แม้ว่าในปี 2021 ตลาดเดลิเวอรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมียอดใช้จ่ายในการจัดส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น 30% มูลค่ารวมของการจัดส่งอาหารออนไลน์ (GMV) สูงถึง 15.5 พันล้านดอลลาร์
โดย Grab มีส่วนสนับสนุนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่า GMV ในการจัดส่งอาหารของภูมิภาคที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วย Foodpanda ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ และ Gojek ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์
ซึ่งตลาดเดลิเวอรีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อยู่ที่อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ โดยสามารถแบ่งส่วนแบ่งการตลาดได้ดังนี้
อินโดนีเซีย: Grab Food (49%), Go Food (43%), Shopee Food (8%)
ไทย: Grab Food (47%), Foodpanda (22%), Lineman (22%)
สิงคโปร์: Grab Food (54%), Foodpanda (34%), เดลิเวอรีอื่น ๆ (12%)
แต่ในปี 2023 ตลาดเดลิเวอรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชะลอตัวเหลือ 5% หลังจากเติบโตเพิ่มขึ้น 5%เป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เนื่องจากตลาดที่ใหญ่ที่สุดสามแห่ง อินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์ ทั้งหมดหดตัวลง ด้วยปัจจัยอย่างผู้คนกลับมานิยมรับประทานอาหารที่ร้านอีกครั้ง
และแม้ว่า Grab จะเป็นแอปเดลิเวอรียักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ที่ดำเนินธุรกิจใน 8 ประเทศ สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 54% หรือ 8.8 พันล้านดอลลาร์ของมูลค่า GMV สำหรับการจัดส่งอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% จากปี 2021 ในขณะที่ Foodpanda ที่ดำเนินกิจการทั่วเอเชียสร้างรายได้ 19% หรือ 3.1 พันล้านดอลลาร์ของมูลค่า GMV สำหรับการจัดส่งอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีเดียวกัน
ด้วยแนวโน้มเหล่านี้ แอปเดลิเวอรีอย่าง Grab และ Foodpanda เลยขยายบริการไปสู่บริการแบบนั่งรับประทานในร้านอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคกลับมาทำกิจวัตรประจำวันหลังจากสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย และออกไปรับประทานอาหารที่ร้านบ่อยขึ้น
และบริการใหม่ของ Grab และ Foodpanda นี้เองที่ทำให้บริษัทวาณิชธนกิจ Benchmark Company เผยในรายงานเดือนเมษายนว่า การเติบโตของการจัดส่งอาหารในระดับปกติจะดำเนินต่อไปด้วย CAGR ที่ 13% จนถึงปี 2025
โดย Grab กำลังทดสอบฟีเจอร์ใหม่นี้ใน 15 เมืองในสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย โดยให้ผู้ใช้สามารถซื้อบัตรกำนัลรับประทานอาหารที่ร้านล่วงหน้าพร้อมส่วนลดสูงสุดถึง 50% นอกจากนี้ ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันยังสามารถดูเมนูและรีวิวของร้านอาหาร พร้อมสั่งซื้อและชำระเงินผ่านระบบ QR-based รวมถึงจองรถไปร้านอาหารได้อย่างง่ายดาย
ในขณะที่ Foodpanda เป็นบริษัทเดลิเวอรีแห่งแรกในสิงคโปร์ที่เปิดตัวฟีเจอร์การรับประทานอาหารภายในร้านในปี 2021 ซึ่งในปัจจุบัน Foodpanda มีบริการนี้ในสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง ปากีสถาน และบังกลาเทศ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2022 ร้านอาหารกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศเหล่านี้เริ่มเสนอส่วนลดการรับประทานอาหารที่ร้านตั้งแต่ 15% ถึง 25%
แน่นอนว่า เนื่องจากต้นทุนการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผู้บริโภคจึงมองหาข้อเสนอเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกที่ที่ทำได้ บริการใหม่นี้ของ Grab และ Foodpanda จึงตอบโจทย์นั่นเอง
บริการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของ Grab และ Foodpanda
ล่าสุด Foodpanda ได้ร่วมมือกับ TabSquare ผู้ให้บริการโซลูชั่นร้านอาหารในสิงคโปร์ เพื่อทำให้กระบวนการสั่งอาหารผ่านเมนูดิจิทัล การสั่งอาหารผ่าน QR และอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เลยอย่างอัตโนมัติ ต่อมา TabSquare จึงได้ถูกซื้อกิจการโดย Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ในปี 2021
ในขณะที่ Tay Chuen Jein หัวหน้าฝ่ายจัดส่งของ Grab ในสิงคโปร์ ได้กล่าวในขณะที่บริษัทเปิดตัวบริการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือ Dine-in ของ GrabFood ว่าบริการนี้เป็นบริการที่ทำให้ผู้คนรับประทานอาหารนอกบ้านในราคาที่ไม่แพง และได้ส่วนลดค่าอาหารจากการร่วมมือกับเครือร้านอาหารต่าง ๆ ภายในแอป
โดยบริการนี้ทำให้ Grab สามารถสร้างรายได้ทางอ้อมเพิ่มขึ้นจากบริการรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมคอมมิชชั่นสำหรับการซื้อบัตรกำนัลรับประทานอาหารในแต่ละครั้ง
และแน่นอนว่าบริการนี้ไม่เพียงแต่แอปเดลิเวอรีอย่าง Grab และ Foodpanda ได้นำมาปรับใช้เท่านั้น แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เช่น Alibaba และ ByteDance ก็มีบริการเช่นนี้เหมือนกัน เพื่อเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคและครอบคลุมทุกความต้องการของพวกเขาได้นั่นเอง
จึงเห็นได้ชัดว่า บริการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือ Dine-in เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่หลายแบรนด์ต่างก็นำมาเรียกปรับใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปเติบโตในปัจจุบัน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ เพิ่มผลกำไรให้บริษัทอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
ที่มา:
https://foodondemand.com/01192023/southeast-asia-food-delivery-market-slows-to-5-percent/
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