กลายเป็นกระแสที่มีคนไลค์ แชร์ และพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #BetterSocial #เช็คก่อนแชร์ #ชัวร์ก่อนแชร์ จนเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา สำหรับ Better Social แคมเปญดีๆ ที่ปลุกจิตสำนึกคนใช้โซเชียลให้หันมาหยุดและฉุกคิดก่อนแชร์ข้อมูลใด ๆ ลงในโลกออนไลน์ โดยถ่ายทอดผ่านคลิปวิดีโอ ความจริงของชายที่เคยถูกสังคมตราหน้าว่า ‘ไอ้โรคจิต’

ความน่าสนใจของแคมเปญนี้ไม่ใช่เพียงความสำเร็จเท่านั้น เพราะรูปแบบการถ่ายทอดที่นำเอาผู้ที่ตกเป็นจำเลยสังคม มาบอกเล่าถึงชีวิตหลังจากถูกการแชร์แบบไม่คิด จนสามารถกระตุกต่อมสำนึกคิดของสังคมโซเชียลในปัจจุบัน รวมถึงจุดประสงค์ของการจัดทำแคมเปญก็น่าสนใจไม่แพ้กัน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Marketeer มาล้วงคำตอบเจาะลึกถึงที่มากับทีม AP Online Marketing บริษัท AP Thai ผู้อยู่เบื้องหลังกระแส #เช็คก่อนแชร์ ในครั้งนี้

ที่มาและจุดประสงค์ของแคมเปญ Better Social

: แคมเปญนี้เป็นความตั้งใจของทีม AP Online Marketing ที่อยากทำให้พื้นที่บนโลกออนไลน์เป็นพื้นที่แห่งความสุข เนื่องจากทุกวันนี้พฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่อยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้น มีการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ในการติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว มีการรับข้อมูลข่าวสาร และแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันเลยก็ว่าได้ ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ได้รับก็มีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง ซึ่งถูกแชร์ต่อ ๆ กันไปอย่างรวดเร็ว ข้อดีก็คือเราสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้สะดวกและเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ข้อเสียคือ ถ้าข้อมูลอันไหนที่ไม่เป็นความจริง มันไม่ใช่แค่เราจะได้ข้อมูลมาแบบผิดๆ แต่คนที่ตกเป็นผู้เสียหายก็ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

เราจึงคิดแคมเปญ Better Social ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หากเราไม่ศึกษาหาข้อมูลให้ถูกต้องก่อนที่จะแชร์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยในการใช้สื่อโซเชียลอย่างสร้างสรรค์ มีสติ เช็คก่อนแชร์และเสพข้อมูลต่าง ๆ บนโลกออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ทุกคนอยู่บนพื้นที่โลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข

ทำไมถึงเลือกประเด็น ของคุณวุฒิ – จิรวุฒิ ลิมปนาทไพศาล

: ประเด็นของคุณวุฒิ – จิรวุฒิ ลิมปนาทไพศาล เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมออนไลน์ และเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างมากจากการที่ไม่ได้เช็คข้อเท็จจริงก่อนแชร์ สร้างความเข้าใจผิด และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้าง ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณวุฒิเสียขวัญและกำลังใจ ส่งผลร้ายแรงต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งเราอยากให้ผู้ที่ได้ชมคลิปที่เป็นเรื่องราวความรู้สึกจริงของคุณวุฒิ ได้เข้าใจความรู้สึก และเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแชร์ข้อมูลข่าวสารโดยไม่คิด ไม่ได้ศึกษาหาความจริง ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สร้างความเสียหายที่รุนแรงกับผู้อื่นได้มากมายโดยไม่รู้ตัว

มองการใช้ โซเชียลมีเดีย ของสังคมไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร

: ในยุคปัจจุบันนี้ “โซเชียลมีเดีย” ถือว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เเละเป็นสื่อที่ทรงพลังมากที่สุด เพราะว่าสามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก ได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกโซเชียล มีทั้งด้านที่มีประโยชน์และด้านที่มีโทษ ผู้ใช้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในสังคม อัพเดทข่าวสารหรือเรื่องราวต่าง ๆ กันได้ตลอดเวลา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน ( Smart Phone ) ไปแล้ว ซึ่งมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก และจากการที่ข้อมูลทุกอย่างบนโลกออนไลน์มีการอัพเดท ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีขาดการคัดกรองความถูกต้อง บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ก็ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว มีหลาย ๆ ครั้งที่คนแชร์ข้อมูลเพียงอ่านแค่หัวข้อ หรือเห็นแค่รูปภาพ ยังไม่ทันอ่านเนื้อหาให้ข้างในเลยด้วยซ้ำ ทำให้ข้อมูลที่แชร์ออกไปถูกบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด หรือสร้างความเสียหายให้กับบุคคลที่เป็นเหยื่อไปในวงกว้าง

กระแสตอบรับแคมเปญ

: Better Social ออนไลน์แคมเปญ ที่ปลุกกระแสให้คนไทยใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ อ่าน คิดและเช็คก่อนแชร์ ผ่านทางคลิป “ความจริงของชายที่เคยถูกสังคมตราหน้าว่า ‘ไอ้โรคจิต’ ” กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์และจากประชาชนทั่วไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยคลิปไวรัลนี้ถูกแชร์ออกไปต่อ ๆ กันกว่า 150,000 ครั้ง มียอดคนดูมากกว่า 6 ล้านครั้ง และบนโลกออนไลน์พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #BetterSocial #เช็คก่อนแชร์ #ชัวร์ก่อนแชร์
แต่ถ้าจะให้พูดถึงกระแสของแคมเปญนี้จริง ๆ มองว่ายังตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์สำหรับคนใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่ แต่สิ่งที่เห็นแน่ ๆ นั้นคือ เราได้เห็นคนรอบตัวเรา เป็นเพื่อน เป็นญาติที่เรารู้จัก แชร์แคมเปญนี้กันมากมาย รวมไปถึงข้อความคอมเม้นท์และความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ตอบกลับมา ที่แสดงถึงกำลังใจที่ส่งถึงคุณวุฒิ ผู้ที่เสียหายจากประเด็นในแคมเปญ ที่มีอย่างล้นหลาม มันแสดงให้เห้นแล้วว่า คนในสังคมออนไลน์เริ่มตระหนักถึงการเช็คข้อมูลก่อนที่จะแชร์ เริ่มหาข้อมูลความจริงก่อนที่จะแชร์ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสังคมออนไลน์ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

ฝากถึงคนไทยทุกคนที่เล่นโซเชียล

: กรณีของคุณวุฒิ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลาย ๆ เคสที่ได้รับผลกระทบจากการแชร์โดยขาดความยั้งคิด ขาดการเช็คข้อมูลก่อนแชร์ ซึ่งหากจะป้องกันไม่ให้มีเหยื่อจากการการแชร์ที่บิดเบือนแบบนี้ สามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา แค่เช็คข้อมูลความจริงก่อนที่จะแชร์ และหยุดการแชร์ข่าวสารที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดมาก่อน

เราเชื่อว่า การสร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีนี้ ถ้าทำได้จะทำให้พื้นที่บนโลกออนไลน์ในสังคมของเราจะน่าอยู่มากขึ้นอย่างแน่นอน และโซเชียลมีเดียกับเด็กไทยรุ่นใหม่ ๆ จะได้เป็นสังคมที่มีด้านบวกมากกว่าด้านลบ

เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างแคมเปญดี ๆ จากองค์กรดี ๆ ที่กล้าออกมาเตือนสติคนไทยด้วยกัน ซึ่งหากวัดจากตัวเลขยอดไลค์และแชร์ ถือว่า Mission Completeแตกหากวัดจากกระแสตอบรับจากคอมเม้นท์ในโซเชียลและการเปลี่ยนแปลงของคนใกล้ตัวแล้ว นับว่าภารกิจของ AP Thai ในครั้งนี้ Success อย่างแท้จริง

เล่นโซเชียลอย่างมีสติ #BetterSocial #เช็คก่อนแชร์ #ชัวร์ก่อนแชร์



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online