Toxic ถ้าองค์กรมีพนักงานแบบนี้คงไม่ดี อย่าเอาไว้ ต้องไล่ออกให้ไว

Work : จากที่เคยใช้ในวงการแพทย์เฉพาะทางด้านรักษาพิษรูปแบบต่าง ๆ และพิษวิทยาที่ศึกษาเรื่องพิษ ปัจจุบัน Toxic หรือความเป็นพิษถูกนำมาใช้ข้ามสาย ทั้งในวงการจิตวิทยาและสังคมการทำงานแล้ว เพื่อนิยามคนที่ทำตัวเป็นพิษ

ตีกรอบให้แคบเข้าลงมาเหลือเฉพาะสังคมการทำงาน แม้พนักงานToxic ถือเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ แต่ในระดับพนักงานด้วยกันอาจไม่สามารถพูดออกไปตรง ๆ

ตรงข้ามกับคนระดับซีอีโอที่มีประสบการณ์ มองขาดและสามารถพูดตรง ๆ ได้ว่าพนักงานToxicประเภทไหนที่ต้องไล่ออกก่อนพิษลามจนชักพาบริษัทให้วิกฤต

ยกตำแหน่งขึ้นมาอ้าง: พนักงานที่ทำตัวToxicหนักกลุ่มแรกในสายตาซีอีโอเลยคือ กลุ่มที่อ้างตำแหน่งอยู่เสมอ หวังว่าจะทำงานแค่ตามป้ายชื่อบนโต๊ะ

หรือเอาแค่ที่ระบุบนนามบัตร โดยพิษที่พ่นกระจายไปทั่วออฟฟิศ คือ ความเห็นแก่ตัว ไม่เคยทำอะไรเกินหน้าที่ และอย่าหวังว่าจะยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ทำให้เกิดผลเสียตามมานั่นคือ งานใหญ่ ๆ จะเดินหน้าไปช้ากว่าที่ควร

Tom Gimbel ซีอีโอของ La Salle บริษัทจัดหางานในสหรัฐฯ กล่าวว่า พนักงานToxicกลุ่มนี้จะไม่เคยช่วยเหลือใครโดยไม่หวังผลตอบแทน ในระยะยาวจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

และถ้าเขาเห็นพนักงานลักษณะนี้ จะเรียกมาตักเตือน แต่เมื่อเตือนแล้วยังไม่ปรับปรุงตัวก็จะไล่ออกทันที

สร้างเรื่องปั้นน้ำเป็นตัว: ปี 2022 พจนานุกรม Marriam-Webster ของสหรัฐฯ ยกให้ Gaslighting ที่หมายถึงการปลุกปั่น สร้างแผนล่อลวง

หรือการปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อเอาเปรียบผู้อื่น เป็นคำแห่งปี สะท้อนแผนการล่อลวงรูปแบบต่าง ๆ ในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้น จนคนมากมายตกเป็นเหยื่อ

ปี 2023 สังคมไทยรู้จัก Gaslighting กันมากขึ้น หลัง “กูรูสายวิทย์” ถูกผู้ตกเป็นเหยื่อเปิดโปงพฤติกรรมไม่เหมาะสมผ่านสื่อโซเชียล โดยพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานเช่นกัน

Tailia Fox ซีอีโอของ KUSI Global บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐฯ กล่าวว่า เคยไว้ใจพนักงานมือดีคนหนึ่ง แต่กลับพลาดท่าโดน Gaslighting โทษว่างานที่พลาดมาจากการสั่งงานไม่ดี

จนต้องจำไว้เป็นบทเรียน จากนั้นถ้าตรวจพบว่าใคร Gaslighting กับเพื่อนร่วมงาน จะลงโทษทันทีและถ้าเห็นว่าร้ายแรงจะไล่ออกโดยไม่ลังเลเลย

Toxic

กลัว “ไม่” ขึ้นสมอง: ตามความเข้าใจในการทำงาน เมื่อหัวหน้าสั่งงานอะไรมา ลูกน้องในแผนกก็ควรทำตาม แต่การตอบว่า “ได้ครับนาย ใช่ครับท่าน” บ่อย ๆ ไม่ใช่เรื่องดี

เพราะแสดงให้เห็นว่า พนักงานคนนั้นกลัว “ไม่” ขึ้นสมอง จนไม่กล้าแย้งอะไร แม้เล็งเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

Mark Cuban

Mark Cuban มหาเศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกันคนดังและเจ้าของทีมบาสเกตบอล Dallas Maverick ใน NBA กล่าวว่าเกลียดพวก Yesman ที่พูดว่าใช่อย่างเดียวเมื่อถูกถามความคิดเห็น

ดังนั้น การคุยหรือมีคนพวกนี้เป็นลูกน้อง เป็นคู่ค้า ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตรงข้ามกับคนที่กล้าพูดว่าไม่ แล้วเสนอความคิดเห็น ซึ่งจะยกระดับให้การสนทนานั้นมีค่าขึ้นมาและอาจลงท้ายด้วยดีลธุรกิจครั้งสำคัญ/cnbc

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online