เมื่อ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา วินมอเตอร์ไซค์ จำนวนหลายร้อยชีวิตเดินทางมาประท้วง บริษัท แกร๊บแท็กซี่ ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
สาเหตุก็เพราะ Grab Bike ให้คนทั่วไปที่ไม่มีใบขับที่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (ป้ายทะเบียนขาว) เข้ามาขับด้วยซึ่งเท่ากับว่า ใคร ๆ ก็ขับได้
ฉะนั้น ถึงแม้วินมอเตอร์ไซค์จะมีโอกาสเข้าถึงลูกค้าเพิ่มจากการใช้ Grab Bike แต่ก็ต้องเจอกับปริมาณคนขับมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน… ซึ่งน่าจะเยอะมากจนกระทบกับรายได้แน่ๆ ถึงได้ออกมาประท้วงแบบนี้
โดยสิ่งที่พี่วินต้องการคือ ให้ Grab หยุดการรับคนขับที่ไม่ถูกกฎหมายซะ จะได้แข่งขันแบบแฟร์ๆ
แต่ทันทีที่มีข่าว ชาวเน็ตก็ออกมาแสดงความเห็น (ด่า) ว่า ที่วินมอเตอร์ไซค์เสียลูกค้าไป ก็เพราะตั้งราคาเกินจริง และมารยาทในการขับขี่ต่างหาก
ค่าโดยสาร วินมอเตอร์ไซค์ ปี 2559-2561
จากรูปจะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ว่าต้องคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ แต่ในการปฏิบัตรจริงนั้น ต่างจากกฎหมายสิ้นเชิง ซึ่งผมขอแบ่งวินมอเตอร์ไซค์ตามลักษณะ ดังนี้
1.โซน ที่อยู่อาศัย
จุดเด่นของวินนี้ คือ อยู่ในที่ที่คนอาศัยเยอะ เช่น หมู่บ้าน ซอย ชุมชน ทำให้มีขาประจำมาโบกเรื่อยๆ มีความคุ้นเคยกับผู้โดยสาร วินโซนนี้จะคิดราคาใกล้เคียงกฎหมาย อาจจะบวก 5-10 บาท ไม่เกินนี้ อย่างเช่น เข้าซอยใกล้ๆ 10 บาท ไกลหน่อยก็ 20 บาท
เหตุการณ์จริง : ผมลองกด Google Maps ไปรถใต้ดินพระราม 9 ระยะทางอยู่ที่ 2.4 กิโลเมตร ราคาที่วินคิดผมมาตลอด คือ 40 บาท ซึ่งถ้าคิดตามกฎหมายจริงๆ ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 30 บาทเท่านั้น.. ไม่เป็นไร หยวนๆ
2.โซน ห้าง ออฟฟิศ ที่ท่องเที่ยว
จุดเด่นของวินนี้ คือ อยู่ใจกลางเมือง อยู่ติดบีทีเอส เป็นต้น ซึ่งการที่อยู่ใจกลางเมืองทำให้วินกลุ่มนี้มีอัตราการต่อรองที่สูงมาก เพราะในเมืองนั้นรถติด วินมอเตอร์ไซค์จึงได้เปรียบการเดินทางแบบอื่นๆ
เหตุการณ์จริงเมื่อไม่นาน :
-ผมเรียกวินตรงประตูน้ำไปแยกเพชรพระราม ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ราคาตามกฎหมายต้องไม่เกิน 25 บาท ส่วนราคาที่ผมรับได้ คือ 30-40 บาท
แต่ราคาที่วินแจ้งกลับมาคือ 80 บาท จนผมต้องอธิบายว่ามันไม่ไกลเลย ไม่ถึง 2 กิโลเมตรด้วยซ้ำ ก่อนจะลดลงเหลือ 60 บาท และต่อจนเหลือ 50 บาทในที่สุด
นอกจากนั้น การโดนชาร์จเกินจริง ก็มักจะเกิดกับการไปเรียกวินต่างถิ่น หรือ เรียกไปที่ไกล ๆ ซึ่งทำให้วินไม่ค่อยอยากไป เพราะต้องตีรถเปล่ากลับมา จึงต้องเรียกแพง ๆ
มองในมุมผู้บริโภค
1.ไม่ว่าจะไปใกล้ หรือ ไกล วินก็มักจะบวกเพิ่มอยู่แล้ว ไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด
2.ถ้าเป็นสถานที่ใกล้ๆ จะมีราคาเขียนในป้ายเลย แต่ถ้าไกลหน่อย ก็ใช้ความรู้สึกคำนวณระยะทาง บางครั้งวินเดียวกัน ยังคิดราคาไม่เท่ากันด้วยซ้ำ
3.มารยาทในการขับขี่น้อย ขับปาดไปปาดมา เพราะต้องทำรอบ
3 เรื่องนี้เป็น 3 เรื่องที่ Grab Bike หรือ Uber Moto แก้ได้หมดทั้งสิ้น
-เพราะใช้ GPS ในการคำนวณระยะทาง ซึ่งแม่นยำและโกงไม่ได้
-ผู้โดยสาร ทราบราคาล่วงหน้า ตัดสินใจได้ง่าย
-มีการให้ Ratings ควบคุมมาตรฐาน และ รักษาความปลอดภัย
มองในมุม วินมอเตอร์ไซค์
1.กฎหมายนี้เป็นธรรมกับวินมอเตอร์ไซค์จริงหรือไม่?
วินมอเตอรไซค์ นั้นรับผู้โดยสารได้แค่ที่เดียว ไม่ว่าจะขับไปที่ไหน สุดท้ายก็ต้องตีรถเปล่ากลับมาที่เดิม
ต่างจากตุ๊กตุ๊กและแท็กซี่ ที่สามารถรับผู้โดยสารที่ไหนก็ได้ สมมุติผู้โดยสารโบกไปรถไฟฟ้าบีทีเอส พวกเขาก็สามารถจอดรอผู้โดยสารต่อได้เลย
2.ทุกวิชาชีพต้องมีใบอนุญาต
สิ่งที่วินต้องการจาก Grab ไม่ใช่ให้เลิกกิจการ หรือ ผูกขาดให้วินมอเตอร์ไซค์ใช้ Grab Bike ได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องการให้ผู้ขับ Grab Bike ทุกคนมีใบขับขี่รถสาธารณะ
ถ้าใครอยากทำอาชีพอะไรก็ได้ ไม่ต้องสนกฎระเบียบ สังคมคงเละเทะน่าดู
รู้วิธีใส่เหล็กดัดฟัน ก็เปิด คลินิกจัดฟันเถื่อน …
รู้วิธีฉีด Botox ก็เปิด คลินิกศัลยกรรมเถื่อน …
มีคอนโดว่างๆ เอามาลง Airbnb ก็ได้หนิ …
ขายของตรงนี้มาหลายปี ผิดกฎหมายได้ยังไง ไม่เห็นมีใครมาไล่ …
สรุป
สำหรับคนที่อยากหารายได้เสริม โดยการขับ Grab Bike ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ใบทำใบขับขี่รถสาธารณะ เอารถไปขึ้นทะเบียน ก็ถูกกฎหมายแล้ว ไม่ต้องซื้อเสื้อวินราคาแพง ๆ ด้วยซ้ำ
และ Grab ก็ต้องรีบทำให้ถูกต้องโดยเร็ว เพราะขนาดแอปพลิเคชั่นยากๆ คุณยังทำได้ แค่ให้ผู้ขับทุกคน ทำให้ถูกกฎหมาย ไม่น่าเกินความสามารถ บริษัทมูลค่า 6 พันล้านเหรียญ อย่าง Grab นะจ๊ะ
สำหรับองค์กรภาครัฐฯ ก็ต้องเข้ามาดูมากขึ้นทั้งในเรื่องของใบอนุญาต และการตั้งราคา เพราะเมื่อ Grab Bike เปิดตัวพวกเขามีทุนในการทำตลาดอย่างหนักหน่วง ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค
ส่วนวินมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพของตัวเอง ทั้งมารยาทและการขับขี่ รวมไปถึงหารือเรื่อง ค่าโดยสาร วินมอเตอร์ไซค์ กับองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ไม่ใช่จ้องจะประท้วงทุกครั้งที่เสียผลประโยชน์ โดยไม่ปรับตัวอะไรเลย
ขอบคุณ ภาพการ์ตูนมอเตอร์ไซค์ (ภาพบนสุด) จาก praphakhan
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



