ตลาดสื่อโฆษณาไทย Traditional Media  ปี 2565 แบรนด์หวนกลับมาใช้ ทีวียังเติบโต แต่แค่  1%  ทุกสื่อโตรวม 7.3 หมื่นล้านบาท สื่อโรงภาพยนตร์พุ่งสุดต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสื่อกลางแจ้ง-นอกบ้าน รับผู้บริโภคมูฟออนโควิด ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเต็มสูบ    

ดร. ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคม มีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เผยในงาน 2023 Media Industry Update เพื่อนำเสนอ ทิศทางการเติบโต และความเคลื่อนไหวในแวดวงสื่อโฆษณาไทย ปี 2566

Traditional Media

ยังไปต่อ 

แต่ออนไลน์กำลังจะกินครึ่งตลาด

ประเภทสื่อ มูลค่าการใช้เงินโฆษณา 2022/ล้านบาท % เติบโต ปี 2022 YoY คาดการณ์ มูลค่าการใช้เงินโฆษณา 2023/ล้านบาท % คาดการณ์เติบโต ปี 2023 YoY
Television 46,391 1% 49,638 7%
Out Home Media 8,118 36% 10,148 25%
Transit 5,798 32% 6,378 10%
Radio 3,479 2% 3,340 -3%
Newspapers 3,479 -4% 2,609 -25%
Cinema 1,159 61% 1,449 25%
Magazines 1,159 3% 753 -35%
Online Media 46,391 7% 51,958 12%
มูลค่ารวม 115,973 เฉลี่ยเติบโต 6% 126,273 เฉลี่ยเติบโต 7%
* นับเฉพาะสื่อโฆษณาไทยที่ไม่ใช่ Online Media คาดว่ามีเม็ดเงินโฆษณาสะพัด ปี 2566 อยู่ที่ 73,566 ล้านบาท
* มูลค่าเม็ดเงินโฆษณา อิงตามความเป็นจริงของกลไกตลาดสื่อโฆษณาไทยมากที่สุด และ % เติบโต ปี 2566 คาดการณ์จากความเป็นไปได้ที่ดีที่สุด
ที่มา: Nielsen และ MAAT / เผยแพร่ มีนาคม 2566

 

ปี 2565 มีเม็ดเงินสะพัดในตลาดสื่อโฆษณาไทย 115,979 ล้านบาท โต 6% YoY แบ่งเป็นส่วนของสื่อโฆษณาออนไลน์ 40%

และ สื่อโฆษณาที่ไม่ใช่ออนไลน์ 2 เซกเมนต์ใหญ่ ๆ ได่แก่ ทีวี 40% และ ไม่ใช่ทีวีประมาณ 20%

โดยต้องยอมรับว่า ความเฟื่องฟูของสื่อโฆษณาออนไลน์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติดั้งเดิมของตลาดสื่อโฆษณาไทย เมื่อมีความต้องการใช้เงิน จากแบรนด์ต่าง ๆ กลับเข้ามาในระบบอีกครั้งในปีที่ผ่านมา

MAAT เรียงลำดับทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสื่อโฆษณาของแบรนด์ จากมากสุดไปน้อยสุด วัดตามมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อโฆษณา ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภค 1,000 คนขึ้นไป/ครั้ง มีดังนี้

 

1. สื่อทีวี (Television)

2. สื่อออนไลน์ (Online Media)

3. สื่อกลางแจ้ง-นอกบ้าน อาทิ ไวนิล, โปสเตอร์, แบนเนอร์ ที่ติดอยู่ตามอาคาร, ร้านค้า และสิ่งปลูกสร้าง ทั้งสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ (Out Home Media)

4. สื่อโฆษณาที่พบเห็นได้ขณะใช้งานระบบขนส่งสาธารณะและเส้นทางคมนาคม (Transit)

5. สื่อโรงภาพยนตร์ (Cinema)

6. สื่อสถานีวิทยุ (Radio)

7. สื่อหนังสือพิมพ์ (Newspapers)

8. สื่อแมกกาซีน (Magazines)

 

เริ่มจาก 1. Television ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วและมากที่สุด ตามมาตรฐานความคาดหวังจากแบรนด์ข้างต้น ทั้งยังเป็นสื่อที่แบรนด์มองว่าสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ได้ดีที่สุด และเป็นตัวเลือกแรกในการปล่อยโฆษณาสร้างการรับรู้แคมเปญใหญ่ ๆ ของแบรนด์อยู่เสมอจนถึงปี 2566

ส่วน 2. Online Media นับเป็นสื่อที่เข้ามาปฏิวัติตลาดสื่อโฆษณาไทยอย่างแท้จริง โดยคาดการณ์มูลค่าตลาดของ Online Media ปี 2566 พบว่าสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แบบเดี่ยว ๆ โดยเบียดสื่อ Television ตกไปอยู่อันดับ 2 ได้เรียบร้อย

3. Out Home Media สื่อที่กลับมามีเม็ดเงินโฆษณาสะพัด โตที่สุดอันดับ 2 ในปี 2565 โดยได้แรงบวกสำคัญจากการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันอย่างเต็มรูปแบบหลังโควิด

ซึ่งทำให้พื้นที่สันทนาการเชิงพาณิชย์และสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พับบลิค สเปซ, ศูนย์การค้า, ฟิตเนส, ร้านเสริมสวย, Co-Working Space ฯลฯ กลับมาดำเนินงานได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง

4. Transit การเริ่มกลับมาทำงานในออฟฟิศ และสนามบินที่ฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ทำให้ Transit เป็นอีกสื่อที่ได้รับความสนใจในการซื้อโฆษณาจากแบรนด์ต่าง ๆ อีกครั้ง

5. Cinema สื่อที่มีอัตราเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาพุ่งขึ้นสูงสุด ปี 2565 และยังจะโตมากที่สุดต่อไปในปี 2566 เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการต่อคิวรอเข้าฉายของหนัง Box Office มากมายตลอดปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงปีนี้

ส่วน 6. Radio, 7. Newspapers และ 8. Magazines เป็น 3 สื่อที่จะมีอัตราเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาตลอดปี 2566 ติดลบทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามอายุขัยของสื่อกลุ่มนี้ที่ถูกดิสรัปชันจากการเข้ามาของ Online Media

อย่างไรก็ตาม สื่อสิ่งพิมพ์ อย่าง Newspapers และ Magazines พบว่าจะยังได้รับการต่อลมหายใจให้มีเม็ดเงินโฆษณาอยู่ในระดับ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามลำดับ

จากการเลือกซื้อโฆษณาของแบรนด์หรู ที่ยังชอบใช้เงินกับสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะให้ความรู้สึกที่จับต้องได้ เข้าถึงง่าย เมื่อผู้บริโภคเห็นสินค้า หรือแคมเปญของแบรนด์หรูที่พิมพ์โปรโมตอยู่บนสื่อเหล่านี้

โดยเฉพาะ Magazine ประเภท Fashion ที่นำเสนอคอนเทนต์เป็นภาษาไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้สื่อที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอย่างถูกลิขสิทธิ์ตามสัญญาจากสื่อบริษัทแม่ในต่างประเทศ



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน