Life: ตลอด 10 ปีที่ผ่านมายุโรปคือประเทศชั้นนำด้านความสุข หลังเดนมาร์กครองแชมป์ประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลกตามเกณฑ์ประเมินของสหประชาชาติในปี 2012, 2013 และ 2016 

และอีก 7 ปีต่อมาคือตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2024 ฟินแลนด์ก็ล็อกมงในตำแหน่งนี้แทนเดนมาร์กไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทว่าในเชิงลึกพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยในปี 2024 คนสูงวัยกลับมีความสุขมากกว่าวัยรุ่น 

5 อันดับแรกของประเทศที่คนอายุ 60 ปี คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดนและไอซ์แลนด์นั้น มีคะแนนความสุขอยู่ระหว่าง 7.9 ถึง 7.5 คะแนนมากกว่า 5 อันดับแรกของประเทศที่คนวัย 30 ปีลงมามีความสุขที่สุด 

คือ ลิทัวเนีย อิสราเอล เซอร์เบีย ไอซ์แลนด์ และ เดนมาร์ก ซึ่งคะแนนความสุขอยู่ที่ระหว่าง 7.7 ถึง 7.3 คะแนน 

เมื่อค้นข้อมูลลึกลงไปอีกจะพบว่าแม้ฉากหน้ามีความสุขและน่าจะมีความสุขกว่าคนในประเทศด้อยพัฒนา แต่วัยรุ่นยุโรปกลับเครียด กังวลและไม่พึงพอใจในชีวิตจากปัญหาที่เผชิญอยู่ 

ซึ่งหนึ่งในนั้นมีปัญหาในการทำงานและการหารายได้รวมอยู่ด้วย โดยตามรายงานสื่อในอังกฤษระบุว่าคนรุ่นใหม่

โดยเฉพาะอายุ 30 ปีลงมาที่เรียกรวม ๆ ว่ากลุ่ม Gen Z ในยุโรปอึดอัดใจกับการต้องฝึกงานเพื่อเอาประสบการณ์และใบรับรอง แต่กลับไม่ได้รับค่าจ้าง

และกฎหมายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปก็อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ ทำได้มานานแล้ว ซึ่งฝ่ายที่ได้รับประโยชน์คือฝ่ายบริษัท เพราะได้พนักงานมาทำงานระดับล่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเดือน 

ส่วนฝ่ายเสียเปรียบคือฝ่าย Gen Z จนเป็นที่รู้กันในหมู่ Gen Z ยุโรปว่า หากเป็นลูกเศรษฐีหรือพ่อแม่ฐานะค่อนข้างดีก็สามารถฝึกงานได้แบบไร้กังวล 

ตรงข้ามกับ Gen Z ทั่ว ๆ ไปที่ฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย จึงต้องทำสองงานควบกันเมื่อใกล้เรียนจบหรือช่วงเริ่มต้นทำงาน เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ และได้ใบรับรองการฝึกงานจากบริษัทใหญ่ ๆ ไปด้วย 

แต่ก็ต้องใช้จ่ายอย่างจำกัด และกินแต่ก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ดังที่ประธานสภาเยาวชนยุโรปเรียกว่าอาหารแทบทุกมื้อคือก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป   

สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากเป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอาเปรียบกลุ่ม Gen Z และผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือ First Jobber ในยุโรปแล้ว ยังบานปลายกลายเป็นปัญหาสมองไหล

ที่ Gen Z ยุโรป ซึ่งมีพวกหัวกะทิรวมอยู่ด้วย พากันเดินทางไปทำงานนอกทวีป ทันทีที่เรียนจบ จนกลุ่ม Gen Z ยุโรปร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสภายุโรปออกมาตรการแก้ไข 

ท่ามกลางการประเมินว่า มี Gen Z ในยุโรปราว 3.1 ล้านคนที่ยอมฝึกงานโดยไร้ค่าจ้างเพื่อแลกใบรับรอง และหวังได้ประสบการณ์ในภายภาคหน้า 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและรัฐสภายุโรปก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตระหนักว่า นี่เป็นปัญหาที่กระทบต่อตลาดงานและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

จึงมีการผ่านร่างกฎหมายจัดการเรื่องนี้ไปเมื่อมีนาคม 2024 และจะมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกภายในกลางปีเดียวกัน

ท่ามกลางความหวังว่า หลังจากนี้การใช้ช่องโหว่กฎหมายใช้ฝึกงานมาอ้างเพื่อให้ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างกับกลุ่ม Gen Z จะหมดไป

และทำให้ Gen Z กับประชากรรุ่นต่อ ๆ ไปมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพ้นจากการถูกนายจ้างเอาเปรียบ/bbc, theguardian



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online