสนิทกันได้ก็ต้องละลายพฤติกรรมผ่านการสังสรรค์ และแน่นอนว่าปาร์ตี้ส่วนใหญ่แต่ไหนแต่ไรมาเปิดโอกาสให้คนในออฟฟิศเดียวกันได้ผ่อนคลายพร้อมละลายพฤติกรรมนี้ เหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

นี่ทำให้เครื่องดื่ม ‘มีแอล’ เหล่านี้เป็นเหมือนสารหล่อลื่นในบทสนทนาในปาร์ตี้ ทำให้ปาร์ตี้และการสังสรรค์รวมไปถึงการเจรจาทุกระดับไม่ตึงเครียดจนเกินไป และยังทำให้สนิทกันได้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย อันเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า สุราน้ำมิตร นั่นเอง

ทว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้โลกการทำงาน เลยไปจนถึงการสังสรรค์หลังเลิกงานเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเครื่องดื่ม ‘มีแอล’ ถูกลดดีกรีความสำคัญลงมา จากที่ต้องมี เป็นมีน้อยลง หรือไม่มีไปเลย

เทรนด์นี้น่าสนใจตั้งแต่ที่มา เพราะเชื่อมโยงกับหลายประเด็น ตั้งแต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่ม รูปแบบการใช้ชีวิต เรื่อยไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจ-สังคม การเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพในออฟฟิศ เงินในกระเป๋า และผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์โลก

ส่วนในเรื่องผลกระทบก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะทำให้บรรดาค่ายเครื่องดื่มต้องปรับตัว จนตลาดเครื่องดื่ม ‘มีแอล’ สะเทือนเลยทีเดียว

หลักฐานคือ เบียร์แอลกอฮอล์ 0% ในตู้แช่ร้านสะดวกซื้อทั่วโลก และการที่ Kirin บริษัทเครื่องดื่มญี่ปุ่น ต้องปรับสูตรทำธุรกิจครั้งสำคัญ ทุ่มลงทุนในกลุ่มเครื่องดื่มสุขภาพ พร้อมลดสัดส่วนการผลิตเหล้า-เบียร์ ลงไป

ทั้งที่รู้กันโดยทั่วไปว่า หากไร้เครื่องดื่ม ‘มีแอล’ ทั้งหมด Kirin ก็คงไม่ได้เป็นยักษ์เครื่องดื่มญี่ปุ่นดังเช่นทุกวันนี้

 

การส่งเสียงของ Gen Z สู่โปรเจกต์ 32,600 ล้านบาทในญี่ปุ่น  

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สถานะของเครื่องดื่ม ‘มีแอล’ ในปาร์ตี้หลังเลิกงาน หรืองานสังสรรค์ตามออฟฟิศนั้นไม่เหมือนเดิมแล้ว ซึ่งสาเหตุเริ่มมาจากความอึดอัดที่มีต่อเครื่องดื่มเหล่านี้

ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร (UK) 2,000 คน เมื่อไม่นานมานี้ พบว่า 43% ทีเดียวที่รู้สึกกดดันเมื่อต้องดื่มกับเพื่อนร่วมงาน

ข้ามไปยังสหรัฐฯ ปริมาณการดื่มของชาวออฟฟิศก็ลดลง โดยตามผลการสำรวจของ Gallup ระบุว่า เมื่อปี 2021 กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันวัยทำงานดื่มอยู่ที่ 3.6 แก้ว ลดลงจาก 4.8 แก้วเมื่อปี 2009 

แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศแถบเอเชียอย่างจีน ที่การดื่มกับเพื่อนร่วมงานหรือระหว่างการเจรจาธุรกิจถือเป็นเรื่องจำเป็น และญี่ปุ่นที่การดื่มกับเพื่อนร่วมงานถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ถ้าสืบสาวให้ลึกลงไปก็มาจากการไม่ดื่มจากบรรดาน้องใหม่ตามบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่ครองสัดส่วนอยู่พอสมควรในตลาดแรงงานปัจจุบัน 

Gen Z เห็นว่า การดื่มไม่จำเป็น เพราะเสียสุขภาพและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการเดินทาง เห็นว่าเป็นสิทธิที่พึงมีของพนักงานทุกคน 

อยากสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานอย่างมีสติมากกว่า ประกอบกับไม่อยากให้มีภาพตัวเองเมาหมดสติจนเสียภาพลักษณ์ไปโผล่อยู่บนสื่อโซเชียล และสามารถเข้าถึงข้อมูลผลเสียการดื่มหนักได้ง่ายกว่าในอดีต

