การ “เทก ออฟ” ของสายการบิน Low Cost ที่ผุดขึ้นเต็มสนามบิน ส่งแรงสั่นสะเทือนให้สายการบินระดับกลางและบนต้องปรับตัวหลายกระบวนท่า เพื่อไม่ให้ลูกค้าปันใจหันไปตีตั๋วโดยสารสายการบินคู่แข่ง
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ บางกอก แอร์เวย์ส ถึงจะวางตัวเองเป็น “บูติก แอร์ไลน์” แต่หากสังเกตก็มีหลายเส้นทางที่แข่งขันราคากับสายการบิน Low Cost ชนิดที่ราคาแพงกว่านิดหน่อยแต่ได้ขึ้นเครื่องหรูกว่าอย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส”
คู่แข่งตัวจริงของ เบอร์ 1
โดยใครๆ ก็รู้ว่า “จุดขาย” สายการบิน Low Cost คือตัดบริการหรูหราที่คิดว่าไม่จำเป็นออกไป,ถึงขนาดบางสายการบินไม่มีเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุด จากนั้นก็ไปทำราคาตั๋วโดยสารแข่งขันกันว่า “ใครถูกกว่า ได้เปรียบ”
ในอดีตคนที่ปลุกกระแสสายการบิน Low Cost ให้บูมในเมืองไทยนั้นคือ “ ไทยแอร์เอเชีย ” ที่มาพร้อมสโลแกน “ใครๆ ก็บินได้” จากนั้นก็ใช้วิธีขายตั๋วเครื่องบินราคาถูก ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เอื้อมถึง
ที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียเจอคู่แข่งมากมาย แต่ต้องบอกว่า “ไม่ใช่คู่ชก” ที่จะทำให้ผู้นำตลาดรายนี้เสียศูนย์ จนมาถึงผู้มาใหม่อย่าง “ไทยไลอ้อนแอร์” สายการบินจากประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ร่วมทุนกับกลุ่มนักธุรกิจชาวไทย และนี้คือสายการบิน “คู่แข่ง ตัวจริง” ของไทยแอร์เอเชีย
เพราะแค่เปิดตัวเพียง 4 ปีในไทย “ไทยไลอ้อนแอร์” ก็ใช้เกมราคาเชือดเฉือนแย่งชิงลูกค้าจาก ไทยแอร์เอเชียกับนกแอร์ จนเวลานี้มีส่วนแบ่งตลาดถึง 18.7% ถึงขณะที่ว่า อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ จะบอกว่า คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ ที่จะโค่นไทยแอร์เอเชียลงจากตำแหน่งจ่าฝูง แต่เรดาร์การตลาดก็ล๊อคเป้าหมายไว้แล้วว่า ไทย ไลอ้อน แอร์ จะต้องขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสายการบิน Low Cost
เพียงแต่ความท้าท้ายของธุรกิจ ณ เวลานี้คือ ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นจาก Effect การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ทำให้สายการบิน Low Cost หลายรายเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ถ้าเลือกจะตัดราคาแย่งชิงลูกค้ากันไปเรื่อยๆ ก็มีแต่เจ็บกับเจ็บ
ผู้ท้าชิงอย่าง “ไทยไลอ้อนแอร์” เลือกจะลดเกียร์เกมราคามาสู่การเป็น “เครื่องบินการตลาดไฮบริด”
“เครื่องบินการตลาดไฮบริด” ในที่นี้ไม่ใช่การใช้พลังงานไฟฟ้าผสมน้ำมัน แต่คือสูตรการตลาดที่ “ไทยไลอ้อนแอร์” คิดว่ามาถูกทาง
นั้นคือการลงทุนซื้อครื่องบินแอร์บัส A330-300 แบบลำตัวกว้าง 3 ลำ รองรับการบินระยะไกล พร้อมกับลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสื่อบันเทิงบนเครื่องบิน เช่น จอภาพส่วนตัวหน้าที่นั่งสำหรับการชมภาพยนตร์, และฟังเพลง ช่อง USB ในการชาร์จโทรศัพท์ ในขณะที่ค่าตั๋วยังตรึงราคาเดิมในช่วงเวลาปรกติ
อย่างไรก็ตามหากสังเกตกราฟปีต่อปีราคาตั๋วในภาพรวมธุรกิจการบิน Low Cost อัตราค่าบริการมีแต่ถูกลงเรื่อยๆ ปีหน้า 2018 ก็ยังจะแข่งขันราคาเข้มข้นเข้าไปอีกขั้น และแน่นอน “ไทยไลอ้อนแอร์” ก็ต้องหาสูตรการตั้งราคาให้สมดุลย์ เพื่อให้ตัวเองมีกำไรเติบโตขึ้นกว่าเดิม
ส่วนอีกหนึ่งจุดอ่อนของผู้ท้าชิงรายนี้นั้นคือเส้นทางการบินที่ยังน้อยกว่าคู่แข่ง และเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกเพิกเฉย เพราะผู้บริหาร ไทย ไลอ้อนแอร์ ประกาศชัดเจนแล้วว่าภารกิจแรกสุดคือจะต้องเกาะติดทุกเส้นทางการบินจากผู้นำตลาดอย่าง “ไทยแอร์เอเชีย” ให้ได้ก่อน
เพราะเมื่อมีเส้นทางบินใหม่ๆ ก็ย่อมหมายถึงลูกค้าใหม่ๆ ที่จะมีรายได้ที่เข้าบริษัทมาอีกมหาศาล และหาก “ไทยไลอ้อนแอร์” มีเส้นทางการบินเทียบเท่า “ไทยแอร์เอเชีย” เมื่อไร ก็น่าติดตามว่าจะบินแซงหน้าเบอร์หนึ่ง ได้หรือไม่
“ยอมรับ เราเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ไปบางส่วน แต่คนที่น่าจะได้ผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นนกแอร์มากกว่าเรา”ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียยอมรับตรงไปตรงมาว่าโดน “ไทยไลอ้อนแอร์” แย่งชิงลูกค้าไปพอสมควร
วิธีแก้เกมแรกสุดของ “ ไทยแอร์เอเชีย ”
กลวิธีของ “ไทยแอร์เอเชีย” นอกจากการเพิ่งเปิดบริการ Air Asia Red Carpet ให้ใช้บริการเคาน์เตอร์เช็คอินพิเศษ, สิทธิการใช้ “เลาจน์” ในท่าอากาศยานก่อนขึ้นเครื่องและเพิ่มความสะดวกสบายอื่นๆ อีกมาก โดยมีราคาเพิ่มเติมจากปรกติ 800 และ 1,000 บาทสำหรับเส้นทางในและต่างประเทศ
เท่านั้นยังไม่พอไทยแอร์เอเซียยังเร่งเปิดเส้นทางบินใหม่ๆอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ขยายเส้นทางการบินเพิ่ม 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ดานัง และ เชียงใหม่-อุบลราชธานี ในขณะที่เส้นทางบินต่างประเทศ พุ่งเป้าไปที่ประเทศอินเดียมากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว
เพราะทางออกเดียวที่ดีที่สุดในการ “ทิ้งห่าง” คู่แข่งไม่ให้วิ่งตามทันนั้นคือ การสร้างตลาดใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ
แน่นอน การจะโค่นไทยแอร์เอเชียแล้วขึ้นมามีรายได้และกำไรเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นความยากและท้าท้ายของเบอร์ 2 ในตลาดที่จะบินตามให้ทัน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