airasia Ride เกมต่อยอดจากสายการบินสู่เรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมาย

เกมการแข่งในธุรกิจแอปเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายสนุกขึ้น

เมื่อ airasia Super App จากแอร์เอเชีย เพิ่มบริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมาย เข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของ airasia Ride ซึ่งเป็นบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน airasia Super App เป็นที่เรียบร้อย

จากเดิมที่ airasia Ride เปิดให้บริการครั้งแรก 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และมีบริการเรียกรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นบริการแรก

บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายเป็นบริการที่เพิ่มขึ้นมาหลังจากที่ airasia Super App ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากกรมการขนส่งทางบกเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 พร้อมนำร่องเปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเช่นเดียวกับบริการเรียกรถแท็กซี่

ถ้านับจากเดือนพฤษภาคมที่ airasia Super App เปิดบริการ airasia Ride ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ที่ให้บริการต่อจากมาเลเซีย

โดยในประเทศมาเลเซีย ประเทศต้นกำเนิดแอร์เอเชีย และประเทศแรกที่แอร์เอเชียเปิดบริการ airasia Ride ประสบความสำเร็จ ด้วยยอดให้บริการ 2 ล้านทริปในเวลา 1 ปีที่ให้บริการ และสามารถทำกำไรได้ในปีแรก

เหตุผลที่ airasia Super App ประเทศไทยหันมาเล่นในตลาดบริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายมาจาก

1. airasia Super App ประเทศไทยมองเห็นโอกาสของตลาดแอปฯ เรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายในประเทศไทยที่จะเข้ามาสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ นอกเหนือจากธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

และในตลาดแอปฯ เรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายในประเทศไทยปัจจุบันยังมีคู่แข่งไม่มากนัก แต่ตลาดมีความต้องการสูงจากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ

2. แอร์เอเชียต้องการเชื่อมต่อ Journey การเดินทางของกลุ่มลูกค้าสายการบินแอร์เอเชียจากบริการบนเครื่องบินสู่บริการออนกราวด์ เพื่อให้ลูกค้าแอร์เอเชียสามารถใช้บริการการเดินทางได้ครบครันมากขึ้น ผ่าน airasia Super App ซึ่งเป็นธุรกิจที่แอร์เอเชียทรานส์ฟอร์มตัวเองจากบริการที่เป็น Physical สู่บริการ Digital ให้บริการในอาเซียน เช่น มาเลเซีย ประเทศต้นกำเนิด อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไทย

ตามทิศทางกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการขายบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชันของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Online Travel Agent หรือ OTA

กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการขายบัตรโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน airasia Super App ของตัวเอง แอร์เอเชียเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และต่อด้วยการพาตัวเองเป็น OTA ให้กับสายการบินนอกเหนือจากแอร์เอเชีย ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ก่อนที่จะพาตัวเองสู่แอปพลิเคชันที่เป็น Super App ดึงให้กลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการผ่านแอป airasia Super App ในความถี่ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มบริการต่าง ๆ ให้ครอบคลุม เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี่, เรียกรถโดยสาร, จองตั๋วโดยสาร และอื่น ๆ

สำหรับการทำตลาดของบริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมาย ผ่านบริการairasia Rideบน airasia Super App ณัฏฐิณี ตะวันชุลี ผู้อำนวยการใหญ่ airasia Super App ประจำประเทศไทยคาดหวังว่า จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับบริการairasia Rideในปี 2566 ได้ถึง 300 เท่าจากปีนี้ ส่วนยอดการใช้งานปีนี้ airasia Super App ไม่เปิดเผยข้อมูล

สิ่งที่ทำให้ผู้บริหาร airasia Super App ในประเทศไทยเชื่อมั่นในการเติบโตนี้มาจาก

1. ประเทศไทยยังมีฐานการใช้บริการairasia Rideที่ต่ำ เนื่องจากเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ

2. airasia Super App สร้าง Awareness ในบริการairasia Rideผ่านภาพยนตร์โฆษณา และสื่อโฆษณาต่าง ๆ เช่น สื่อ Out of Home และสื่อในสนามบิน

โดยairasia Rideถือเป็นบริการแรกใน airasia Super App ที่มีการโฆษณาผ่าน TVC

3. วางกลยุทธ์ดึงดูดผู้ใช้บริการทั้งค่าเรียกรถ อัตราค่าโดยสาร และบริการอื่น ๆ เช่น ค่ายกสัมภาระ (ถ้ามี) ต่ำกว่าคู่แข่ง 15% ในระยะแรกของการทำตลาด

โดยการคิดค่าบริการจะอิงตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่คิดค่าบริการตามช่วงเวลาและจำนวนความต้องการและรถที่ให้บริการในแต่ละพื้นที่

4. วางกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน ด้วยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักเดินทางทั้งไทยและต่างประเทศ

ในปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย คนไทย 59% และต่างชาติ 41%

และบริการนี้สามารถเติบโตได้ในปี 2566 จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว คาดการณ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน และสูงถึง 30 ล้านคน

และที่ผ่านมาในมาเลเซีย เบนจี้ ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจขนส่ง airasia Super App ให้ข้อมูลว่า ในประเทศมาเลเซียairasia Rideประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากนักเดินทางที่ใช้บริการairasia Rideจะมีอัตราเฉลี่ยเรียกรถทริปละ 5-6 ครั้ง

5. มีฟีเจอร์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น บริการคนขับเป็นผู้หญิง, คนขับเงียบ, คนขับที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้

ความต้องการนี้มาจากผลรีเสิร์ชที่ airasia Super App ศึกษาพฤติกรรมของผู้โดยสารในประเทศไทย

6. ดึงดูดคนขับรถซึ่งเป็นหัวใจหลักในการให้บริการให้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ ด้วยอัตราค่าธรรมเนียม 15% เมื่อมีรายได้ผ่านแอป airasia Super App

ส่วนของพาร์ตเนอร์ขับรถมีทั้งคนขับอิสระ สามารถรับงานกับผู้ให้บริการรายไหนก็ได้ และไม่จำกัดจำนวนเวลาที่ให้บริการแต่ละวัน

และพาร์ตเนอร์ในโปรแกรม Private Plus ที่ต้องขับรถกับ airasia Ride แอปพลิเคชันเดียว และให้บริการวันละ 8 ชั่วโมง  

Private Plus มีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมคือการันตีรายได้ขั้นต่ำรวม 8,500 บาทต่อสัปดาห์

แม้กลยุทธ์ของ airasia Ride จะพาบริการไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตลาดนี้ยังมีความท้าทายจากคู่แข่งหลักคนสำคัญอย่างแกร็บที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการก่อนหน้านั้น และโรบินฮู้ดที่มีแผนเปิดให้บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายในเร็ว ๆ นี้ และผู้บริหารโรบินฮู้ดเคยให้ข้อมูลว่า บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลถูกกฎหมายของโรบินฮู้ดจะคิดราคาค่าบริการทุกช่วงเวลาที่เท่ากันอีกด้วย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online