ขณะเดียวกันยังต้องเริ่มชีวิตการทำงานในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต (Permacrisis) หลังพ้นสถานการณ์โควิดได้ไม่นาน และยังมาเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่บริษัทใหญ่ระดับโลก พากันปลดพนักงานแบบล็อตใหญ่อีก เงินเดือนที่ได้จึงไม่เหลือพอให้ไปปาร์ตี้   

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นหรือรุ่นพี่ที่เลื่อนขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงโดยที่เป็นคนไม่ดื่ม

เทรนด์ปาร์ตี้ปลอดเหล้าเบียร์ในโลกการทำงานยุคนี้ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างก็ปรับตัว โดย WeWork บริษัทให้เช่าสำนักงานพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หันมาเตรียมชาคอมบูชะ บาริสต้าพร้อมชงกาแฟตลอดวัน

หรือเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ ไว้ ซึ่งอาจมีกลุ่มน้ำผลไม้อัดแก๊สผสมแอลกอฮอล์อ่อน ๆ ให้กับบริษัทลูกค้าใน UK เพิ่มเข้ามา จากเดิมที่มีแต่เบียร์ฟรีไว้สำหรับปาร์ตี้วันศุกร์ 

ส่วนเหล่ามนุษย์เงินเดือน (หรือที่ญี่ปุ่นเรียกกันว่า ซาลารี่มัง) รุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ที่ขอหรือกล้าไม่ไปปาร์ตี้หลังเลิกงานก็มีเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลก็เหมือนกับคนวัยทำงานรุ่นใหม่ทั่วโลก

และไม่อยากเป็นหนึ่งในซาลารี่มัง ที่ถูกบังคับให้ดื่มหนักจนกลับบ้านไม่ไหว และต้องนอนอยู่ตามสถานีรถไฟ ให้อับอายเพื่อนร่วมชาติกับนักท่องเที่ยว

เมื่อปาร์ตี้ปลอดเหล้าเพิ่มขึ้น ก็บีบให้บริษัทเครื่องดื่มใหญ่ ๆ ของประเทศต่าง ๆ ปรับตัว โดย AB InBev ยักษ์เครื่องดื่มเบลเยียมซึ่งเป็นเจ้าของ Budweiser เบียร์ดังในสหรัฐฯ ได้ผลักดันเบียร์ Budweiser แบบไร้แอลกอฮอล์ หรือ Bud Zero ออกสู่ตลาดมากขึ้น

หลัง 4 เดือนแรกของปี 2022 ทำยอดขายในสหรัฐฯ ได้ถึง 316 ล้านดอลลาร์ (ราว 11,300 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 21% จาก 4 เดือนแรกของปี 2021

นอกจากนี้ Bud Zero ยังกลายเป็นข่าวดังเมื่อฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา โดย Budweiser ส่ง Bud Zero ล็อตใหญ่ไปกาตาร์แทนเบียร์ปกติ หลัง FIFA ฉีกสัญญาไม่ให้ขาย เพื่อเอาใจเจ้าภาพ ทั้งที่ตกลงกันไว้แล้วว่า ขายได้เฉพาะโซนที่กำหนดไว้

ขณะที่บริษัทเบียร์รายเล็ก ๆ ในสหรัฐฯ ก็ทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำจากเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ จนคาดกันว่า ในอนาคตเบียร์ประเภทนี้จะขายดีขึ้นอีก จนครองสัดส่วน 1 ใน 5 ตลาดเบียร์ของสหรัฐฯ    

ด้าน Kirin ยักษ์เครื่องดื่มญี่ปุ่น ทุ่มงบ 900 ล้านดอลลาร์ (ราว 32,600  ล้านบาท) พัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพออกมาอีก หลังจับมือกับ Coca-Cola Japan ทำเครื่องดื่มมีจุลินทรีย์ขายดี สวนทางกับยอดขายเหล้า-เบียร์ ที่สร้างบริษัทขึ้นมาลดลงไป

จากนี้มีแนวโน้มว่า ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกลุ่ม Cocktail และรวมไปถึง Mocktail ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาจขายดีขึ้นมา

และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ ก็จะมีออกมามากขึ้นด้วย เพื่อเอาใจ Gen Z ซึ่งในปี 2025 จะครองสัดส่วน 27% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของคนวัยทำงานทั่วโลก/bbcdw



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน