เพราะเป็นเชื้อเพลิงหลักในยวดยานพาหนะเพื่อสัญจรไปมา ขนส่ง และคมนาคม น้ำมันจึงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างยิ่งยวด โดยถ้ามีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นแล้วกระทบกับน้ำมันขึ้นมา ก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ให้ต้นทุนสินค้าและราคาน้ำมันแพงขึ้น

จนที่สุดผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นทรัพยากรโลกที่พร้อม ‘เดือด’ และ ‘เหือด’ อยู่เสมอ เพราะส่วนใหญ่อยู่แถบประเทศตะวันกลางหรืออาหรับที่อ่อนไหวทางการเมือง เป็นพื้นที่สีแดงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

และกลุ่มประเทศที่ผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ก็สามารถกำหนดทิศทางของตลาดได้ผ่านมติต่าง ๆ ซึ่งที่สุดแล้วก็ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นอีกเช่นอีกกัน

ทว่าหลังรถ EV ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าออกตัวได้ผ่านยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ Tesla แซง Toyota ขึ้นเป็นบริษัทยานยนต์มูลค่าอันดับหนึ่งของโลก ก็พาให้องคาพยพของอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไป

สามเรื่องใหญ่ที่ปรากฏขึ้นตามมาจากสถานการณ์นี้คือ ค่ายรถหันมาผลิตรถ EV กันมากขึ้น การเกิดขึ้นของค่ายรถใหม่ ๆ อย่าง Rivian ที่ผลิตแต่รถ EV และการเลิกผลิตรถรุ่นเก่าอย่างในกรณีของ Ford ที่ยุติสายการผลิต Fiesta แม้เป็นรถเล็กประหยัดน้ำมันก็ตาม   

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าวอีกเรื่องที่กำลังทวีความน่าสนใจคือ การที่ประเทศต่าง ๆ และบริษัทใหญ่ ๆ พากันตื่นตัวหาแหล่งแร่ เช่น ลิเทียมกับแร่หายากอื่น ๆ และพัฒนานวัตกรรมสกัดแร่เพื่อป้อนและทำเงินจากสายการผลิตรถ EV

เมื่อแร่กำลังทวีความสำคัญต่อสายการผลิตรถ EV จึงมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแร่ในสายการผลิตรถ EV เกิดขึ้นมากมายในช่วงเพียงกว่า 1 ปีมานี้ และยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจแทรกอยู่ ไม่ต่างจากเรื่องน้ำมันในอดีต

 

Tesla บุกโมแซมบิก

มกราคม 2022 ทำสัญญาซื้อแกรไฟต์ จากเหมืองของบริษัทออสเตรเลียในโมแซมบิก จาก 3 เหตุผลคือ เป็นหนึ่งในเหมืองแกรไฟต์ใหญ่สุดในโลก แกรไฟต์เป็นหนึ่งในแร่สำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่รถ EV รองจากลิเทียม และลดการพึ่งพาจีน ประเทศที่มีแร่ดังกล่าวอยู่มากสุดในโลก

แม้เป็นแผนเพื่ออนาคต แต่ก็จะทำให้ Tesla ไม่ต้องกังวลว่า แกรไฟต์จะขาดแคลนหรือสะดุด หากจีนเกิดขัดแย้งกับสหรัฐฯ อีกแล้วใช้แกรไฟต์เป็นอาวุธกดดัน

เพื่อไม่ให้สายการผลิตสะดุด Tesla ยังไปลงทุนในเหมืองนิกเกิลที่นิวแคลิโคเนีย ดินแดนใต้ปกครองของฝรั่งเศสทางตอนใต้มหาสมุทรแปซิฟิก แหล่งนิกเกิลใหญ่อันดับ 4 ของโลกอีกด้วย

 

อินเดียขยับด้วยการปรับกฎหมาย

ราวกลางปี 2022 รัฐบาลอินเดียที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นาเรนทรา โมดี เดินหน้าแก้กฎหมายด้านการทำเหมืองและสกัดแร่ 8 ชนิด เพื่อให้เอกชนสามารถสกัดแร่สำคัญ ๆ ต่อเศรษฐกิจได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีลิเทียม แร่หลักในการผลิตแบตฯ  รถ EV รวมอยู่ด้วย

ตามข้อมูลของรัฐบาลอินเดียระบุว่า มีลิเทียมอยู่ในรัฐคาร์นาตากา ทางภาคใต้ของประเทศ โดยแม้ไม่ได้มีมากมายมหาศาล แต่ก็คงจะสามารถลดการนำเข้าจากต่างชาติลงไปได้บ้าง

เพราะเมื่อปี 2021 อินเดียนำเข้า ลิเทียมเป็นมูลค่าสูงถึง 1,830 ล้านดอลลาร์ (ราว 66,000 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2020 ถึง 54% ซึ่งที่มากสุดก็มาจากจีน  

 

Toyota ซื้อลิเทียมล็อตใหญ่ ก่อนเดินเครื่องลุยตลาด EV เต็มตัว

สิงหาคมปี 2022 Toyota ทำสัญญาซื้อลิเทียม น้ำหนักรวม 4,000 ตัน จากเหมืองของบริษัทออสเตรเลียในสหรัฐฯ  เพื่อให้มีป้อนสายการผลิตรถ EV ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี

นี่ถือเป็นการลงทุนด้านลิเทียมครั้งใหญ่ ต่อเนื่องมาจากการทุ่มงบ 232 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,300 ล้านบาท) ซื้อหุ้นบริษัท 15% ของบริษัทเหมืองสัญชาติออสเตรเลียในอาร์เจนตินา เมื่อปี 2018 และการตั้งบริษัท Prime Planet ร่วมกับ Panasonic  

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตรถ EV ของ Toyota ในช่วงท้าย ๆ ของการเป็นซีอีโอของ อากิโอะ โตโยดะ เพราะต่อมาหลานผู้ก่อตั้ง Toyota ผู้นี้ก็ลุกจากเก้าอี้ซีอีโอ แล้วให้ โคจิ ซาโตะ ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งฝ่ายบริหารคนใหม่แทน

โคจิ ซาโตะ

โคจิ ซาโตะ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ประกาศลุยพัฒนารถ EV เต็มกำลัง ซึ่งเขาสามารถทำได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องลิเทียม เพราะ อากิโอะ โตโยดะ มีเตรียมพร้อมไว้ให้แล้วล็อตใหญ่นั่นเอง

 

ยักษ์แบตฯ จีนเปิดดีลสะเทือนวงการ

มกราคมปีนี้มีข่าวใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจทำเหมือง โดย CATL บริษัทผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่สุดในโลกสัญชาติจีน ทุ่มงบ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 32,800 ล้านบาท) คว้าดีลทำเหมืองลิเทียมใหญ่สุดในโลกที่โบลิเวีย

ตามรายงานของสื่อญี่ปุ่นที่เกาะติดข่าวนี้ระบุว่า ปริมาณลิเทียม ที่โบลิเวียมีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ถูกขุดเจาะออกมานั้น คิดเป็น 23% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของทั่วโลก

และชัยชนะในการประมูลของจีนยังเป็นการย้ำถึงความเป็นยักษ์ใหญ่ของ CATL และกำลังเงินของบริษัทจีน เหนือบริษัทคู่แข่งจากประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ และรัสเซียอีกด้วย

 

ยักษ์เล็กพลังงานยุโรป เจอคลังแร่ EV ล็อตใหญ่ใต้ทะเล

กุมภาพันธ์ปีนี้ นอร์เวย์ทำให้อุตสาหกรรมรถ EV ต้องหันมามอง โดยได้ประกาศว่า สำรวจพบแร่ล็อตใหญ่ใต้ทะเลนอร์เวย์และกรีนแลนด์ ซึ่งที่มากสุดคือทองแดง อีกหนึ่งแร่สำคัญต่อการผลิตแบตฯ รถ EV

นอกจากจะทำให้นอร์เวย์เป็นอีกประเทศที่ทำเงินจากการส่งแร่ป้อนสายการผลิตรถ EV แล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังเป็นการย้ำสถานะประเทศเล็กในยุโรปแต่มั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

เพราะหลังรัสเซียระงับการส่งออกก๊าซไปยังยุโรป แทบทั้งทวีปก็ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ ซึ่งนอร์เวย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น จนทำให้ปี 2022 นอร์เวย์ มีเงินเข้าคลังจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้นเป็น 98,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)

 

ยักษ์ธุรกิจญี่ปุ่น ปั้นนวัตกรรมสกัดแร่

เมษายนปีนี้ Sumitomo Metal Mining ปีกธุรกิจโลหะและการทำเหมืองในเครือ Sumitomo ของญี่ปุ่น เผยว่า กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีสกัดลิเทียมจากน้ำเกลือหรือน้ำทะเล ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าวคือ การลดเวลา เพราะจากเดิมต้องใช้เวลาสกัดลิเทียมกันนานเป็นปี ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการสกัดลิเทียมเพื่อป้อนสู่สายการผลิตแบตฯ ในรถ EV อีกด้วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Sumitomo Metal Mining มีขึ้นไม่นานหลังรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศจับมือกับบรรดาบริษัทใหญ่ ๆ เร่งเครื่องธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ เช่น ชิป และลิเทียม เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติด้านเทคโนโลยี และ Supply chain ของธุรกิจต่าง ๆ/nikkei, cnn, ap, aljazeera

 

 



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน