One ซื้อ GMM25 หาเหตุผลแบบเจาะลึก ทำไมดีลนี้จึงเกิดขึ้น (วิเคราะห์)

หลังจากบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องวัน31, เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ, แอ๊กซ์ สตูดิโอ, มีมติเปิดเผยการซื้อกิจการ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ประกอบด้วยจีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์2561, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล จากการเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจคอนเทนต์ และเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ต้องการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ขยายธุรกิจไปทุกแพลตฟอร์ม

การซื้อหุ้นจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ในครั้งนี้ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซื้อหุ้นจาก

– บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง สัดส่วน 50%

– บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 50%

และเมื่อกระบวนการซื้อขายหุ้นเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จะถือหุ้น 100% ใน เอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง

 

ในมุมมองของ Marketeer  อะไรคือเหตุผลที่ One ซื้อ GMM25 

1.

ปรับองค์กรสู่การบริหารเบ็ดเสร็จจาก Umbellar เดียวกัน สร้างความแข็งแกร่ง

ที่ผ่านมา เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง มี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท

ปัจจุบันบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใน เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  31.27% และ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ในสัดส่วน 50%

การซื้อธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง เข้ามาบริหารงานภายใต้องค์กรเดียว กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ รับหน้าที่เป็นตัวแทนทำการตลาด และร่วมผลิตรายการ โดยจะใช้ประสบการณ์ในการบริหารช่องวัน31 ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจทีวิดิจิทัล เข้าไปเป็นตัวแทนทำการตลาดให้ช่องจีเอ็มเอ็ม25 มีความชัดเจนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้นสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวเดินไปข้างหน้าที่มั่นคงกว่าการแยกกันเดินเหมือนที่ผ่านมา

เนื่องจาก เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง มีธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะธุรกิจอย่างสถานีโทรทัศน์ และผลิตคอนเทนต์ ซึ่งถ้ารวมการบริหารเพียงหนึ่งเดียวจะทำให้การวางภาพลักษณ์ของช่อง One31 กลุ่มเป้าหมายคือแมสและคนเมือง GMM25 กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่

และการเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสมลงในแต่ละช่องจะทำได้ชัดเจนกว่าต่างคนต่างผลิตเพื่อลงช่องของตัวเอง

 

 

2.

One ซื้อ GMM25 เพราะ GMM25 ทำเรตติ้งไปไม่ถึงฝัน

ในปี 2560 บริษัท สิริดำรงธรรม ของฐาปน สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ในสัดส่วน 50% เพื่อคาดหวังเรตติ้งที่เติบโตในช่อง GMM25

แต่ที่ผ่านมา เรตติ้ง GMM25 ก็ยังทำไม่ได้ดีนัก โดยในเดือนกันยายน 2563 ช่อง GMM25 สามารถทำเรตติ้งได้เพียง 0.149 อยู่ในอันดับที่ 12 ของตารางเรตติ้ง

การที่ GMM25 ไม่สามารถสร้างเรตติ้งได้น่าสนใจ เป็นไปได้ว่า ฐาปนมีความต้องการที่จะขายหุ้นในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ทิ้ง เพื่อไปทุ่มในช่องอัมรินทร์ ซึ่งเป็นทีวีดิจิทัลอีกช่องหนึ่งที่ฐาปนเข้าไปถือหุ้นใน บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เมื่อปี 2559

เพราะที่ผ่านมาอัมรินทร์ ทีวี สามารถทำเรตติ้งได้ดีกว่า ด้วยเรตติ้งเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 0.678 เป็นอันดับ 6 ของตาราง

นอกจากนี้ รายได้ของ GMM25 ที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนในทุก ๆ ปี

นับตั้งแต่เริ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลในปี 2557 ช่อง GMM25 จดทะเบียนในชื่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด มีผลประกอบการแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขาดทุนสะสมจนถึงปี 2562 มากถึง 2,600 ล้านบาท

 

2557       64.50 ล้านบาท     ขาดทุน 265.44 ล้านบาท

2558       445.20 ล้านบาท   ขาดทุน 650.26 ล้านบาท

2559       699.24 ล้านบาท   ขาดทุน 326.91 ล้านบาท

2560       854.66 ล้านบาท   ขาดทุน 638.45 ล้านบาท

2561       858.03 ล้านบาท   ขาดทุน 413.23 ล้านบาท

2562       823.13 ล้านบาท   ขาดทุน 350.30 ล้านบาท

 

3.

