หลายคนอาจจะคุ้นหน้าอาจารย์วิศิษฎ์ เตชะเกษม ในแง่ของการเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของฮวงจุ้ย แต่จะมีสักกี่คนกันที่รู้ว่า อาชีพที่แท้จริงของอาจารย์คือการเป็นสถาปนิก

และก็ไม่ใช่แค่สถาปนิกธรรมดา ๆ เพราะถ้าพูดชื่องานที่อาจารย์เป็นคนออกแบบไป ไม่ว่าใครก็รู้จักกันทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ‘วงเวียนโอเดียน เยาวราช’, วัดญาณเวศกวัน , ห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในยุคของพลเอก เปรม, ตึก Industrial Design ที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก็ล้วนแต่เกิดจากมันสมองของสถาปนิกที่ใครๆ ก็คิดว่าเป็นซินแซคนนี้ทั้งนั้น

แต่ก่อนจะมีผลงานระดับ Master Piece เข้ามาอยู่ใน Portfolios แบบนี้ได้ เชื่อไหมว่าอาจารย์เคยเอ็นทรานซ์คณะสถาปัตย์ฯ ไม่ติด มาก่อน เคยโดนสั่งรื้อบ้านทั้ง ๆ ที่กำลังจะเข้าตกแต่งภายใน

แล้วสิ่งที่ทำให้อาจารย์ก้าวมาอยู่ในจุดที่สามารถสร้างงานระดับประเทศแบบนี้ได้คืออะไร ?

ด้านล่างนี้มีคำตอบ

 

ถูกปลูกฝังความเป็นสถาปนิกมาตั้งแต่อยู่ ป.4

แรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์เลือกจะเดินในเส้นทางของการเป็นสถาปนิก เกิดจากการที่ชอบวาดรูปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และไม่ได้แค่ชอบ แต่ยังสามารถทำออกมาได้ดีมาก ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างคนอื่นอาจจะใช้เวลาวาด 2 ชั่วโมง แต่อาจารย์ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีก็เสร็จแล้ว

ทักษะการวาดรูปนี้จึงกลายเป็นเหมือนพรสวรรค์ จนทั้งคุณครูและเพื่อนๆ ต่างก็บอกว่าให้ไปเอาดีทางด้านสถาปัตย์ฯ และสิ่งต่างๆ ตรงนี้เอง ที่ทำให้อาจารย์อยากจะเป็นสถาปนิกในที่สุด

พรสวรรค์เยอะแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีพรแสวง คงจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้

อาจารย์วิศิษฎ์บอกกับ Marketeer ว่า ตอนนั้นยอมรับตรงๆ เลยว่า คะนอง คิดว่าตัวเองเก่งเลยไม่สนใจอ่านหนังสือเอ็นทรานซ์ หรืออย่างตอนที่เขามีให้เลือกมหาวิทยาลัย 6 อันดับ ตัวเองก็เลือกไปเพียงแค่อันดับเดียว

ผลสุดท้าย พรสวรรค์ที่ว่าก็ไม่สามารถทำให้อาจารย์เอ็นทรานซ์ติดขึ้นมาได้

แต่คนเรา ล้มแล้วต้องรีบลุก เมื่อเอ็นท์’ ไม่ติดอาจารย์ก็เลยใช้เวลา 1 ปี เต็มในการทบทวนความรู้เพื่อไปสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ปีต่อมาก็เลยสามารถเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สมความตั้งใจ แถมได้คะแนนอยู่ในอันดับต้น ๆ ซะด้วย

และถึงจะเรียนช้าไปกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน 1 ปี แต่ในทุกความผิดพลาดย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ เพราะปีที่อาจารย์เอ็นทรานซ์เข้ามาใหม่ ดันเป็นปีที่มีทุนให้เรียนพอดิบพอดี

นี่แหละ ผลจากการล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

จบปี 3 ก็เริ่มออกแบบบ้านด้วยตัวเอง

ถึงการเรียนสถาปัตย์ฯ จะใช้เวลาในการเรียนมากถึง 5 ปี แต่เมื่อจบปีที่ 3 นิสิตจะได้รับใบอนุปริญญา ที่สามารถออกแบบบ้านได้ในสเกลที่กำหนดไว้ได้

และด้วยความร้อนวิชา อยากใช้ความรู้ที่อุส่าห์ร่ำเรียนมาให้เป็นผล อาจารย์ก็เลยลงมือออกแบบบ้าน และสร้างบ้านหลังแรกซึ่งเป็นบ้านของคุณอาของเขาเอง

สร้างเสร็จกำลังจะเตรียมตกแต่งภายใน แต่พอให้คุณปู่ซึ่งมีความรู้ในด้านของฮวงจุ้ยมาดู คุณปู่ก็สั่งรื้อแทบจะทั้งหมด อย่างประตูหน้ากับประตูหลัง มองผ่านแล้วทะลุถึงกันก็ไม่ได้แล้ว

สุดท้าย…..คุณอาก็เลือกที่จะเชื่อคุณปู่ ซึ่งอาจารย์บอกว่าตอนนั้นก็แอบเคืองคุณปู่อยู่ไม่ใช่น้อย แต่จะทำยังไงได้ ในเมื่อถึงยังไง เราก็ไม่สามารถต่อสู้กับความเชื่อของคนได้อยู่แล้ว

โดนสั่งรื้อบ้านเพราะเรื่องฮวงจุ้ยใช่ไหม ก่อนจบก็เลยทำวิจัยเรื่องนี้ซะเลย !

เมื่อรู้ว่าสู้กับความเชื่อไม่ได้อาจารย์ก็เลยตัดสินใจเรียนรู้ที่อยู่กับมันให้เป็น ด้วยการศึกษาหาความรู้ทางด้านฮวงจุ้ยกับคุณปู่ ซึ่งจริงๆ มันเป็นสิ่งที่คุณปู่คอยพูดให้ฟังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพียงแต่อาจารย์ไม่ค่อยที่จะสนใจมันอย่างจริงจังก็เท่านั้นเอง

ตรงนี้ส่งผลให้อาจารย์วิศิษฎ์เลือกทำวิจัยจบในหัวข้อ “อิทธิพลไสยศาสตร์จีนที่มีผลต่อสถาปัตยกรรมไทย” และเพียงแค่เสนอหัวข้อไป อาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็บอกกลับมาว่า

“พัฒนาหัวข้อนี้ต่อไปนะ เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน”

"คุณปู่บอกว่า อั๊วให้มรดกลื้อเอาไว้แล้ว
ซึ่งตอนยังนิยามคำว่ามรดกของผมมันคือ ทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน ไม่ก็ของเล่นอะไรสักอย่าง
ตอนนั้นก็เลยยังไม่เข้าใจ ว่ามรดกในความหมายของคุณปู่คืออะไร"

ทำงานที่แรกได้ 5 วัน ก็ตัดสินใจลาออกทันที!

เมื่อเรียนจบอาจารย์ก็เข้าทำงานที่บริษัทรับออกแบบเหมือนกับเด็กจบใหม่ทั่วไป แต่ทำได้เพียงแค่ 5 วันก็ตัดสินใจลาออก เพราะมีอีกหนึ่งบริษัทมาชวนให้ไปทำงานด้วย

ซึ่งบริษัทใหม่ที่ว่าสวัสดิการ เงินเดือน ก็พอ ๆ กัน แต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจออกมา เป็นเพราะว่าบริษัทเก่าวัน ๆ ก็ให้เอาแต่นั่งเขียนแบบ อาจารย์ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าอยู่ไปนานเข้า คงจะไม่มีวันได้เติบโตได้แน่

พอย้ายมาที่ใหม่ ก็ได้ทำงานเยอะสมใจ ถามว่าเยอะขนาดไหนนะหรอ? ภายใน 3 ปีที่ทำงานอยู่ในนั้น อาจารย์วิศิษฎ์มีโปรเจ็คที่ถืออยู่ในมือกว่า 24 ชิ้น ทำงานวันละ 20 ชั่วโมงไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่อาจารย์วิ่งเข้าหาเองทั้งนั้น

อย่างถ้าเป็นสถาปนิกคนอื่น แค่ออกแบบก็จบ แต่อาจารย์เลือกที่จะไปคุมงานที่ไซต์ด้วย จบโปรเจ็คหนึ่งก็ไม่พัก ขอต่อโปรเจ็คใหม่ทันที

ซึ่งข้อความต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ Marketeer อยากให้มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายได้เก็บเอาไปคิดกันว่า

“ถามว่าทำไมผมถึงรับโปรเจ็คเยอะทั้ง ๆ ที่เงินเดือนก็ได้เท่าเดิม อาจะเป็นเพราะผมเป็นเติบโตมาในครอบครัวคนจีน ที่ถูกสอนให้เป็นเถ้าแก่ เป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม ที่ผมขอทำงานเยอะ ๆ เพราะผมต้องการเรียนรู้ เพื่อที่วันนึง ผมจะต้องบินเองให้ได้

และหลังจากทำงานได้ 3 ปี อาจารย์วิศิษฎ์ก็ตัดสินใจลาออกมา จนได้เปิดบริษัทของตัวเองในที่สุด

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ค้นพบการเพิ่มมูลค่างาน ด้วยหลักฮวงจุ้ย

พอออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง อาจารย์ก็ได้รับโปรเจ็คจากลูกค้าคนหนึ่ง ที่ต้องการจะสร้างบ้านแบบ Cluster คือเป๋็นบ้านที่มีบ้านหลายๆ หลังที่เป็นเครือญาติกัน ให้อยู่ในรั้วเดียวกัน

อาจารย์วิศิษฎ์และทีมก็เลยออกแบบมาให้ลูกค้าเลือก 5 แบบ คือบ้านที่เน้นการใช้งานเป็นหลัก, บ้านที่เน้นความสวยงามเป็นหลัก, บ้านที่เน้นการประหยัดพลังงานเป็นหลัก, บ้านที่เน้นความท้าทายของโครงสร้างเป็นหลักเช่น มีเสาแค่เสาเดียว และสุดท้าย ก็คือ บ้านที่เน้นฮวงจุ้ยเป็นหลักนั่นเอง

และเมื่อเสนอแบบไป สุดท้ายลูกค้าก็ดันเลือกแบบบ้านที่เน้นฮวงจุ้ยเป็นหลัก มาให้อาจารย์เอามาพัฒนาต่อ จนเมื่องานเสร็จผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ ทีนี้ก็ไม่ใช่แค่กับบ้าน แต่ลูกค้ารายนี้ก็ยังมอบโปรเจ็คให้อาจารย์ สร้างบริษัทของเขาที่มีอยู่กว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศให้อีกด้วย

โปรเจ็คสร้างบ้านแบบ Cluster นี้เองจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นทำให้อาจารย์ค้นพบลายเซ็นของตัวเอง ในการนำหลักฮวงจุ้ยไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานสถาปัตยกรรม

และก็ยังทำให้อาจารย์เข้าใจอีกว่า มรดกที่คุณปู่ทิ้งไว้ให้ หมายถึงอะไร

 

ไม่ใช่แค่โครงสร้างแข็งแรง แต่ต้องอยู่แล้วมีความสบายใจ

นอกจากความแข็งแรงของโครงสร้าง การทำบ้านในแต่ละหลังยังต้องทำให้คนอยู่ อยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ฉะนั้นแล้วการสร้างบ้านแต่ละหลังของอาจารย์ จึงจะมีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ซึ่งนั่นก็คือ

1.ถูกต้องตามหลักสถาปัตยกรรม

2.สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

3.คือเมื่อเข้าไปอยู่ต้องมีความรู้สึกสุขใจ และอุ่นใจ ซึ่งเรื่องของฮวงจุ้ยก็สามารถตอบโจทย์ข้อสุดท้ายได้เป็นอย่างดี

และแม้ฮวงจุ้ยจะเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลักฮวงจุ้ยบางอย่างก็ดันไปสอดคล้องกับหลักสถาปัตยกรรมอย่างเช่นการวางทิศทางลมของบ้าน ด้วยเช่นกัน

“เพราะเรียนมาเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกคนไหนก็มีความรู้ในการสร้างบ้านทั้งนั้น แต่สิ่งที่ทำให้อาจารย์วิศิษฎ์มีความแตกต่าง คือการนำเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์ ก็อย่างที่อาจารย์บอกไปนั่นแหละค่ะ ว่าถึงยังไง เราก็ไม่สามารถต่อสู้กับความเชื่อของคนได้อยู่แล้ว”

(หมายเหตุ* บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่เรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ และสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตเท่านั้น มิได้มีเจตนาโน้มน้าวให้ผู้อ่านหันมาเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยแต่อย่างใด เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online