ธุรกิจใหญ่ ๆ ของโลกแทบทั้งหมดบริหารและควบคุมโดยซีอีโอผู้ชาย นี่ทำให้หากมีผู้หญิงแซงหน้าผู้ชายขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของบริษัท แบบหงส์เหนือมังกร ได้ ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่า เธอคนนั้นต้องทั้งเก่งและแกร่งกว่าผู้หญิงทั่วไป

สายการบินก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ที่มีผู้หญิงเพียงหยิบมือขึ้นสู่ยอดพีระมิดขององค์กรได้

ตามข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ทั่วโลกมีสายการบินไม่ถึง 10% ที่มีซีอีโอผู้หญิง ทว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญขึ้น

เพราะในจำนวนสายการบินเพียงหยิบมือนี้ บางแห่งเป็นสายการบินขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง หรือติดระดับท็อปของประเทศ ขณะที่ตัวซีอีโอหญิงก็มีประวัติน่าสนใจ

ทั้งจากสร้างตัวจนเป็นมหาเศรษฐี ก้าวขึ้นมาจากแอร์โฮสเตส และเหนืออื่นใดผู้หญิงเก่งทุกคนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ยังเป็น ซีอีโอ หญิงคนแรกของสายการบินต้นสังกัดอีกด้วย

 

Nguyen Thi Phuong Thao

Nguyen Thi Phuong Thao เป็นทายาทหญิงในตระกูลเก่าแก่ของเวียดนาม โดยเธอเริ่มสร้างตัวตั้งแต่สมัยไปเรียนในรัสเซียยุคสหภาพโซเวียต ด้วยการทำธุรกิจนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แฟกซ์ ยาง และพลาสติก จนไม่กี่ปีต่อมาได้เป็นเศรษฐี

Nguyen Thi Phuong Thao

ข้ามมาถึงปี 2011 Nguyen Thi Phuong Thao ก็เป็นมหาเศรษฐีลำดับต้น ๆ ของประเทศ และกำลังเล็งธุรกิจสายการบินเอาไว้ ซึ่งเธอก็ผลักดันเต็มที่จนเกิดเป็น Vietjet Air สายการบินเอกชนแห่งแรกของประเทศขึ้น

จากนั้น Vietjet Air ที่มี Nguyen Thi Phuong Thao เป็นกัปตันก็ทยานขึ้นตามลำดับ โดยปี 2017 ทำไอพีโอในตลาดหุ้นเวียดนาม ถือเป็นไอพีโอใหญ่สุดของเวียดนาม ณ เวลาดังกล่าว

ปัจจุบัน Vietjet Air มีเครื่องบินให้บริการอยู่ 84 ลำ บินสู่ที่หมายปลายทาง 184 แห่งและยังข้ามมาทำธุรกิจในไทย ด้วยการเปิด Thaiviet Air

 

Anne Rigail

สายการบินต่อมาที่มีซีอีโอเป็นผู้หญิงคือ Air France โดยปี 2018 สายการบินแห่งนี้ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของฝรั่งเศส เกิดความระส่ำระสายจากการประท้วงของพนักงานที่ไม่พอใจเรื่องสวัสดิการในปี จนทำให้ Franck Terner ซีอีโอต้องลาออกไป

การพ้นจากตำแหน่งของ Franck Terner กลายเป็นข่าวใหญ่ในฝรั่งเศสและแวดวงสายการบินยุโรป เพราะเป็นการลาออกของลูกหม้อที่อยู่กับ Air France มาถึง 26 ปี และขึ้นเป็นซีอีโอได้เพียง 2 ปี

ซ้ำร้าย Benjamin Smith ซีอีโอคนใหม่ยังเป็นผู้บริหารสูงสุดคนแรกขององค์กรที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส

Anne Rigail

แต่ Benjamin Smith ก็ทำหน้าที่รักษาการอยู่ไม่นาน โดยในปี 2018 นั่นเอง Anne Rigail ก็เลื่อนจากรองประธานฝ่ายดูแลลูกค้าขึ้นเป็น ซีอีโอ ถือเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของ Air France

Anne Rigail เริ่มต้นงานสายการบินกับ Air Inter 1991 โดยหลัง Air Inter ประสบปัญหาในปี 1996 เธอก็ย้ายมานั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายบริการลูกค้าของ Air France ประจำสนามบิน Orly จนก้าวหน้าขึ้นตามลำดับสู่ตำแหน่ง “นายหญิง” คนแรกของ Air France

 

Marjan Rintel

หลังบริหาร Air France มาได้ 4 ปี Anne Rigail ก็ลดความประหม่าจากการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่เป็นผู้ชายไปได้ เพราะจะมีผู้หญิงอีกคนมาอยู่ในเครือ Air France – KLM

