ตลาดแอร์ 2566 แข่งขันกันเย็น “ระอุ” เพราะเอลนีโญมาเยือนอีกครั้ง

ตลาดแอร์กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง จากหลายปีที่ผ่านมาตลาดนี้ดูเงียบเหงาพร้อมกับมูลค่าตลาดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าที่ลดลงของตลาดนี้ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากโควิด-19

ส่วนในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ตลาดแอร์กลับมาเติบโตอีกครั้ง

การเติบโตครั้งนี้ได้รับอานิสงส์จากความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่แวะเวียนกลับมาอีกรอบ

จากที่ผ่านมาเอลนีโญเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2019 และได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดแอร์ด้วยมูลค่าการเติบโตถึง 37%

เพราะผู้บริโภคต้องการหาเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายร้อน

 

ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าตลาดแอร์จะเติบโต 7%

แม้ตลาดจะเติบโตไม่เท่าเอลนีโญครั้งก่อน จากเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร แต่ในปีนี้ผู้ประกอบการแอร์ต่างเห็นโอกาสเร่งสร้างตลาดผ่านการแข่งขันพาแบรนด์เข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกการตัดสินใจของผู้บริโภคที่ต้องการแอร์เครื่องใหม่ทดแทนเครื่องเก่า และผู้บริโภคที่ติดแอร์เครื่องใหม่

เนื่องจากในวันนี้ Penetration แอร์ในปีที่ผ่านมายังอยู่เพียง 30% ข้อมูลนี้อ้างอิงจาก Beko เท่ากับว่ายังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก

การแข่งขันของตลาดแอร์ในปีนี้แบรนด์แอร์ต่าง ๆ มีการแข่งขันกันในแง่ของ

1. แคมเปญโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

2. สร้างการจดจำผ่านพรีเซนเตอร์ เพื่อเป็นกระบอกเสียง สร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ และดึงดูดแฟนคลับให้ตัดสินใจซื้อแอร์แบรนด์ที่ศิลปินตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อซับพอร์ตศิลปินที่ชื่นชอบ อย่างเช่น แอร์ไดกิ้น สื่อสารผ่านบิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล เพิ่มเติมจากที่เคยสื่อสารผ่าน ณเดชน์ คูกิมิยะ, แอร์แคเรียร์ สื่อสารผ่านญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์ และต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร, มิตซูบิชิ สื่อสารผ่าน นนท์ ธนนท์ จำเริญ เป็นต้น

3. สร้างจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง

อย่างเช่น แอร์ไดกิ้น สร้างจุดขายผ่านฟังก์ชันแผ่นกรองอากาศ PM2.5 ฟังก์ชันลดการสะสมของสิ่งสกปรก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ

แคเรียร์ นำ ฟีเจอร์ WiFi Inverter สั่งงานด้วยเสียงผ่านไวไฟ และควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ตโฟน พร้อมกับดึงดูดผู้บริโภคผ่านอีโมชันด้วยแอร์หน้ากากต่าง ๆ เช่น แอร์หน้ากากลายดิสนีย์และมาร์เวล เข้าถึงครอบครัวที่มีเด็ก เป็นต้น

แต่ความท้าทายของ ตลาดแอร์ ในวันนี้คือ

1. อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนมีความลังเลที่จะติดตั้งแอร์เพื่อคลายร้อน เพราะไม่สามารถรับภาระค่าไฟจากการใช้แอร์ได้

ในทางกลับกันค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปฏิกิริยาเร่งให้หลายครัวเรือนเปลี่ยนแอร์เครื่องเก่าเป็นเครื่องใหม่ที่กินไฟน้อยกว่าเดิม

2. การปรับเปลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานฉลากเบอร์ 5 ของ กฟผ. ให้สูงขึ้น แอร์ที่วางจำหน่ายต้องเปลี่ยนฉลากใหม่เพื่อวางจำหน่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ทำให้ผู้ผลิตแอร์ต่างเร่งที่จะปรับคุณภาพของแอร์ให้สอดรับตามเกณฑ์ที่ระบุ เพื่อรักษาฉลากเบอร์ 5 ที่เป็นเหมือนปราการด่านแรก ๆ ที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อแอร์เครื่องใหม่

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดมีความท้าทายจากสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา แต่ความร้อนไม่เคยปรานีใคร และแอร์คือหนึ่งในปัจจัยที่ผู้บริโภคหลายคนเลือกเพื่อดับร้อน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน