หลังวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ขยายวง ธนาคารกลางหลายประเทศจึงต้องผนึกกำลังกันเพื่อกอบกู้สถานการณ์
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Swap–อ่านว่าสวอป) ระหว่างเงินสกุลดอลลาร์ กับธนาคารกลางอีก 5 แห่ง คือ แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์
และธนาคารกลางของกลุ่มประเทศยุโรปที่เปิดทางให้ 5 ฝ่ายหลังเข้าถึงเงินดอลลาร์ได้เพื่อเสริมสภาพคล่อง
หลังตลาดการเงินและตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกพากันร่วง สืบเนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้น เพราะยังกังวลต่อวิกฤตธนาคาร SVB ในสหรัฐฯ ที่เพิ่งล้มไป
และปัญหาสะสมของธนาคาร Credit Suisse หนึ่งในธนาคารใหญ่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ฉุดราคาหุ้นหายไปเกือบ 1 ใน 3
จนธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ต้องปล่อยกู้ก้อนใหญ่ ขณะที่ธนาคารทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตของธนาคาร SVB แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ
จนวานนี้ (19 มีนาคม) UBS ธนาคารคู่แข่งต้องเข้าซื้อกิจการผ่านการสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อพยุง Credit Suisse และปกป้องภาคการเงินของประเทศ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ เชื่อว่ามาตรการนี้ที่จะดำเนินไปจนถึงสิ้นเมษายนเป็นอย่างน้อย คงสามารถบรรเทาสถานการณ์ได้ และช่วยลดผลกระทบที่ต่อเนื่องไปถึงภาคครัวเรือนกับเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
การผนึกกำลังกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 15 ปี ถัดจากวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (Subprime) ในสหรัฐฯ ที่บานปลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 และเศรษฐกิจโลกทรุดอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิดปี 2020
จากนี้ต้องจับตาดูผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ว่า จะลามไปอีกแค่ไหน จนพาให้เกิด Domino effect แบบธนาคาร Signature ที่ล้มตามธนาคาร SVB ไป และธนาคาร First Republic ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
รวมถึงฉุดให้ธนาคารที่มีปัญหาสะสมอยู่แล้วแต่สำคัญต่อภาคการเงินประเทศขาดสภาพคล่องรุนแรง จนรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แบบกรณีของ Credit Suisse อีกหรือไม่
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มว่า ธนาคารประเทศใหญ่ ๆ หรือที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกจะประชุมกันเพื่อออกมาตรการกู้สถานการณ์เพิ่มเติม
สื่ออังกฤษรายงานว่า สัปดาห์นี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และอังกฤษจะได้หารือกัน เรื่องนโยบายดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน และปัญหาที่เริ่มจากธนาคารในสหรัฐฯ/theguardian
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