ลดทีมงานในกลุ่มที่ทับซ้อน

อย่างที่เรากล่าวไปว่ากลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง มีธุรกิจในเครือที่ทับซ้อนกัน และการซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการ Lean องค์กรได้อีกทางหนึ่ง

เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ประกาศว่าจะมีผลกระทบกับบุคลากรบางส่วน ที่ต้องมีการโยกย้ายกระจายไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของบริษัทในเครือตามความเหมาะสม และในส่วนที่มีการปรับลดได้มีการสื่อสารเจรจาพูดคุยกับพนักงาน พร้อมดูแลตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมทุกขั้นตอน

 

4.

One ซื้อ GMM25 เพื่อ Performance ดีกว่าย่อมได้เปรียบ

เมื่อเทียบ Performance ของ One31 กับ GMM25

One31 ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งอันดับต้น ๆ ในตาราง ในเดือนกันยายน 2563 มีเรตติ้ง 0.687 เป็นอันดับ 4 ของตาราง ส่วน GMM25 เรตติ้ง 0.149 เท่านั้น

 

สำหรับรายได้แล้วบริษัทในกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มีผลประกอบการที่ทำกำไรในทุก ๆ บริษัท ในปีที่ผ่านมา

 

ในกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ประกอบด้วย 3 ขาธุรกิจ ได้แก่

หนึ่ง-กลุ่มผลิตรายการโทรทัศน์

ประกอบด้วย

บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด

บริษัท มีมิติ จำกัด

มีผลประกอบการทั้ง 2 บริษัทดังนี้

บริษัท วัน สามสิบเอ็ด

2560       567.64 ล้านบาท                   ขาดทุน 498.06 ล้านบาท

2561       2,033.11 ล้านบาท                 ขาดทุน 9.37 ล้านบาท

2562       2,683.43 ล้านบาท                 กำไร 219.78 ล้านบาท

 

บริษัท มีมิติ จำกัด

2560       276.18 ล้านบาท   กำไร 44.92 ล้านบาท

2561       263.86 ล้านบาท   กำไร 38.03 ล้านบาท

2562       220.73 ล้านบาท   กำไร 26.66 ล้านบาท

 

สอง-กลุ่มบริหารงานศิลปิน งานจ้าง

ประกอบด้วย 1 บริษัท คือ บริษัท เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ จำกัด และมีผลประกอบการดังนี้

บริษัท เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ จำกัด

2560       75.23 ล้านบาท     ขาดทุน 1.16 ล้านบาท

2561       92.92 ล้านบาท     กำไร 4.96 ล้านบาท

2562       93.04 ล้านบาท     กำไร 4.36 ล้านบาท             

 

 

สาม-กลุ่มธุรกิจโรงถ่าย

จดทะเบียนภายใต้ บริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด มีผลประกอบการดังนี้

บริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด

2560       92,260,190.00      ขาดทุน 27.45 ล้านบาท

2561       100.28 ล้านบาท   กำไร 8.46 ล้านบาท

2562       65.66 ล้านบาท     กำไร 5.72 ล้านบาท

 

ส่วนบริษัทแม่อย่างเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มีรายได้ดังนี้

2560       1,974.37 ล้านบาท                 กำไร 123.75 ล้านบาท

2561       975.75 ล้านบาท                   กำไร 28.62 ล้านบาท

2562       226.92 ล้านบาท                   กำไร 13.53 ล้านบาท

 

และสำหรับทิศทางดำเนิน หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จะเป็นอย่างไร ถกลเกียรติ วีรวรรณ เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจในวันอังคาร ที่ 1 ธันวาคม 2563 นี้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน