“เชียร์” ปรับแพ็กเกจจิ้ง “เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่” พร้อมเปิดตัววีทเบียร์ “เชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น” (Cheers Selection Siam Weizen) เจาะตลาดกลุ่มเมนสตรีมระดับบน ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดขยับเป็น 1% เผยจุดแข็งคือ ‘เบียร์ไรซ์เบอร์รี่’ ผู้บริโภคชอบ แง้มปีนี้ลุยมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง

1-Cheer

เบียร์เชียร์ เป็นของกลุ่มบริษัท ทีเอพี หรือ บริษัทไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ถือหุ้นโดยกลุ่มไชยวรรณ มีแบรนด์เบียร์ที่สำคัญคือ ไฮเนเก้น, ไทเกอร์, เชียร์, กินเนสส์

พชรชนก ศิลอุดม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เมนสตรีม กลุ่มบริษัท ทีเอพี กล่าวว่า ปี 2561 เป็นปีที่ตลาดเบียร์เมนสตรีมมีการแข่งขันกันอย่างหนัก แต่ตลาดกลับเติบโตติดลบ 4% โดยส่วนแบ่งตลาดของเชียร์อยู่ที่ 0.5% และในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าเติบโตให้ถึง 1%

‘เชียร์’ จึงมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตซึ่งก็คือเซกเมนต์ Upper Mainstream หรือเมนสตรีมระดับบน ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่มีพฤติกรรมชอบลองเบียร์หลากหลาย แต่กำลังซื้อสูงไม่เท่าเบียร์สตรีม บริษัทพบว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีโอกาสสร้างการเติบโต อีกทั้งผู้เล่นในตลาดนี้มีอยู่ประมาณ 5-6 แบรนด์ในตลาด

1-Cheers_Selection1

พชรชนกกล่าวอีกว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายในกลุ่มเชียร์ ซีเล็คชั่น ซึ่งทำตลาดในกลุ่มเมนสตรีมระดับบน เติบโตถึง 24%

โดยบริษัทมองกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคเบียร์เมนสตรีมแบบเดิม อายุ 20–49 ปี และมีรายได้ปานกลาง ชอบความคุ้มค่า และเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์สูงๆ และกลุ่มผู้บริโภคเบียร์เมนสตรีมระดับบน ที่มีอายุ 20–44 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มองหาความหลากหลาย และชื่นชอบการดื่มเบียร์รสชาติที่แปลกใหม่มากกว่าเบียร์ประเภทลาเกอร์ทั่วๆ ไป

ล่าสุด “เชียร์” เปิดตัว “เชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น” พร้อมทั้งปรับดีไซน์แพ็กเกจจิ้งของ “เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่ ใหม่” ชูกลยุทธ์การสื่อสารแบบออนไลน์ที่ตั้งเป้าหมายในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเมนสตรีมทั่วประเทศที่ 17 ล้านคนในการจดจำตราสินค้า (Brand Awareness) พร้อมวางตำแหน่งของสินค้า (Positioning) ในการเป็นผู้เบิกทางของกลุ่มตลาดเมนสตรีมระดับบนกับภาพแบรนด์ไทยคราฟต์พรีเมียม

ด้านการตลาด บริษัทเน้นทำกิจกรรมทางการตลาด (Below the line) เจาะตลาดในหัวเมืองต่างจังหวัด ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมคอนเสิร์ต โดยมุ่งเป้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากขึ้นจากเดิม 70%

พชรชนกกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำ (Lower Alcohol) ถือเป็นเทรนด์ของนักดื่มทั่วโลก รวมถึงนักดื่มในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจว่าตัวซีเล็คชั่นสามารถทำตลาดในปีนี้ให้เติบโตไม่ต่ำกว่าการเติบโตในปี 2561 คือ 24%

บริษัทมองว่า ‘จุดแข็ง’ ของเชียร์คือ ‘เบียร์ไรซ์เบอร์รี่’ ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้บริโภค และสามารถทำตลาดได้ดีเมื่อเทียบกับเบียร์ตัวอื่นๆ

สำหรับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “เชียร์ ซีเล็คชั่น สยาม ไวเซ่น” บริษัทสร้างจุดขายด้วยการสร้างสตอรี่สร้างสรรค์ออกมาให้กลมกล่อมลงตัวแบบวีทเบียร์สไตล์เยอรมันที่ยังคงความเป็นไทย ในบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋อง ขนาด 490 มล. ราคาขายปลีก 55 บาท มาพร้อมกับแอลกอฮอล์ 4% และกระป๋องผิวด้าน พร้อมดีไซน์แพ็กเกจจิ้งรูปยักษ์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพิ่มลุคพรีเมียมและสร้างความน่าสนใจจากกลุ่มเบียร์เมนสตรีมด้วยกัน

ส่วน “เชียร์ ซีเล็คชั่น ไรซ์เบอร์รี่” เบียร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำเบียร์ดำแบบยุโรป ผสมกับวัตถุดิบคุณภาพสูงอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ ทำให้เบียร์มีสีน้ำตาลที่สวยงาม รสชาติที่เข้มและหอมนุ่มนวล ปริมาณแอลกอฮอล์ 5% ในบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋อง ขนาด 490 มล. ราคาขายปลีกแนะนำ 50 บาท ดีไซน์แพ็กเกจจิ้งด้วยการนำ “ไก่ฟ้าพญาลอ” ซึ่งเป็นพันธุ์นกที่กินข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นอาหาร สื่อสารความเป็นไทยออกมาให้กลุ่มผู้บริโภคได้เห็นแบบชัดเจนยิ่งขึ้น

พชรชนกกล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทจะทำการตลาดหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซกเมนต์เมนสตรีมระดับบนด้วยการส่ง “เชียร์ ซีเล็คชั่น” ส่วน “เชียร์” (กระป๋องสีฟ้าและแดง) จะเน้นการทำกิจกรรมทางการตลาดไปยังพื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัด ด้วยกลยุทธ์ Music Marketing รุกเกมการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านกิจกรรมคอนเสิร์ต เพื่อสร้างการจดจำให้กับแบรนด์มากขึ้น

พชรชนกคาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดเบียร์จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อและต้องการสังสรรค์มากขึ้น

 

Marketeer FYI

เชียร์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 มีสินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

(1) เชียร์ (Cheers) ซึ่งเป็นไลน์สินค้าหลัก ประกอบด้วย เชียร์ คลาสสิก (Cheers Classic) สีฟ้า เป็นเบียร์ประเภทลาเกอร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ 4.8% และ เชียร์ เอ็กซ์ตรา (Cheers Xtra) สีแดง มีปริมาณแอลกอฮอล์ 6%

(2) เชียร์ ซีเล็คชั่น (Cheers Selection) แบรนด์ย่อยของเชียร์ ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างพร้อมทางเลือกให้กับกลุ่มเมนสตรีมในตลาดเบียร์ ด้วยนวัตกรรมผสมผสานกับวัตถุดิบเกรดพรีเมียม

 

มูลค่าตลาดเบียร์ 2561

เบียร์เมนสตรีม มูลค่า 139,000 ล้านบาท

เบียร์พรีเมียม 6,400 ล้าน

เบียร์ราคาประหยัด + เบียร์นำเข้า 2,000 ล้าน

 

เซกเมนต์ในตลาดเบียร์เมนสตรีม

ต่ำกว่า 85 บาท Saving & Economy

85-100 บาท Tradition Mainstream

101-115 บาท Upper Mainstream

มากกว่า 115 บาท Premium



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน