Marketing Everything/รวิศ หาญอุตสาหะ

.

หากต้องเปรียบการบริหารบริษัทองค์กรก็เหมือนกับการสร้างตึก และไม่ใช่ตึกทั่วไป แต่เป็นตึกของประเทศญี่ปุ่น อย่างที่รู้กันว่าโครงสร้างอาคารของญี่ปุ่นไม่ใช่แค่สร้างแบบธรรมดาทั่วไปที่มีสูตรสมบูรณ์แบบ เช่น เสา คาน หน้าต่าง กำแพง หรือประตูเท่านั้น แต่เป็นโครงสร้างที่สามารถป้องกันภัยธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหว ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
.
โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีรอยต่อระหว่างเปลือกโลกมาก จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย และยากจะคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน รุนแรงมากหรือน้อย หรือจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเมื่อใด ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงพัฒนาโครงสร้างอาคารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อป้องกันแผ่นดินไหวตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงรุนแรง ซึ่งแผ่นดินไหวก็เปรียบเสมือนการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ ที่ไม่มีใครรู้ว่าวันดีคืนดีจะมีเรื่องอะไรเข้ามาทักทาย และโครงสร้างอาคารก็เปรียบได้กับการบริหารองค์กรภายใต้ความกดดันหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยแผนและกลยุทธ์ที่วางไว้
.
ซึ่งองค์กรไหนที่มีผู้นำที่ดี การบริหารที่มั่นคง และกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง ก็จะทำให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) และการทำงานที่รวดเร็ว (Speed) สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือโจทย์ใหม่ ๆ ที่เข้ามาท้าทายได้
.
วันนี้ในฐานะ CEO ของ Mission To The Moon และ Srichand ผมจึงอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การบริหารบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในด้านข้อดีข้อเสีย อุปสรรคและความท้าทาย รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่เป็นอย่างไร มาติดตามกันครับ
.
การบริหาร Mission To The Moon
.
Mission To The Moon เป็นองค์กรขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่กี่ปี ตอนนี้มีพนักงานประมาณ 30 กว่าคน โดยพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้อายุเฉลี่ยของพนักงานน้อย จึงบริหารแบบสมัยใหม่ ด้วยการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถแสดงออกหรือนำเสนอความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลำดับขั้น (Hierarchy) เพราะทุกคนสามารถติดต่อกับคนที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง ทำให้การทำงานคล่องตัว รวดเร็ว และไม่ยุ่งยาก ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานค่อนข้างสบาย มีความสามัคคี การทำงานเป็นทีม และสนุกสนาน
.
อย่างไรก็ตาม การบริหารบริษัทขนาดเล็กก็มีความยากและความท้าทายด้วยเหมือนกัน ผมได้สรุปออกมาเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้
.
1. ปัญหาด้านการสื่อสาร
.
หลายคนอาจมองว่าบริษัทที่พนักงานไม่เยอะคงไม่มีปัญหาด้านการสื่อสาร ทำให้เป็นประเด็นที่โดนมองข้ามอยู่บ่อย ๆ แต่เชื่อไหมครับว่าปัญหานี้เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งผมคิดว่าต้นตอไม่ได้อยู่ที่ “จำนวนคน” แต่อยู่ที่ “วิธีการสื่อสาร” มากกว่า เช่น หัวหน้าบอกรายละเอียดประมาณนี้ คิดว่าอีกฝ่ายน่าจะเข้าใจตรงกัน แต่จริง ๆ แล้วอีกฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่ละเอียดเกินไปก็ใช่ว่าจะดี เพราะอาจทำให้เสียเวลาและคนฟังรู้สึกรำคาญได้ ทำให้ต้องหาจุดกึ่งกลางในการสื่อสารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
.
2. ปัญหาด้านระบบ
.
ส่วนใหญ่ระบบของบริษัทเล็ก ๆ จะยังไม่ค่อยนิ่ง โดยมักจะคอยทดสอบ Business Models หรือ System ไปเรื่อย ๆ หากยังไม่ดีหรือยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควรก็จะทำใหม่ และยังไม่มี Job Function ที่ชัดเจนมากพอ รวมถึงพนักงานหนึ่งคนมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง ซึ่งอาจทำให้งานหรือขั้นตอนบางอย่างตกหล่นไปได้ เช่น ลืมเก็บเงินกับลูกค้า เพราะนึกว่าอีกคนดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว หรือลืมต่อใบอนุญาตต่าง ๆ
.
.
การบริหาร Srichand
.
สำหรับศรีจันทร์ผมไม่มองว่าเป็นปัญหา แต่จะมองว่าเป็นโจทย์และความท้าทายที่บริษัทขนาดกลางต้องเจอ โดยการบริหารของที่นี่จะไม่ค่อยมีความยากเรื่องงาน เพราะค่อนข้างมีระบบและขั้นตอนที่ลงตัวแล้ว แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ การบริหารคนและเวลา
.
1. การบริหารคน
.
การเลือกคนที่เหมาะสมกับเนื้องานเป็นโจทย์สำคัญมากๆ สำหรับองค์กรขนาดกลาง เพราะบริษัทมีโครงสร้างและกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งแล้ว การมีคนที่ใช่และเหมาะสมกับหน้าที่ก็จะยิ่งทำให้กระบวนการต่าง ๆ ไหลไปตาม Flow การทำงานได้อย่างไม่ติดขัด เช่นเดียวกับประโยคที่มักจะพูดถึงกันบ่อย ๆ อย่าง “Put the right man on the right job” การเลือกคนที่ใช่ ทำงานที่เหมาะสม
.
นอกจากนี้ “การเมืองในที่ทำงาน” ก็เป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่ เช่น บางคนคิดว่าแผนกนี้ทำงานหนักมาก แต่อีกแผนกเหมือนไม่ทำอะไรเลย หรือสงสัยว่าทำไมคนนั้นคนนี้ถึงได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งหากบริษัททำข้อมูลให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็จะช่วยลดความสงสัยหรือข้อข้องใจที่นำไปสู่การเมืองในที่ทำงานได้เป็นอย่างดี
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้บริหารทุกคนจะเห็นด้วยกับการลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ เพราะบางคนมองว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายเยอะหรือลงลึกขนาดนั้น ทำให้จำเป็นต้องมีทีมบริหารระดับกลาง (Middle-level Management) ที่แข็งแกร่งมาก ๆ คอยเป็นตัวกลางรับทั้งปัญหาและแรงกดดันจากทุกระดับ เพื่อนำไปวางแผนและหาแนวทางแก้ไขต่อไป
.
2. การบริหารเวลา
.
สำหรับศรีจันทร์การแบ่งเวลาให้ชัดเจนและเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด หากให้น้ำหนักหรือเทไปที่ประเด็นใดมากเกินไป อาจทำให้ไม่มีเวลาไปใส่ใจประเด็นอื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันได้ และสุดท้ายก็ทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น การมุ่งแก้ปัญหาและหาทางออกให้ลูกค้ามากเกินไป จนละเลยการวางระบบที่ชัดเจน รวมถึงการบริหารคนในองค์กร ก็อาจทำให้เกิดรอยรั่วต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้น ควรแบ่งเวลาจัดการประเด็นต่าง ๆ ให้ทั่วถึงและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการงาน บริหารคน แก้ไขปัญหา คิดไอเดียใหม่ ๆ รวมถึงสร้างระบบที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร
.
.
เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือกลางต่างก็มีปัญหาและความยากง่ายแตกต่างกันออกไป และเมื่อเรารู้ว่าบริษัทของเรากำลังมีปัญหาหรือเผชิญกับความท้าทายในด้านไหนอยู่ล่ะก็ การแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้องค์กรมีระบบดี พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ อีกทั้งผู้บริหารก็จะมีเวลาไปคิดและหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจได้ ไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับปัญหาเหล่านี้นาน ๆ เพราะทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ได้อย่างลงตัว



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน