“รถยนต์ไฟฟ้า” ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป ในหลาย ๆ ประเทศอย่าง จีน อเมริกา หรือในยุโรป เดินหน้าเอาจริงกับการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายให้เป็นตัวเลือกอันดับ 1 แทนรถยนต์เครื่องสันดาปให้ได้ไวที่สุด

รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของเทคโนโลยียานพาหนะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คาดกันว่าจะเกิดภายในเจนเนอเรชั่นเรา ไม่เกิน 10-20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่า

ตลาดใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ในปัจจุบันคือ จีน ครองสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ทั่วโลกผลิตได้กว่า 55% คิดง่าย ๆ หากค่ายรถยนต์ทั่วโลกผลิตรถไฟฟ้าออกมา 100 คัน 55 คันอยู่ในประเทศจีน ส่วนตลาดรองลงมาคือ อเมริกา และในยุโรปตามลำดับ

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิด… องค์ประกอบสำคัญคือการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งมาตรการทางภาษี เงินสนับสนุน สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่จะได้รับ รวมถึงราคาของรถยนต์เอง และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างที่ประเทศนอร์เวย์เริ่มมีการวางแผนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างจริงจังเพื่อให้ทั้งประเทศเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2025

ขณะที่หลายประเทศส่วนใหญ่ยังมองข้อดีของการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเพราะคำนึงถึงเรื่องการลดมลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการขับขี่รถเครื่องยนต์สันดาป

รวมถึงเป้าหมายอย่างการลดการใช้พลังงานที่ผันผวนตลอดเวลาอย่างน้ำมันลงให้ได้มากที่สุด เพื่อหันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าและนำมาใช้ชาร์จรถยนต์จนเกิดเป็นอีโคซิสเต็มของพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ

มองกลับมาที่ประเทศไทย… รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดพุ่งสูงถึง 4.5 ล้านคันทั่วโลก

ที่จริงรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2008 แต่ทำยอดขายได้ไม่ดีนักเนื่องจากราคาค่อนข้างสูง แถมมีรุ่นจำหน่ายน้อย

ภาพลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าในตอนนั้นคือ รถราคาแพง กลับกันรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่สูงมากก็อาจมีข้อจำกัดในการใช้งานในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นรถขนาดเล็ก ไม่สามารถใช้งานได้ทุกวัน รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน จนทำให้ผู้ที่สนใจซื้อไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

เวลาผ่านไป บวกกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ …. ค่ายรถยนต์อย่าง MG ที่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ในไทยได้พักใหญ่ได้ ลั่นกลองรบ EV CAR ในไทย! หันมารุกหนักรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วยการเปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์ MG ZS EV รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV หรือที่เรียกคุ้นปากว่า รถ EV แท้ ๆ 100% เป็นครั้งแรก

พร้อมกับสร้างเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยราคาเริ่มต้น 1.19 ล้านบาท “รถ EV ราคาจับต้องได้… ตามเสียงเรียกร้องของผู้บริโภค”

แน่นอนว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีบวกกับช่วยไดรฟ์ให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตขึ้นจากยอดขายรวมทั้งหมด 7 คันในปี 2018 เป็น 1,300 คันในปี 2019 ซึ่งคิดเป็นยอดขายของ MG ZSEV กว่า 90% ของยอดขายทั้งหมด และต่อจากตอนนั้นค่ายรถยนต์ต่างทยอยแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% สู่ตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

คำถามต่อไปคือ ตลาดเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกมากขึ้นเรื่อย ๆ … ต้องเลือกอย่างไร มาตรฐานขั้นต้นของรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีอะไรบ้าง

พื้นที่ + ฟังก์ชัน = การใช้งานที่แท้จริง

เชื่อว่าหลายๆ คนอยากให้รถเป็นทุกอย่าง ทั้งใช้ในทั้งชีวิตประจำวันไปจนถึงพาเพื่อนพาครอบครัวไปเที่ยวช่วงวันหยุด ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยของรถจึงมีความสำคัญ รถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4-5 คน สะดวกสบายทุกที่นั่ง มีพื้นที่เก็บสัมภาระที่เพียงพอก็ดูเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน

รวมถึงการมีฟังก์ชันการใช้งานเบื้องต้นที่ตอบโจทย์ของคนใช้รถยุคนี้ เช่น ไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์ พร้อมระบบควบคุมการเปิด-ปิดอัตโนมัติ ไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่เวลากลางวัน (Daytime Running Lights) เบาะนั่งแบบหนัง หน้าจอสีแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชัน ระบบปรับอากาศแบบดิจิทัล ช่องเชื่อมต่อ USB และปุ่มสตาร์ต อย่ามองว่าออฟชันเหล่านี้เป็นแค่ออฟชันเสริม แต่นี่คือฟังก์ชันและออฟชันที่รถในปัจจุบันควรมี

ด้านความปลอดภัย

ยิ่งเป็นรถครอบครัวเรื่องความปลอดภัยต้องสูงสุด และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งก่อนเกิดอุบัติเหตุและหลังเกิดอุบัติเหตุ ระบบความปลอดภัยก่อนการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ระบบป้องกันล้อล็อก ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBA ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS กล้องมองหลังและสัญญาณเตือนกะระยะถอยหลัง

ส่วนระบบความปลอดภัยหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถุงลมนิรภัยคู่หน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงรั้งกลับพร้อมผ่อนแรงอัตโนมัติ

สมรรถนะและระยะทางในการขับขี่

ลบภาพรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องเป็นแค่ซิตี้คาร์ไปก่อน… เพราะรถยนต์ไฟฟ้าควรมีกำลังขับอย่างน้อยๆ 150 แรงม้า พร้อมแรงบิดที่ให้กำลังส่งตัวรถและผู้โดยสารทะยานทำความเร็วได้อย่างไม่ติดขัด เมื่อต้องวิ่งด้วยความเร็วหรือจังหวะแซง

ระยะทางการขับขี่ที่พอเพียงสำหรับการใช้งาน ระยะทางในการขับขี่ไม่น้อยกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้งก็ดูเป็นระยะทางเฉลี่ยที่ครอบคลุมการใช้งานของลูกค้าโดยทั่วไป

เรื่องบริการหลังการขาย การรับประกัน ค่าบำรุงรักษา ต้องรับไหว!

ลบภาพจำของรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องอะไหล่แพง ไม่มีที่ซ่อมไปได้แล้ว เพราะการที่หลายค่ายรถใหญ่ทั้งหลายจะรุกตลาดนี้อย่างจริงจัง เรื่องของบริการหลังการขาย อะไหล่ และค่าบำรุงรักษา ต้องวางแผนการตลาดมาอย่างดีเช่นกัน

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าดูแลง่ายกว่ารถยนต์สันดาป เพราะไม่มีระบบเครื่องยนต์ให้ต้องดูแล ทำให้จำนวนชิ้นส่วนของตัวรถน้อยลง ซึ่งค่าบำรุงรักษาโดยเฉลี่ยต้องไม่เกิน 8,000 บาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร นอกจากดูแลรักษาง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว การรับประกันก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยการรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ต้องไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ 120,000 กม. และการรับประกันแบตเตอรี่ต้องไม่ต่ำกว่า 8 ปี หรือ 180,000 กม.

เทคโนโลยีในรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีอีกมากมาย อาทิ Hair-Pin Winding Design Technology ที่ช่วยให้มอเตอร์ไฟฟ้าส่งกำลังได้เต็มประสิทธิภาพ และแบตเตอรี่ที่ใช้ในการส่งกำลังไปยังมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ ลิเธียม-ไอออน (Lithium-ion) รวมทั้งระบบ Cooling System แบบ Liquid Cooling ระบบน้ำหล่อเย็นช่วยระบายความร้อนที่เกิดขึ้นในขณะใช้งาน เพื่อให้แบตเตอรี่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบ Module ทำให้สามารถเปลี่ยนเฉพาะโมดูลที่เสียหายได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งหมด ช่วยลดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว ทั้งนี้แบตเตอรี่ควรผ่านการรับรองมาตรฐาน IP67 คือมาตรฐานในการกันน้ำกันฝุ่นของแบตเตอรี่ขับเคลื่อน ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นได้ 100% และป้องกันน้ำได้เป็นเวลาประมาณ 30 นาที

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้านั้นมาแรงมากในปัจจุบันรวมถึงการแข่งขันที่ทวีความดุเดือดมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ได้รับผลดีมากที่สุดก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆ นอกจากจะได้มีตัวเลือกมากขึ้นในการเลือกพาหนะที่เหมาะกับการใช้งานเหมาะกับการใช้ชีวิตของเรา คุ้มค่า คุ้มประสิทธิภาพ ได้ช่วยกันรักษาดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้วยการปล่อยมลพิษที่น้อยลงได้

และท้ายที่สุด “รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่อนาคตที่น่าจับตา แต่มันคืออนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในวันข้างหน้า เราเพียงแต่ต้องเตรียมพร้อมและเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนนี้”



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online