ในงานแถลงข่าวที่ ‘ Zanroo แสนรู้ ’ ระดมทุน 7.4 ล้านเหรียญ จาก Shift Ventures … Marketeer ได้มีโอกาสพูดคุยกับสอง Co-Founder ของ ‘ Zanroo แสนรู้ ’ เป็นเวลาสั้นๆ แต่สิ่งที่สัมผัสได้นั้นคือ Passion ที่มีต่อการทำธุรกิจของพวกเขา และวิธีการคิดที่น่าสนใจ

ฉะนั้นถ้าคุณเป็น Startup หรือผู้ประกอบการ ลองดู 4 บทเรียนบ้านๆ จาก Zanroo ดู แล้วคุณจะรู้ว่า วิธีบ้านๆ ก็สามารถพาธุรกิจไประดับโลกได้

 

1.ไม่รอพร้อม

ในปี 2556 แสนรู้ มีเพียง 4 คนคือ ไฟต์ อ๋อม และพนักงานอีก 2 คน ซึ่งตอนนั้นหน้า Interface เว็บไซต์ ออฟฟิศ โลโก้ และอีกหลายๆ อย่างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่พวกเขาเชื่อว่า ซอฟต์แวร์ Social Listening ของพวกเขาสามารถช่วยลูกค้าได้ทันที พวกเขาจึงตัดสินใจวิ่งไปหาคอนเนคชั่นที่พวกเขารู้จัก และขายแบบบ้านๆ เลย แต่ด้วยคุณภาพของซอฟต์แวร์ล้วนๆ พวกเขาจึงปิดดีลจาก 3 บริษัท และสามารถหาเงิน 1 ล้านบาท ภายในเดือนแรกที่ทำธุรกิจ

นอกจากนั้นในตอนที่พวกเขาเตรียมขยายไปต่างประเทศ สิ่งที่พวกต้องทำก็คือบินไปต่างประเทศ และหาทีมงานในประเทศนั้นๆ ให้ได้ ซึ่งในตอนแรกออฟฟิศของพวกเขาคือห้องเช่าที่ไม่มีอะไรเลย ก่อนที่จะทำธุรกิจ เก็บเงิน และขยับขยายในที่สุด

นี่คือคุณสมบัติที่ดีของ Startup คือต้องไม่รอพร้อม ไม่ติดหรู และทำตัวให้ Lean เข้าไว้

 

2.มีวิสัยทัศน์

ในตอนที่ไฟต์ ตั้งใจแล้วว่าจะทำ Zanroo เขาได้ชวน อ๋อม เพื่อนสนิทของเขามาทำ Startup ด้วยกัน แต่ ณ ตอนนั้น อ๋อม ผู้ซึ่งจบวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มีดีกรีอันดับหนึ่งจากการแข่งขันโครงการ Imagine Cup ของ Microsoft มีหน้าที่การทำงานที่ดี และเงินเดือนดีมากๆ อยู่แล้ว แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไฟต์ เล่าให้อ๋อมฟัง ทำให้อ๋อมตัดสินใจลาออกมาทำ แสนรู้

ที่ตลกก็คือ อ๋อม ตื่นเต้นจนลาออกก่อนที่ ไฟต์ จะ ลาออกเสียด้วยซ้ำ

นอกจากวิสัยทัศน์จะทำให้ดึงคนเก่งๆ ได้ การจะรมทุนจาก Venture Capital นั้นก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สุดยอดเช่นกัน โดยผู้ก่อตั้งของ Shift Ventures ‘วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง’ เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่ Shift Ventures ตัดสินใจให้เงินลงทุน 7.4 ล้านเหรียญนั้น ก็เพราะ Passion และ Vision ของที่กว้างไกล และรอบคอบ

“แสนรู้ สามารถบอกได้ว่า 7.4 ล้านเหรียญจะเอาไปทำอะไรบ้าง และรู้ว่าจะรับมือกับการแข่งขันอย่างไร”

3.ไม่ยอมแพ้

สิ่งที่ ไฟต์ CEO ของ แสนรู้ อยากจะบอกกับผู้ประกอบการทุกคนก็คือ อย่ายอมแพ้… ถ้าเรารู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องไปหาคนที่เขาทำได้ ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเรียนรู้และทำให้ได้เอง ซึ่ง Zanroo เป็นตัวอย่างของความไม่ยอมแพ้

โดยไฟต์เล่าโมเดลธุรกิจของ Zanroo ให้เจ้านายเก่าที่เป็นคนมาเลเซียฟังมาตลอด 2 ปีแรกๆ จนสุดท้าย เจ้านายเก่าก็ตัดสินใจมาทำ Zanroo ด้วย และเป็นคนลุตตลาดมาเลเซียให้ Zanroo ในที่สุด

หรือในตลาดที่ยากอย่างจีน เพราะจีนไม่มี Facebook LINE Instagram หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ… Zanroo ก็ต้องหาทางเอาซอฟต์แวร์ของตัวเอง ไปผูกกับระบบที่นู่นให้ได้ ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็หาพันธมิตรที่จีนได้แล้ว และกำลังพัฒนาระบบเพื่อใช้ในจีนให้ได้ภายในปี 2019-2020

 

4.ลำดับความสำคัญให้เป็น

สิ่งสุดท้ายที่ ไฟต์ อยากบอกสำหรับคนที่เริ่มธุรกิจใหม่ก็คือ ต้องจัดลำดับความสำคัญของการทำงานให้เป็น รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

สำหรับ Startup สิ่งที่ต้องรู้ให้ไวก็คือ Test สินค้า และแก้ไข เพื่อสามารถหาฐานลูกค้าให้เร็วที่สุด

ไฟต์ เล่าถึงแผนของ Zanroo ให้ฟังว่า “ถึงแม้ว่าตลาด Marketing Tech ของสหรัฐฯ และยุโรปมีขนาดใหญ่มาก แต่ตลาดนั้นเลยจุด Peak มาแล้ว และกลายเป็น Red Ocean โดยสมบูรณ์ ซึ่งต่างจาก ASEAN ที่บริการประเภท Social Listening ยังเล็กอยู่ ฉะนั้น Zanroo ก็จะค่อยๆ ขยายจากประเทศไทยไปรอบๆ ให้แข็งแรงก่อน จากนั้นค่อยบุกตลาดสหรัฐฯและยุโรปก็ไม่สาย เพราะว่าบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ก็มีสาขาในอาเซียน ฉะนั้นถ้าเราพิสูจน์กับทุกประเทศในอาเซียนให้ได้ ถึงเวลาที่เปิดตัวในสหรัฐฯและยุโรป บริษัทแม่ทั้งหลายก็มั่นใจได้ระดับหนึ่ง”

 

Marketeer หวังว่า 4 บทเรียนนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับ Startup ผู้ปกระกอบการ และคนทำงานทุกคนนะครับ

ที่มา : Zanroo</spa



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online