ปี 2022 KLM สายการบินแห่งชาติของเนเธอร์แลนด์ ต้องเปลี่ยนซีอีโอ หลัง Pieter Elbers ไม่ขออยู่ต่ออีกเป็นสมัยที่ 3 โดยปรากฏว่าผู้ที่ขึ้นมาบริหารแทนคือ Marjan Rintel ที่เคยทำงานทั้งสายการบินและบริษัทรถไฟ 

Marjan Rintel

Marjan Rintel ถือเป็นพนักงานเปี่ยมประสบการณ์ของ KLM ที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายบริการลูกค้า และการตลาด จนในที่สุดขึ้นเป็นซีอีโอ

 

Vanessa Hodson

เทรนด์ผลักดันผู้หญิงขึ้นเป็นซีอีโอยังบินข้ามจากยุโรปมาสู่ประเทศที่ใหญ่ขนาดทวีปย่อม ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย

ปี 2023 Qantas ต้องหาผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งซีอีโอ เพราะ Alan Joyce ขอวางมือ หลังพาสายการบินแห่งชาติของออสเตรเลียแห่งนี้บินฝ่ามรสุมหลายลูกมาได้ตลอดหลายปี โดยลูกล่าสุดซึ่งเป็นลูกใหญ่สุด คือ วิกฤตโควิดที่เขย่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

Vanessa Hodson

ที่สุดตำแหน่งดังกล่าวก็เป็นของ Vanessa Hodson ประธานฝ่ายการเงิน มือขวาของ Alan Joyce ที่ช่วยกันฝ่าวิกฤตโควิด และไต่เต้าขึ้นมาจากพนักงานบัญชีหญิงตัวเล็ก ๆ เมื่อปี 1994

 

Joanna Geraghty

ไม่ได้มีแต่สายการบินใหญ่ ๆ เท่านั้นที่ไว้ใจให้ผู้หญิงเป็นซีอีโอ โดย 8 มกราคมมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ Jetblue สายการบินในสหรัฐฯ หลัง Robin Hayes ที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอมาตั้งแต่ปี 2015 พาฝ่าวิกฤตโควิดและเปิดดีลซื้อกิจการ Spirit Air ขอลาออก

Joanna Geraghty

ผู้ที่บอร์ดบริหารเลือกมาเป็นซีอีโอคนใหม่หลัง Robin Hayes ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2024 เป็นต้นไป คือ Joanna Geraghty ประธานฝ่ายปฏิบัติการ หรือ ซีโอโอ ที่อยู่กับองค์กรมา 20 ปี พร้อมนัยสำคัญตรงที่เธอเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของ Jetblue สายการบินใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐฯ

 

Matsuko Tottori

Japan Airlines เปิดปี 2024 ด้วยข่าวเศร้า จากเหตุเครื่องบินชนเข้ากับเครื่องบินหน่วยยามชายฝั่ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไป 5 คน โดยผู้ที่จะมารับช่วงการพลิกฟื้นสายการบิน คือ พนักงานหญิงเปี่ยมประสบการณ์ที่เริ่มจากแอร์โฮสเตส

18 มกราคม 2024 บอร์ดบริหาร Japan Airlines เลือก Matsuko Tottori หัวหน้าฝ่ายบริหารอาวุโส เป็นซีอีโอคนใหม่ต่อจาก Yuji Akasaka เพราะความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในธุรกิจสายการบิน ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการที่เธอเริ่มงานด้วยตำแหน่งแอร์โฮสเตส เมื่อปี 1985

Matsuko Tottori

การขึ้นเป็นซีอีโอของ Matsuko Tottori เป็นข่าวใหญ่ เพราะเธอคือผู้บริหารหญิงจำนวนน้อยของญี่ปุ่น ประเทศที่สิทธิหญิงด้อยกว่าชาย และบทบาทของผู้หญิงในสังคมที่เป็นมาอย่างยาวนาน คือ ภรรยากับแม่บ้านเท่านั้น

นี่จึงทำให้ผู้หญิงที่ออกไปทำงานมีจำนวนน้อย และผู้หญิงที่สามารถขึ้นเป็นซีอีโอได้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก

Yuriko Koike

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในเรื่องนี้ก็ดีขึ้นตามลำดับ หลัง Yuriko Koike ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวมาตั้งแต่ปี 2016 ต่อด้วย Maki Akaida ได้เป็นซีอีโอ Uniqlo ญี่ปุ่นเมื่อปี 2019

Maki Akaida 

และล่าสุดกับการที่ Matsuko Tottori ได้เป็นหญิงคนแรกของ Japan Airlines นับตั้งแต่เมษายน 2024 เป็นต้นไป/japantoday, reuters, wikipedia, travelweekly, runwaygirlnetwork, usatoday, cnn



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online