“ทำธุรกิจด้วยใจ แต่กำไรไม่เหลือ” ประโยคนี้คือชื่อคลิปล่าสุดจาก youtuber ชื่อดังอย่าง Bearhug ที่ทำให้เราต้องกดเข้าไปดู

เพราะน้อยคนนัก ที่จะกล้ามาเปิดเผยประสบการณ์ที่ผิดพลาดของตัวเองให้ผู้คนได้ฟังกัน

Bearhug คือช่อง youtube ที่ปัจจุบันมียอด subscribe กว่า 3.56 ล้าน ก่อตั้งโดย ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และ กานต์-อรรถกร รัตนารมย์

หลังประสบความสำเร็จจากการทำช่อง youtube ในเวลาต่อมาพวกเขาก็ได้ขยายธุรกิจ เปิดร้านชานมไข่มุกของตัวเองเป็นครั้งแรกในนามของ ‘Bearhouse’ กับสาขาแรกที่ตั้งอยู่บนทำเลทองอย่างสยามสแควร์ที่คนต่อคิวกันแบบยาวเหยียด

และจากกระแสตอบรับของผู้คนจึงทำให้เวลาต่อมา Bearhouse สามารถขยายสาขาไปได้อีกเกือบ 10 แห่ง

เมื่อการทำร้านชานมไปได้สวย พวกเขาจึงต่อยอดธุรกิจอีกครั้ง กับการทำชานมแบบกระป๋องเพื่อขายใน 7-Eleven ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า Sunsu

แต่กลับกลายเป็นว่าการต่อยอดครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้พวกเขาขาดทุนไปกว่า 17 ล้านบาท

อะไรที่ทำให้การขายชานมครั้งนี้ขาดทุนไปกว่า 17 ล้าน?

1
อาจด้วยเพราะราคาที่สูงไป แม้ 35 บาทจะเป็นราคาที่ไม่ได้แพงอะไรเมื่อเทียบกับชานมแบบแก้วที่ขายตามร้าน

แต่ 35 บาทกลายเป็นสินค้าที่ดูมีราคาค่อนข้างสูงขึ้นมาทันทีเมื่อวางอยู่บนเชลฟ์ใน 7-Eleven ที่มีเครื่องดื่มแบรนด์อื่นเป็นตัวเทียบมากมาย

แม้สินค้าอื่น ๆ ที่ว่าจะไม่ใช่ชานม แต่ก็มีราคาที่ถูกกว่า และที่สำคัญมันคือสินค้าทดแทนกันได้

คือ ‘ใช้เพื่อดับกระหายและเพิ่มความสดชื่นได้’ เช่นกัน

ซึ่งหากใครที่ไม่ได้ตั้งธงมาในใจก่อนเดินเข้า 7-Eleven ว่าจะเข้ามากินชานมจริง ๆ การขายเครื่องดื่มราคา 35 บาทใน 7-Eleven จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยเลย

2

แม้การขายเครื่องดื่มราคา 35 บาทใน 7-Eleven จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่กานต์เล่าให้ฟังในคลิปว่า

“ไม่ใช่ว่ามันขายไม่ดี แต่มันไม่มีกำไร”

ซึ่งนั่นก็มาจากการที่พวกเขาไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ในการนำสินค้าเข้า 7-Eleven มาก่อน

ไม่ได้คำนึงถึงภาษีและต้นทุนแฝงต่าง ๆ ที่ต้องเจอในระหว่างทำธุรกิจ

3
ไม่ยอมลดต้นทุนในธุรกิจ

อาจด้วยเพราะความละเอียดอ่อน จนทำให้ซารต์ซีเรียสกับเรื่องรสชาติของชานมมาก

แม้จะมีสูตรอื่นที่ทำให้พวกเขาสามารถเลี่ยงภาษีความหวานได้ และรสชาติแทบจะไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

แต่เธอก็ไม่ยอมทำ แม้คิดว่าการปรับสูตรนี้จะเป็นทางรอดให้ชานมกระป๋องนี้ไปต่อได้ แต่เธอกลับรู้สึกว่าถ้าปรับแล้วจะทำให้ไม่ภูมิใจในรสชาติ สู้ไม่ขายเลยยังจะรู้สึกดีเสียกว่า

4
การบริหารความต้องการของลูกค้า

แม้กระแสตอบรับจะดีแค่ไหน แต่หากไม่มีสินค้าขาย กระแสที่ว่าก็ไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินได้อยู่ดี

เช่นเดียวกับชานมกระป๋องของพวกเขา หลังผลิตล็อตแรกออกไปแล้วกระแสดีเกินคาดจนทำให้สินค้าขายไม่พอ

ในเวลาต่อมาพวกเขาจึงสั่งผลิตเพิ่มขึ้นอีก แต่ทว่าสินค้าล็อตที่สองดันเสร็จหลังที่กระแสเริ่มหายไปแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาเสียไปไม่ใช่แค่โอกาสในการขาย แต่คือต้นทุนทางการตลาด ที่มีทั้งเรื่องของเงินและเวลาด้วยเช่นกัน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคลิปนี้ ไม่ได้มีแค่บทเรียนในการทำธุรกิจเท่านั้น

แต่ยังรวมไปถึง ‘วิธีคิดและกำลังใจ’ ว่าในวันธุรกิจไปต่อไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรต่อ

สะท้อนได้จากในคลิปที่ทั้งสองได้บอกว่า

“ถือว่า 17 ล้านนี้เป็นค่าเรียน เรียน โท เอก ตรี จัตวาอะไรก็แล้วแต่

เราไม่รู้จะเครียดไปทำไม ถ้าเราเครียดเราจะหาสิ่งดี ๆ เข้ามาใหม่ไม่ได้ใช่ไหม” -ซารต์

“คลิปนี้เถียงกับซารต์บ่อยมาก ว่าเราควรจะบอกคนดูดีไหมว่าเราขาดทุน มันดูเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

สุดท้าย สรุปด้วยกันว่า การขาดทุนของเราจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์โลกที่สุดก็คือทำคลิปเล่าให้ฟัง”-กานต์

หากใครกำลังรู้สึกล้มเหลวในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจอะไรก็ตาม

คลิปนี้น่าจะเป็นอีกคลิปที่ดี ทั้งในแง่ของทัศนคติเมื่อต้องเจอกับปัญหา หรือบทเรียนและข้อควรระวังในการทำธุรกิจสำหรับคุณ

ดูคลิปได้ที่ลิงก์นี้: https://youtu.be/AOYRnBpbQQ4

ที่มา: Bearhug



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน