Gen X และ Gen Y ที่เคยเป็นคนส่วนมากของเมื่อ 30 และ 10 ปีก่อน เลื่อนลงไปกลายเป็นคนรุ่นเก่าและรุ่นกลาง สวนทางกับคนวัย 18-24 ปี หรือ Gen Z ที่ขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ ผู้ขับเคลื่อนโลกในปัจจุบัน
นัยสำคัญดังกล่าวทำให้ Gen Z ได้รับความสนใจ นำมาสู่การศึกษา ค้นคว้าและสำรวจข้อมูลในหลายประเด็นเพื่อทำความเข้าใจคนรุ่นนี้ให้มากสุด
เช่น เทรนด์การทำงานหลักควบคู่ไปกับงานเสริมอย่างเปิดเผยของ Gen Z ตรงข้ามกับในอดีตที่เป็นเรื่องต้องปกปิด เพราะหากหัวหน้าหรือเจ้าของบริษัทรู้เข้า อาจถูกมองว่าไม่ทุ่มเทกับงานหลักเต็มที่จนเป็นเหตุให้ตกงาน
เทรนด์นี้ยืนยันได้จากผลสำรวจของ Kantar บริษัทที่ปรึกษาและเก็บข้อมูลทางการตลาดชื่อดังระดับโลก ผ่านกลุ่มตัวอย่าง Gen Z จำนวน 10,000 คนทั่วโลก เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า 40% ทำสองงานเป็นอย่างน้อย
ขณะที่บรรดานักวิชาการทางธุรกิจและที่ปรึกษาเรื่องอาชีพการงานก็เห็นตรงกันว่า ในอนาคตการทำงานเสริม (Side hustle) ควบคู่กันไปด้วย จะไม่ใช่แค่เรื่องปกติ แต่อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่บริษัทต่าง ๆ ใช้เป็นเกณฑ์รับพนักงานเลยด้วยซ้ำ
บทเรียนจากโควิดและวิกฤตล่าสุด: ปัจจัยแรกที่ทำให้ Gen Z ทำสองหรือหลายงานไปพร้อมกับงานหลักคือ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่หางานทำยาก
ซ้ำร้ายเมื่อได้งานแล้วเงินเดือนก็ลดลงจากช่วงสถานการณ์โควิด เพราะทุกบริษัทต่างต้องประคองตัวเพื่อฝ่าวิกฤตใหญ่ไปให้ได้นั่นเอง
ดังนั้น จึงประมาทไม่ได้ ต้องหารายได้จากหลาย ๆ ทาง หลาย ๆ งาน และพอวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปก็ยังมาเจอวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โลกอีก ทำให้เทรนด์ Side hustle ยังมีอยู่ต่อไป
โลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม: ปัจจัยถัดมาที่ทำให้ Gen Z ทำหลายงานพร้อมกันมากขึ้นคือ โลกการทำงานในปัจจุบันที่ยังเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid workspace) เข้าบริษัทกับสลับทำงานอยู่บ้านหรือจากระยะไกล ดังนั้นจึงมีโอกาสทำงานรองได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทก็รับได้มากขึ้นกับที่พนักงานมีงานเสริม เพราะเข้าใจว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมมองว่าพนักงานที่ทำงานเสริมแต่ละคนเป็นคนไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า
ด้านบริษัทหัวก้าวหน้าบางแห่งก็พร้อมพิจารณามอบงานและเพิ่มเงินเดือน หากทักษะใหม่จากงานรองของพนักงานคนนั้นตรงตามที่ต้องการอยู่พอดี
ได้ทำตามฝันและไม่ประมาท AI: ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ Gen Z ทำงานเสริมกันมากขึ้นคือ คนรุ่นนี้ยังเพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน (First jobber) จึงยังมีพลังล้นเหลือ
ต่างจาก Gen X และ Gen Y ที่ทำงานมาแล้วหลายปีจนใกล้หมดไฟ ส่วนใหญ่จึงเน้นทำงานหลักให้ดี หรือถ้ามีงานรองก็ไม่เหมือน Gen Z
การทำงานรองไปพร้อมงานหลักของ Gen Z ยังมาจากการไม่ประมาท เพราะตลาดงานในปัจจุบันกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจทำให้บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ ต้องปลดพนักงานจำนวนมากจนเป็นข่าวดังที่สร้างความกังวล
และ Gen Z ก็ตระหนักดีว่า กำลังถูก AI และระบบอัตโนมัติแย่งงาน จนหลายงานที่เคยมีจากรุ่น Gen X กับ Gen Y อาจไม่มีอีกในอนาคต
ดังนั้น การมีทักษะหลากหลายจึงเป็นเครื่องรับประกันว่า จะยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไปอีกนานนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Gen Z ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการบริหารเวลาและเผื่อเวลาสำหรับการพักผ่อนไว้บ้าง
เพราะหาก Work-Life Balance เสียไป จะส่งผลเสียต่อทั้งงานหลักและงานรองจนชีวิตพังได้/bbc
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



